ฟิงเกอร์ฟู้ด (Finger Food) ช่วยเสริมพัฒนาการลูก สนุกกับการกิน

ฟิงเกอร์ฟู้ด (Finger Food) ช่วยเสริมพัฒนาการลูก สนุกกับการกิน
การเลี้ยงลูก

Last Updated on 2023 03 24

บางคนอาจเคยได้ยินกันมาบ้างเกี่ยวกับ “ฟิงเกอร์ฟู้ด (Finger Food)” อาหารประเภทนี้คืออะไร แล้วจะช่วยเสริมพัฒนาการลูกได้อย่างไร ถ้าให้ลูกได้กินอาหารประเภทนี้ต้องระวังเรื่องอะไรบ้าง? รวมถึงมีเรื่องอะไรที่ควรรู้เกียวกับเรื่องนี้อีกบ้าง วันนี้กิฟท์มีข้อมูลมาฝากค่ะ

สารบัญ

ฟิงเกอร์ฟู้ด (Finger Food) คืออะไร?

“ฟิงเกอร์ฟู้ด (Finger Food)” คำนี้ในต่างประเทศใช้เรียกลักษณะของการกินอาหารด้วยมือค่ะ เพราะโดยปกติวัฒนธรรมตะวันตกไม่นิยมหยิบอาหารด้วยมือ ส่วนใหญ่ใช้มีด ช้อน และส้อมกันเป็นหลัก จึงได้มีการแบ่งแยกอย่างชัดเจนว่าอาหารประเภทไหน หรือลักษณะใดที่สามารถใช้มือหยิบกินได้ ไม่เหมือนกับวัฒนธรรมไทยที่คุ้นเคยกับการใช้มือกินข้าวกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

ด้วยลักษณะของฟิงเกอร์ฟู้ด คือ อาหารที่เป็นแท่ง หรือพอดีคำที่ลูกสามารถใช้มือหยิบจับขึ้นมากินได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องมีใครป้อนหรือช่วยพยุงมือ

ฟิงเกอร์ฟู้ด (Finger Food) เริ่มตอนกี่ขวบ?

ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) และคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สามารถเสริมอาหารอื่นควบคู่กับนมแม่ได้ตั้งแต่ลูกอายุครบ 6 เดือน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขึ้นอยู่กับสัญญาณความพร้อมของเด็กแต่ละคนด้วยค่ะ แต่ส่วนใหญ่พ่อแม่สามารถฝึกลูกกินข้าวเองด้วยเทคนิคฟิงเกอร์ฟู้ด (Finger Food) เมื่อลูกอายุ 8 เดือนขึ้นไป เพราะเด็กในวัยนี้มักสนุกกับการหยิบ จับ และคว้าสิ่งของเข้าปาก

ฟิงเกอร์ฟู้ด (Finger Food) กระตุ้นพัฒนาการด้านใดบ้าง

การฝึกให้ลูกกินเองด้วยเทคนิคฟิงเกอร์ฟู้ด (Finger Food) นอกจากเป็นการตอบสนองความต้องการตามพัฒนาการของลูกในช่วงวัยที่ชอบหยิบ จับ และคว้าสิ่งของเข้าปากแล้ว ยังมีประโยชน์อื่นๆ อีก ดังนี้

ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก

การให้ลูกได้ทดลองหยิบจับอาหารเข้าปากด้วยตัวเอง สามารถพัฒนาการทำงาน และสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อมัดเล็ก (กล้ามเนื้อมือ และนิ้วมือ) ของลูกได้

ฝึกประสาทสัมผัส

การส่งเสริมประสาทสัมผัส หรือ Sensory Play คือ กิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของลูก ได้แก่ การมองเห็น (ตา) การฟัง (หู) สัมผัส (มือ) การลิ้มรสชาติ (ลิ้น) และการดมกลิ่น (จมูก) ซึ่งมีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กในช่วงวัยหัดเดิน และมีผลต่อการพัฒนาความคิด ภาษา สังคม อารมณ์ และความคิดสร้างสรรค์ของลูก ดังนั้น การฝึกลูกกินเองด้วยเทคนิคฟิงเกอร์ฟู้ดจึงสามารถช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสของลูกได้หลายส่วนเลยค่ะ

ทำงานประสานกันระหว่างตาและมือ

การประสานกันระหว่างตาและมือ หรือ Eye Hand Coordination เป็นความสามารถในการทำงานโดยใช้ตาและมือไปพร้อมๆ กัน ตาเป็นตัวรับข้อมูล แล้วส่งข้อมูลไปยังสมองเพื่อประมวลผล และสั่งการให้มือทำงาน

