8 เทคนิคการฝึกสมองส่วนหน้า ปูพื้นฐานสู่ EF
ถ้าเป็นเมื่อก่อน เราจะคุ้นเคยกับการพัฒนาลูกให้มี IQ และ EQ แต่ในปัจจุบันพ่อแม่ส่วนใหญ่จะได้ยินการพูดถึง EF หรือการพัฒนาสมองของลูกให้มี Executive Functions กันอย่างแพร่หลาย โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาสมองส่วนหน้าของลูกเป็นสำคัญ แล้วเจ้าสมองส่วนหน้านี้มีความสำคัญอย่างไรกันนะ จะพัฒนาอย่างไร ช่วงไหนดี วันนี้เรามีเทคนิคดี ๆในการช่วยฝึกสมองส่วนหน้ามาฝากกันค่ะ
สมองส่วนหน้า คืออะไร?
สมองส่วนพูหน้า (Frontal lobe) หรือ สมองส่วนหน้า (Forebrain) คือ สมองที่อยู่ตรงตำแหน่งหลังหน้าผากพอดี เป็นสมองที่ต่อออกมาจากสมองส่วนที่สาม (Neocortex) ที่ควบคุมการรับรู้ การเรียนรู้ ทักษะความชำนาญ ความคิด และความเฉลียวฉลาด เป็นส่วนที่ใหญ่และสลับซับซ้อนที่สุดในจำนวนสมอง 4 ส่วนที่มีอยู่ในเซรีบรัม ดังนั้น สมองส่วนหน้าจึงเปรียบเสมือนนายใหญ่ของสมองทั้งหมด และเป็นสมองส่วนสำคัญที่สุด
ความสำคัญ และหน้าที่ของสมองส่วนหน้า
เป็นนายใหญ่ของสมองทั้งหมด
เป็นสมองส่วนที่ใหญ่ที่สุด และซับซ้อนที่สุด จึงถือเป็นนายใหญ่ของสมองทั้งหมด สมองส่วนหน้าจะทำงานเมื่อเราตื่น และนอนหลับไปกับเราเมื่อเราหลับ จึงทำให้เรารู้ตัวว่าเราเป็นคนนี้ สามารถควบคุมความคิด การวางแผน และการตัดสินใจของเราแทบทั้งหมด
ควบคุมพฤติกรรม
สมองส่วนหน้า เริ่มพัฒนาตั้งแต่ช่วงอายุ 1 – 2 ขวบ ทำให้เด็กเล็กรับรู้ และเข้าใจว่าตัวเองกำลังอยู่ที่ไหน เวลาไหน ทำอะไรอยู่ ทำให้เขาควบคุมพฤติกรรมได้
เรียนรู้เรื่องที่ซับซ้อนได้มากขึ้น
เมื่อโตขึ้นไป 3 – 4ขวบ สมองส่วนหน้าจะพัฒนาขึ้นไปอีก ทำให้เด็กเล็กสามารถรู้ว่าต้องปฏิบัติกับใครอย่างไร เริ่มวางแผนได้ว่าตัวเองอยากทำอะไร เมื่อไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร อะไรพอใจเป็นความสุข อะไรเป็นความไม่พอใจ อะไรเป็นทุกข์ และเป็นสมองส่วนที่ทำให้รู้จักผิดชอบชั่วดี มีพัฒนาการทางจริยธรรม และพัฒนาเป็นความคิดชั้นสูงไปเรื่อย ๆ ตามวัยที่เปลี่ยนไป
ไม่สามารถประมวลผลได้
ถ้าเราไม่มีสมองส่วนหน้า จะทำให้เราไม่สามารถหลอมรวมความคิด หรือประมวลผลจากสมองส่วนต่าง ๆ ให้เป็นหนึ่งเดียวได้
แทบกล่าวได้ว่า สมองส่วนหน้าเป็นตัวกำหนดความเป็นอัจฉริยะ เพียงแต่ตอนเด็กเล็ก ต้องได้รับปัจจัยส่งเสริมที่ดีอย่างเหมาะสม ได้แก่ ได้อาหารครบตามโภชนาการ มีการกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสม และเมื่อโตขึ้นได้รับโอกาสในการเรียนรู้อย่างอิสระ จะทำให้สมองสามารถหาทางเดินได้เอง อย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เป็นอัจฉริยะก็เพราะสมองส่วนหน้าของเขามีคุณสมบัติหนึ่งของอัจฉริยะคือ มีสมาธิดีมาก เมื่อทำสิ่งใดเขาจึงจดจ่อได้นานๆ ซึ่งต่างจากคนธรรมดาที่มักวอกแวก ปล่อยสิ่งที่ทำตรงหน้าได้ง่าย นั่นเองค่ะ
8 เทคนิคการฝึกสมองส่วนหน้า
เมื่อทราบแล้วว่าสมองส่วนหน้านั้นสำคัญอย่างมาก ราวกับเป็นเจ้าชีวิตของมนุษย์ก็ว่าได้ แล้วทำไมเราจะไม่มุ่งพัฒนาสมองส่วนนี้ให้ลูกกันล่ะ จริงไหมคะ? เทคนิคที่จะช่วยฝึกสมองส่วนหน้า คือ
