อาการท้องอืด ท้องเฟ้อในทารก ถือเป็นอาการปกติที่คุณพ่อคุณแม่จะพบได้ เนื่องจากระบบการย่อยอาหารของทารกยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ จึงทำให้เกิดแก๊สในกระบวนการย่อยได้ และด้วยความที่เกิดขึ้นกับทารก เขายังไม่สามารถสื่อสารเป็นคำพูดให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจได้ ทำได้เพียงแค่ร้องไห้โยเย ทารกเวลาที่ไม่สบายตัวก็มักจะร้องไห้โยเยได้อย่างเดียว คุณพ่อคุณแม่มือใหม่จะแยกอาการได้อย่างไร วันนี้เราจะมาจับเข่าพูดคุยถึงเรื่องนี้กัน ที่สำคัญ เรามีวิธีแก้ไขมาฝากคุณพ่อคุณแม่อีกด้วยค่ะ
สาเหตุทารกท้องอืด
ทารกท้องอืด สามาถรถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
ระบบการย่อยของทารก
ระบบการย่อยของทารกโดยเฉพาะใน 3 เดือนแรก ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ แต่เมื่อโตขึ้นระบบการย่อยจะทำงานได้ดีขึ้น หรือหากลูกน้อยของคุณแม่ได้รับอาหารเสริมนอกเหนือจากนม ในช่วงแรกระบบการย่อยอาหารยังไม่คุ้นชินกับอาหารชนิดใหม่อาจจะต้องรอการปรับตัวสักระยะหนึ่งค่ะ
แพ้นมวัว
เด็กแต่ละคนจะมีพัฒนาการของระบบทางเดินอาหารไม่เท่ากัน นม มีส่วนประกอบสำคัญคือ โปรตีน และน้ำตาลแลคโตส เมื่อเอนไซม์ในลำไส้เล็ก อย่างเอนไซม์แลคเตสที่มีหน้าที่ย่อยแลคโตสทำงานได้เพียง 70% และเอนไซม์เอนเทอโรไคเนสทำหน้าที่ย่อยโปรตีนทำงานได้เพียง 25% ทำให้น้ำตาลแลคโตส และโปรตีนบางส่วนย่อยได้ไม่หมดและถูกส่งผ่านไปสู่ลำไส้ใหญ่ โดยมีแบคทีเรียจำนวนมากอาศัยอยู่ ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้ก็จะทำการย่อยน้ำตาลแลคโตส และโปรตีนที่ตกค้างอยู่ จนทำให้เกิดแก๊สในทางเดินอาหาร
วิธีการดื่มนม
ระหว่างการดูดนมอาจทำให้ทารกกลืนเอาอากาศเข้าไปเก็บไว้ในกระเพราะจำนวนมาก โดยเฉพาะการดูดนมจากขวด แต่สำหรับการดูดนมจากเต้ามารดามีแนวโน้มจะพบปัญหาได้น้อยกว่าหากเข้าเต้าอย่างถูกวิธี จะทำให้ทารกสามารถควบคุมการดูด กลืน และหายใจได้ดีกว่าค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ >>วิธีให้ลูกดูดเต้า เข้าเต้าอย่างถูกวิธี ฉบับแม่มือใหม่เทิร์นโปร
การร้องไห้
ปกติแล้วทารกแรกเกิดมักจะนอนเยอะไม่ค่อยร้องกวน จนกระทั่งผ่านไปประมาณ 2 สัปดาห์ทารกอาจร้องไห้มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในขณะที่ร้องไห้ทารกก็จะหุบเอาอากาศเข้าไปในร่างกายได้
แพ้อาหาร
ทารกอาจมีอาการแพ้อาหารผ่านทางนมแม่ เพราะสารอาหารจากอาหารที่คุณแม่ทานเข้าไปจะส่งผ่านทางน้ำนมด้วย เช่น อาหารรสจัด ถั่ว ผลิตภัณฑ์จากนม หัวหอม และกระเทียม อาหารเหล่านี้อาจส่งผลให้ลูกมีแก๊สในกระเพราะ รู้สึกอึดอัดท้อง ผนวกกับเมื่อลูกอายุ 6 เดือน สามารถทารอาหารเสิรมได้ แต่เนื่องจากกระเพราะอาหารต้องอาศัยการปรับตัวกับอาหารใหม่ ซึ่งยังทำได้ไม่ดีนัก และอาจมีการแพ้อาหารบางชนิด คุณแม่จึงควรสังเกต และจดบันทึกการทานอาหารในแต่ละวัน เพราะหากลูกมีอาการท้องอืดหรือแพ้ คุณแม่จะได้มีข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์และปรับอาหารให้ลูกได้ค่ะ
วิธีสังเกตทารกท้องอืด
เนื่องจากทารกไม่สามารถสื่อสารเป็นคำพูดให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจได้ แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลูกน้อยได้ในกรณีที่ลูกท้องอืด ดังต่อไปนี้
- ร้องไห้โยเย ร้องกวน
- กำมือแน่น หน้าแดง บิดตัว
- ท้องป่อง ท้องแข็ง
- นอนหลับยาก นอนหลับไม่สนิท ตื่นเร็ว
- หงุดหงิด และมักดึงขาขึ้นไปที่หน้าอกเวลาร้อง