ทักษะการประสานงานระหว่างตาและมือมีความสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กวัยกำลังโต และวัยเรียน รวมทั้งวัยผู้ใหญ่ซึ่งต้องใช้ทักษะนี้มากมายทั้งในการทำงานและในชีวิตประจำวัน จึงเป็นการดีหากพ่อแม่เปิดโอกาสให้ลูกได้ฝึกทักษะนี้เป็นประจำ เพราอนาคตลูกต้องเจอกับการใช้ทักษะนี้ในการเขียนหรือจดบันทึก การพิมพ์แป้นคีบอร์ด การขับรถ หรือการเล่นกีฬาต่างๆ จะได้มีความคล่องแคล่ว และสามารถดึงศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ค่ะ

ลูกสนุกกับการกิน

เด็กที่อยู่ในวัย 6 เดือน ขึ้นไป จะเริ่มอาหารเสริมอื่นด้วยวิธีบด ปั่น และป้อน จนพ่อแม่เริ่มสังเกตเห็นว่าลูกเริ่มส่ายหน้าให้กับอาหาร หรือชอบคว้าช้อน แย่งอาหารจากมือพ่อแม่มากัดแทะเอง นั่นอาจเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างว่าลูกอยากลองสัมผัสอาหารด้วยตัวเขาเอง พ่อแม่สามารถเตรียมฟิงเกอร์ฟู้ดสัก 2-3 ชิ้น ในเบื้องต้นของการเริ่มกินแล้ววางบนถาดอาหารให้ลูกได้ลองหยิบอาหารกินเอง หากลูกสามารถกินเองได้ ครั้งต่อไปก็ให้พ่อแม่ค่อยๆ เพิ่มจำนวนของอาหารขึ้น เพียงเท่านี้ลูกก็จะเพลิดเพลินกับการกินและสำรวจอาหารแล้วค่ะ

ข้อควรระวัง ในการกินฟิงเกอร์ฟู้ด (Finger Food)

มาถึงตรงนี้พ่อแม่คงอยากจะลองใช้เทคนิคฟิงเกอร์ฟู้ดเพื่อฝึกให้ลูกกินเองกันแล้วใช่ไหมคะ เพราะมีทั้งประโยชน์มากมายที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูก ทำให้ลูกเพลิดเพลินกับการกินอาหาร ขณะเดียวกัน ก็มีข้อควรระวังอยู่บ้าง ดังนี้

เตรียมอาหารให้ถูกวิธี

อาหารบางชนิดมีรูปทรงที่เป็นอันตราย อาจทำให้เกิดการสำลัก หรือติดคอได้ เช่น องุ่นทั้งผล การหั่นแครอทหน้าตัดกลมแบน รูปทรงเหล่านี้ไม่ปลอดภัย ซึ่งแครอทควรหั่นเป็นแท่ง เพื่อให้ลูกให้กำทั้งแท่งได้ ที่สำคัญ ควรเลี่ยงอาหารที่ลื่น ที่มีเม็ด รวมถึงอาหารที่เสี่ยงติดคอ

ระวังอาหารที่มีขนาดเล็กกว่าแกนกระดาษทิชชู

รวมถึงระวังอาหารที่แข็ง เหนียว หนืดเช่น พวกถั่วต่างๆ ชีสแท่ง องุ่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ที่เต็มผล ผักสด ผลไม้เนื้อแข็ง ลูกอม ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น อาหารเหล่านี้มีความเสี่ยงที่ลูกจะสำลัก หรือติดคอได้ง่ายค่ะ

ไม่เสิร์ฟอาหารให้ลูกขณะนั่งบนคาร์ซีท

พ่อแม่ไม่ควรเสิร์ฟอาหารให้ลูก ไม่ว่าจะนั่งบนรถ หรือนั่งคาร์ซีท เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดจะทำให้พ่อแม่สังเกตและช่วยเหลือลูกได้ไม่ทันท่วงทีค่ะ

ควรเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

ทุกวิธีฝึกการกินของลูกมีความเสี่ยงที่จะเกิดการสำลัก หรือติดคอได้ทั้งนั้น ไม่ใช่แค่การกินแบบฟิงเกอร์ฟู้ดเท่านั้น พ่อแม่จึงควรศึกษาวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเอาไว้ เผื่อในกรณีฉุกเฉินและไม่ควรปล่อยให้ลูกนั่งกินคนเดียว ควรมีผู้ใหญ่นั่งอยู่ด้วยเสมอค่ะ