อ่านนิทาน
หลายบ้านให้ความสำคัญเรื่องการอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังก่อนนอน ความเป็นจริงแล้ว การเล่านิทานให้ลูกฟังมีหลายรูปแบบและมีเทคนิคที่อยากแนะนำ รูปแบบนิทาน เช่น นิทานหุ่นนิ้วมือ นิทานเงา นิทานตั้งโต๊ะ หรือนิทานผ่านการปั้นดินน้ำมัน เป็นต้น นิทานสำคัญมากต่อการพัฒนาการสื่อสาร อารมณ์ สมอง และความคิดจินตนาการของลูก หลักสำคัญในการเล่านิทานสำหรับเด็กเล็ก คือ
น้ำเสียง
นำเสียงที่เล่านิทานที่เป็นจังหวะเรียบตามลมหายใจของผู้เล่า เพื่อเว้นช่องว่างให้ลูกได้ใส่จินตนาการของตัวละครด้วยจินตนาการของลูกเองโดยไม่ถูกอิทธิพลจากจินตนาการของพ่อแม่ครอบงำ หากเป็นนิทานที่มีหุ่นประกอบการเคลื่อนไหวก็ควรเคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ เพื่อรักษาจังหวะลมหายใจของลูกให้เพ้อฝันล่องลอยเพื่อส่งเสริมจินตนาการของลูก
เนื้อเรื่องที่สมดุล
ควรเลือกนิทานที่เนื้อเรื่องมีความสมดุล หมายถึงเมื่อเริ่มเรื่องตัวละครมีความลำบาก ตอนจบก็ต้องมั่งมี มั่งคั่ง หรือเริ่มเรื่องจากดุร้าย ตอนจบก็คลี่คลายใจดี หรือได้รับผล เป็นต้น เมื่อพ่อแม่เลือกนิทานเช่นนี้แล้ว ไม่จำเป็นต้องขมวดบทสรุปตอนจบเพื่อสอนลูกว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…” เพราะเนื้อเรื่องของนิทานจะเข้าไปทำงานกับความจำใช้งาน และความคิดแบบทวนภาพซ้ำไปซ้ำมา ดังนั้น พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องอ่านนิทานหลายเรื่องก่อนเข้านอน อาจจะอ่านเรื่องเดิมซ้ำบ่อยๆ เพื่อให้ภาพเหล่านั้นได้ทำงานกับสมองของลูกอย่างเต็มที่
ความสม่ำเสมอ
กำหนดเวลานิทานอย่างชัดเจนสม่ำเสมอทุกวัน เช่น ก่อนนอนกลางวัน ก่อนนอนกลางคืน เป็นต้น แต่หากลูกขอให้เล่านิทานระหว่างวันก็ย่อมทำได้ ซึ่งเวลาหลักคือเวลาที่นิทานจะมาตรงเวลาทุกวัน
ระบายสี
วาดรูประบายสีสำหรับเด็กเล็ก พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ใช้พื้นที่ว่างบนกระดาษอย่างอิสระ คือ free drawing ไม่กำหนดหัวข้อการวาดรูประบายสี และให้ลูกใช้ Flow color สีที่มีการเคลื่อนไหว อย่างสีน้ำ เพราะการระบายสีในลักษณะนี้นอกจากส่งเสริมจินตนาการ ยังสะท้อนการสื่อสารประสบการณ์ของลูกออกมาอย่างเป็นธรรมชาติผ่านสีลงบนกระดาษแบบไม่มีข้อจำกัด หากลูกพอใจภาพวาดตรงหน้า ลูกก็จะเล่าเรื่องราวให้พ่อแม่ฟังด้วยตัวเขาเอง ที่สำคัญยังเป็นการฝึกกล้ามเนื้อมือมัดเล็กอีกด้วยค่ะ
งานบ้าน
พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำงานเคียงข้างพ่อแม่เมื่ออยู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นงานบ้าน งานครัว หรืองานสวน เพราะเด็กเล็กจะชอบเลียนแบบพ่อแม่ โดยสมมติว่าตัวเองคือตัวพ่อแม่ที่กำลังทำงานนั้นๆอยู่ การเลียนแบบลักษณะนี้มีความหมายอย่างมาก เพราะจะเลียนแบบให้เหมือนได้นั้น ต้องเกิดจากการสังเกต จดจำ และเมื่อลูกได้ลงมือทำก็จะเกิดการเรียนรู้โดยอัตโนมัติ และยังเป็นการช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางอารมณ์ซึ่งเด็กเล็กมีศูนย์กลางที่ความสัมพันธ์กับพ่อแม่
เล่นอิสระ