วิธีป้องกันทารกท้องอืด
จัดท่าให้นมที่ถูกต้อง
ให้นมจากขวด
ขณะชงนมอาจเกิดฟองอากาศจากการเขย่าขวดนม คุณแม่ควรทิ้งไว้สักพักให้ฟองอากาศหายไป ในการป้อนควรอุ้มลูกให้ศรีษะอยู่สูงกว่าท้อง ยกขวดทำมุม 30 – 40 องศา เพื่อให้ฟองอากาศลอยไปอยู่ด้านบนท้ายขวด และคอยสังเกตว่านมเต็มที่จุกนมหรือไม่
ดูดจากเต้า
อุ้มให้ศรีษะอยู่สูงกว่าลำตัวเช่นกัน ไม่ควรให้ลูกนอนราบ และงับเต้าให้หมดลานนม หากคุณแม่ให้นมในท่านอนก็ควรมีผ้าหนุนศรีษะลูก
จับลูกเรอ
ควรจับลูกเรอ ทั้งระหว่างการให้นมและหลังให้นม โดยระหว่างการให้นมหากลูกหันหน้าหนีไม่ยอมดูดนมหลังจากให้นมไม่กี่นาที อาจเป็นสัญญาณว่าลูกมีแก๊สในกระเพราะเยอะก็เป็นได้ค่ะ คุณแม่สามารถจับลูกให้เรอก่อน หลังจากที่ลูกเรอแล้วค่อยให้ลูกกินนมต่อ
ตรวจเช็คจุกนมเสมอ
หากคุณแม่ให้นมจากขวด ต้องคอยสังเกตรูของจุกนม ต้องระวังไม่ให้รูเล็กหรือใหญ่เกินไป หากเล็กเกินไปลูกต้องใช้แรงในการดูดมาก จึงทำให้งับอากาศเข้าไปเยอะ และหากจุกมีรูขนาดใหญ่เกินไป นมที่ไหลออกมาเยอะและเร็ว ทำให้ลูกต้องกลืนเร็วขึ้น อากาศก็เข้าไปเยอะขึ้น หรืออาจสำลักนมได้ค่ะ
สังเกตอาหารที่ทำให้ลูกมีอาการท้องอืด
คุณแม่จะต้องสังเกต หรือจดอาหารที่ทานในแต่ละมื้อของแต่ละวัน ซึ่งสารอาหารที่ส่งผ่านทางน้ำนม อาจเป็นเหตุให้ลูกท้องอืดได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ >> 6 วิธีอุ้มลูกเข้าเต้า และท่าอุ้มเรอ แม่ควรรู้
วิธีแก้ท้องอืดทารก
วิธีแก้ท้องอืดทารก เพื่อระบายแก๊สที่สะสมอยู่ในกระเพราะอาหาร สามารถทำได้ดังนี้ค่ะ
- วางลูกในท่านอนหงายแล้วนวดบริเวณหน้าท้องอย่างเบามือ เริ่มจากด้านขวาไปด้านซ้าย
- วางลูกในท่านอนหงาย จากนั้นจับขา หรือหัวเข่า 2 ข้างของลูกขยับขึ้นลงสลับกันคล้ายปั่นจักรยาน
- อุ้มลูกขึ้นไหล่ โดยให้คางพักอยู่บริเวณไหล่ของคุณแม่ แล้วใช้มือตบหลังลูกเบา ๆ
- อุ้มลูกนั่งซ้อนบนตัก โน้มตัวลูกไปด้านหน้าเล็กน้อยโดยใช้มือโอบบริเวณคางเพื่อประคองตัวไว้ จากนั้นใช้มือตบหลังเบา ๆ
- วางลูกในท่านอนคว่ำบนตัก ให้ศรีษะอยู่สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย แล้วใช้มือตบหลังเบาๆ
ทารกท้องอืดแบบไหนที่ควรพบแพทย์
โดยปกติหากเกิดอาการท้องอืดทุเลาลง เมื่อลูกได้ผายลมหรือจับเรอ ลูกจะรู้สึกสบายตัว และหยุดร้องไห้ แต่หากยังร้องไห้ไม่หยุด แสดงว่าอาจสัญญาณผิดปกติเกิดขึ้น เช่น กรดไหลย้อน ท้องผูก หรือโคลิค เป็นต้น หากลูกมีอาการอื่น ๆ ต่อไปนี้ควบคู่ไปกับการท้องอืดด้วย คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ เพราะอาจมีปัญหารุนแรงเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารได้ โดยสังเกตอาการดังนี้ค่ะ
- แหวะนมมาก อาเจียนพุ่ง
- ร้องไห้ตัวงอ คลำที่ท้องมีก้อนแข็ง ๆ
- ถ่ายไม่ออก ไม่ถ่ายอุจจาระหลายวัน
- อุจจาระมีเลือดปน
- ท้องเสีย อาเจียน
- ร้องไห้งอแงไม่หยุดเป็นเวลานานกว่า 2 ชั่วโมง
- มีไข้สูง โดยเฉพาะเด็กทารกอายุต่ำกว่า 3 เดือนที่มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
การไล่ลม หรือเรอ เป็นสิ่งสำคัญมาก คุณแม่ไม่ควรลืมนะคะ ลูกจะได้สบายตัว และป้องกันการเป็นกรดไหลย้อนในทารกได้ด้วยค่ะ หากให้นมจากเต้าระหว่างที่เปลี่ยนข้างก็จับลูกเรอ สัก 3-5 นาที หรือหากให้นมจากขวด ก็ควรจับเรอทุก 1 ออนซ์ สัก 3-5 นาที หลังจากมื้อนมก็จับเรออีกครั้งจนกว่าลูกจะเรอ อาจนานถึง 30-60 นาที ตรงนี้อาจจะให้คุณพ่อช่วยอุ้ม คุณแม่จะได้ไม่เหนื่อยเกินไปค่ะ
อ้างอิง pobpad.com, whattoexpect.com, meadjohnsonni.com