ให้ลูกกินในปริมาณที่เหมาะสม

เนื่องจากฟิงเกอร์ฟู้ดส่วนใหญ่เป็นของกินเล่นเหมือนของว่าง ที่มักกินควบคู่กับการป้อนอาหารหลัก พ่อแม่จึงต้องจำกัดปริมาณให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้ลูกกินเยอะจนเกินไป เพราะลูกอาจอิ่มแล้วไปกระทบกับการกินอาหารหลักได้ค่ะ

8 เมนู ฟิงเกอร์ฟู้ด (Finger Food)

ของการฝึกอาจเลือกอาหารที่เคี้ยวง่ายหรือละลายง่ายก่อน และหากไม่แน่ใจเรื่องการหั่น แนะนำให้หั่นแบ่ง 4 ส่วน เป็นชิ้นยาวๆ เอาไว้ก่อนค่ะ วันนี้จึงขอแนะนำ 8 เมนูฟิงเกอร์ฟู้ด ดังนี้

กล้วย และผลไม้เนื้อนิ่ม

กล้วยควรปอกเปลือก ส่วนผลไม้อื่นๆ หากมีเมล็ดให้เอาเมล็ดออกก่อนเสมอ

แครอท มะละกอ ผักต่างๆ

ผักต่างๆ ควรหั่นตามยาวให้เป็นแท่ง เป็นชิ้นให้หยิบง่าย หรืออาจใช้วิธีการขูดเป็นเส้น แล้วนำไปนึ่งหรือต้มให้เนื้อนิ่มง่ายต่อการกิน

ไข่ต้ม

ไข่ต้มสุก ไม่ควรกินแบบกึ่งสุกกึ่งดิบ แล้วตัดแบ่งเป็น 4 ส่วน

เพนเน่ สปาเก็ตตี้

รวมถึงพวกเส้นต่างๆ นำไปลวกให้นิ่ม ทำให้ลูกเพลิดเพลินในการหยิบ และการกินมากขึ้น

เนื้อไก่

ใช้วิธีต้มหรือนึ่ง จากนั้นฉีกเป็นชิ้นยาวๆ หรือจะหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ก็ได้

ขนมปัง

จะเป็นแบบขนมปังแผ่น หรือเป็นก้อนเล็กๆ ก็ได้ค่ะ หรืออาจเพิ่มเนื้อสัมผัสที่หลากหลายอย่างการนำไปปิ้งให้กรอบก็ได้

ข้าวโพด

สามารถหั่นเป็นท่อนเล็ก หรือจะแกะเป็นเม็ดเล็กๆ ก็ทำได้ค่ะ

ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่

เช่น สตอเบอร์รี่ เชอร์รี่ บลูเบอร์รี่ ให้หั่นแบ่ง 4 ส่วน ก่อนเสิร์ฟให้ลูกค่ะ

ฟิงเกอร์ฟู้ด (Finger food) มีเป้าหมายการกินคล้าย BLW แต่เน้นที่ให้ลูกใช้นิ้วและมือหยิบจับอาหารเข้าปากเอง เป็นการให้ลูกได้ฝึกทักษะการทำงานของมือให้ประสานสัมพันกับสายตา การกะระยะ และที่สำคัญคือ เป็นการฝึกล้ามเนื้อมัดเล็กอย่างมือและนิ้วค่ะ ทั้งนี้ พ่อแม่อย่าเพิ่งเพ่งเล็งเรื่องปริมาณอาหารที่เข้าไปในปาก เพราะอาหารหลักในช่วงขวบปีแรกยังคงให้ความสำคัญกับการกินนมอยู่นั่นเองค่ะ


Mommy Gift

157,074 views

แม่น้องสปิน คุณแม่ฟูลไทม์ ที่เชื่อเรื่องการเลี้ยงลูกแบบธรรมชาติอย่างสมดุลทั้งภายใน-ภายนอก และเชื่อว่าลูกคือครู จึงทําให้สนใจความเป็นไปของผู้คน จิตวิทยาความสัมพันธ์ในครอบครัว และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรม(ะ)ชาติ ชื่นชอบการทำอาหาร งาน Handmade อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ Facebook : Gift Bfive IG : spin_ramil

Profile

Pickup posts

Related posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save