ควรมีเวลาให้ลูกได้เล่นอิสระอย่างน้อยวันละ 30 นาทีเป็นอย่างน้อย ให้ลูกเป็นคนคิดเองว่าอยากเล่นอะไร โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องชวน หรือนำเสนอ หรืออาจปล่อยให้ลูกรู้สึกเบื่อบ้าง เพราะโดยธรรมชาติของเด็กแล้วมักจะมองหาสิ่งที่อยากเล่นจากสิ่งรอบตัวได้เอง เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ลูกได้พัฒนาความคิด วางแผน และดึงความจดจำต่างๆของลูกออกมาใช้ ซึ่งส่วนมากได้จากการสำรวจโลกรอบตัว
เล่นบทบาทสมมติ
พ่อแม่สามารถจัดพื้นที่ในบ้านให้มีมุมสำหรับเล่นบทบาทสมมติ โดยนำสิ่งเหล่านี้ไปวางในตระกร้าบนชั้นวางของ เช่น หม้อกระทะใบเก่า ตุ๊กตาน้องน้อย เสื้อกันเปื้อน ผ้าผืน หมวก ผ้าคลุมเจ้าชาย มงกุฎพระราชา เป็นต้น เพื่อที่เมื่อลูกเดินผ่านสิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นจินตนาการและความคิดของลูกให้โล่ดแล่น ว่าวันนี้จะวางแผนแต่งตัวเป็นตัวละครอะไร ในเรื่องไหน และสวมบทบาทสมมติอย่างเพลิดเพลินลื่นไหล
เล่นกับเพื่อน
การเล่นกับเพื่อน สำหรับเด็กที่ต่ำกว่า 3 ขวบ ยังเป็นการเล่นในบับเบิ้ลของตัวเอง เล่นแบบไม่สนใจผู้อื่น แต่สำหรับเด็กเล็กอายุมากกว่า 3 ขวบ การเล่นกับเพื่อนจะทำให้รู้จักการปรับตัว ยืดหยุ่นตัวเอง เพื่อให้การเล่นเป็นไปอย่างราบรื่น และรู้จักกติกาทางสังคมอื่น เช่น รู้จักการรอคอย รู้จักการต่อแถว รู้จักการแบ่งปัน รู้จักการยืนยันความต้องการของตัวเอง หรือรู้จักการสื่อสารกับผู้อื่นเพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ เป็นต้น
รับสารอาหารให้ครบตามหลักโภชนาการ
อาหารที่ครบถ้วน 5 หมู่ จากวัตถุดิบธรรมชาติ เลี่ยงอาหารแปรรูปให้น้อยเท่าที่จะทำได้ และมีความหลากหลาย สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อสุขภาพที่ดีของลูกทั้งต่อ ร่างกาย สมอง และจิตใจด้วย
งดหน้าจอทุกชนิด
พ่อแม่ไม่ควรให้ลูกดูหน้าจอเลยก่อน 3 ขวบ เพราะสิ่งเหล่านี้รบกวนความสนใจที่ลูกควรมีกับสิ่งรอบตัว และรบกวนพัฒนาการบางอย่างของลูก เช่น การฝึกมองภาพกว้างจะถูกทดแทนด้วยการมองเพียงหน้าจอแคบ ๆ ภาพที่วิ่งไปมาอย่างรวดเร็วในจอทำให้ลูกได้รับข้อมูลที่รวดเร็วและมากเกินกว่าที่สมองของลูกจะเรียบเรียงได้ทัน ส่งผลให้ลูกมีพฤติกรรมวิ่งวุ่นไปมาทุกครั้งหลังจากมองหน้าจอ ทำให้พ่อแม่เข้าใจผิดคิดว่าลูกซนและเหนื่อยเกินไปที่จะรับมือ ในที่สุดก็จะยื่นหน้าจอให้ลูกอีกครั้ง และกลายเป็นวัฎจักรที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เมื่อรู้ตัวอีกที ลูกอาจกลายเป็นออทิสติกเทียมไปโดยไม่รู้ตัว
สมองส่วนหน้านั้นจะพัฒนาได้ดีที่สุดในช่วงปฐมวัย คือ 3-7 ขวบ พัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ จนถึง อายุ 20 ปี ปลายๆ ยังพัฒนาต่อไปอีกจนถึงวัยเกษียณแต่อยู่ในอัตราที่น้อยลง และเตรียมเข้าสู่การถดถอย ซึ่งจะเน้นทักษะการคิดวิเคราะห์โดยผ่านความจำใช้งาน ที่ผ่านการเล่น การลงมือทำ และผ่านการใช้ผัสสะต่าง ๆ ของลูกเพื่อไปเรียนรู้สิ่งรอบตัวอย่างเป็นธรรมชาติก็จะเกิดความสนุกและกระหายอยากเรียนรู้ด้วยตัวเองอยู่เสมอค่ะ