“พ่อแม่ที่มีอยู่จริง” ไม่ได้หมายความว่า คุณพ่อหรือคุณแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่พ่อแม่ที่มีอยู่จริง หมายถึง พ่อแม่ที่ลูกรัก เคารพ ยอมรับ และผูกพัน การสร้างพ่อแม่ที่มีอยู่จริงจะสัมพันกับ EF (Executive Function) และ สร้าง EQ (Emotional Quotient) ความฉลาดทางอารมณ์หรือความมั่นคงได้อย่างไร วันนี้โน้ตจะชวนมาทำความเข้าใจกันค่ะ
EF (Executive Function) คือ อะไร?
EF (Executive Function) คือ กระบวนการทางความคิดขั้นสูงของสมองส่วนหน้าที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับความคิด ความรู้สึก และการกระทำ เป็นทักษะที่มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตและความสำเร็จในชีวิต คนเราไม่ได้มี EF มาแต่กำเนิด แต่ EF สามารถพัฒนาได้ โดยช่วงที่ควรพัฒนา EF ให้ลูกจะอยู่ที่ช่วงอายุ 4-6 ปี ซึ่งทักษะ EF แบ่งออกเป็น 2 ขั้น ได้แก่
ทักษะขั้นพื้นฐาน (Basic) 3 ด้าน
ได้แก่ ความจำเพื่อการใช้งาน (Working Memory), ความยั้งคิดไตรตรอง (Inhibitory Control) และ การยืดหยุ่นทางความคิด (Shifting หรือ Cognitive Flexibility)
ทักษะขั้นสูง (Advance) 6 ด้าน
ได้แก่ การเอาใจใส่และจดจ่อ (Focus หรือ Attention), การควบคุมอารมณ์ (Emotional Control), การติดตามและประเมินตนเอง (Self-Monitoring), การมีความคิดริเริ่มและลงมือทำ (Initiating), การวางแผน จัดระบบ และการดำเนินการ (Planning and Organizing) และ มุ่งมั่นกับเป้าหมาย (Goal – Directed Persistence)
EQ (Emotional Quotient) คือ อะไร?
EQ (Emotional Quotient) หรือ ความฉลาดทางอารมณ์ คือ คนที่มีมีความเข้าใจอารมณ์ของตัวเองได้เป็นอย่างดี มีสติรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง มีความมั่นคงทางอารมณ์ รู้จักการควบคุมและจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ดี รวมไปถึงสามารถควบคุมการแสดงออกให้ถูกต้องกาลเทศะได้อีกด้วย สามารถปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นได้ดีและเหมาะสม
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ความฉลาดทั้ง 11 ด้าน หรือ 11 Quotients พ่อแม่ควรรู้ เด็กควรมี พร้อมเว็บทดสอบ IQ
วิธีการสร้างพ่อแม่ที่มีอยู่จริง – สำหรับวัย 0-2 ปี แรก
จากข้างต้นที่กล่าวมา เราได้รู้จักแล้วว่า EF กับ EQ คืออะไร คราวนี้เราจะมาดูกันเกี่ยวกับวิธีการที่จะทำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่มีอยู่จริงกันค่ะ คิดว่าเมื่ออ่านจบแล้วคุณพ่อคุณแม่ถึงบางอ้อแน่นอน ว่าสุดท้ายแล้ว EF กับ EQ เชื่อมโยงกับเรื่องนี้ได้อย่างไร
ตามทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมของ (Psychosocial Development) อีริก อีริกสัน นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน ได้ระบุไว้ว่า
“พัฒนาการขั้นแรกของมนุษย์ (ช่วงวัย 0-2 ปีแรก) ควรเริ่มจากการที่คุณพ่อคุณแม่ต้องสร้างความเชื่อใจ (Trust) ให้กับลูกก่อน โดยมุ่งสร้างความสัมพันธ์ (Attachment) ซึ่งเกิดขึ้นจากความรัก และแสดงออกผ่านการให้ความสนใจ การดูแลอย่างใกล้ชิด รวมถึงตอบสนองต่อความต้องการของลูกขั้นพื้นฐาน
หรือ สามารถสรุปได้ง่าย ๆ ว่า “คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นผู้ที่ลูกสามารถพึ่งพิงได้ในยามที่เขายังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้นั่นเอง” ซึ่งได้แก่
- เมื่อลูกร้องไห้ คุณพ่อคุณแม่เข้าไปอุ้มและปลอบประโลมอย่างอ่อนโยน
- เมื่อลูกหิวนม คุณแม่ก็ให้นมลูกกิน
- เมื่อลูกรู้สึกเฉอะแฉะ คุณแม่ก็เปลี่ยนผ้าอ้อมให้
- เมื่อลูกมีไข้ ไม่สบาย คุณพ่อคุณแม่ก็พาไปรักษา ดูแลจนหายดี
การที่ลูกยังเล็ก คุณพ่อคุณแม่สามารถบอกรักลูกได้ด้วยการสัมผัส การกอด การหอม การอุ้ม และการเล่านิทาน แม้ว่าลูกยังเล็กมาก ยังไม่อาจที่จะสื่อสารได้เป็นภาษาแต่ถ้าลูกได้เห็นคุณพ่อคุณแม่ปรากฏตัวอย่างสม่ำเสมอ และสามารถตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของลูกได้ ลูกจะรับรู้ได้เลยค่ะว่า “คุณพ่อคุณแม่มีอยู่จริง” เขาสามารถเชื่อใจคุณพ่อคุณแม่ได้ เมื่อโตขึ้น เขาก็จะเชื่อใจสิ่งต่าง ๆ จากโลกภายนอกได้เช่นกัน
วิธีการสร้างพ่อแม่ที่มีอยู่จริง – ช่วงวัย 4 ปีขึ้นไป
สำหรับเด็กในวัยนี้ คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะพอทราบกันดีว่า เขาเริ่มที่จะมีความคิดเป็นของตัวเอง อยากทำอะไรด้วยตัวเอง เริ่มที่จะสื่อสารได้มากขึ้น แต่การอธิบายคุณพ่อคุณแม่ควรใช้เป็นข้อความที่สั้นกระชับนะคะ เพื่อให้ลูกไม่หลุดโฟกัส ซึ่งวิธีการสร้างการมีอยู่จริง คุณพ่อคุณแม่จะต้อง…
มีเวลาคุณภาพให้ลูก
การมีเวลาคุณภาพไม่จำเป็นต้องอาศัยเวลาเยอะค่ะ เพียงแค่สักวันละ 10-20 นาทีก็พอ การมีเวลาคุณภาพเพียงแค่คุณพ่อคุณแม่วางมือถือลง แล้วพูดคุยกับลูก เล่นกับลูก ลองพิจารณาลูกแล้วดูซิว่าลูกได้เติบโตไม่มากเท่าไหร่แล้ว แม้ในวันที่เขาโตเป็นวัยรุ่น เขาอาจจะไม่อยากมานั่งจ้องตาซึ้ง ๆ กับเรา แต่เชื่อเถอะค่ะว่า โซ่ทองระหว่างลูกกับคุณพ่อคุณแม่นั้นยังทำงานเสมอ และอบอุ่นทุกครั้งที่ได้อยู่ด้วยกัน
เปิดใจฟังลูกจนจบ
แม้ว่าระหว่างทางที่ลูกเล่า คุณพ่อคุณแม่อยากจะสอนสั่ง อยากจะดุใจจะขาด แต่การฟังลูกให้จบก็จะทำให้เราเข้าใจความคิดลูกมากขึ้น หากเราแทรกการสอนสั่งไปก่อนที่ลูกจะพูดจบ ลูกอาจจะบอกว่า “หนูไม่เล่าแล้ว” ก็เป็นได้ ครั้งแรกลูกอาจจะไม่เล่า แต่ไม่ได้ว่าไม่มีอะไรจะเล่า คุณพ่อคุณแม่รอได้ค่ะ เพราะอย่างน้อย ถ้าคราวนี้เราฟังเขาพูดจนจบ คราวต่อไปลูกจะกล้าเล่าได้ง่ายขึ้น และเร็วขึ้น
ยอมรับผิด
เพราะคุณพ่อคุณแม่ก็เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ย่อมมีผิดพลาดกันได้ แต่สำคัญคือ ต้องยอมรับผิดเป็น และพูด “ขอโทษ” ลูกได้ แบบนี้จะทำให้ลูกยอมรับและเคารพในตัวคุณพ่อคุณแม่มากกว่าเดิมอีกค่ะ
เล่าเรื่องของตัวเองให้ลูกฟังบ้าง
เชื่อเถอะค่ะว่าลูกทุกคนก็อยากจะรู้ว่าเมื่อก่อนคุณพ่อคุณแม่เคยเจอกับอะไรมาบ้าง มีประสบการณ์ที่ผ่านมาเหมือนเขาหรือเปล่า ยิ่งถ้าเรื่องนั้น ๆ มีบนเรียนชีวิตแทรกอยู่และตรงกับสิ่งที่เขาไปเจอมาก็จะยิ่งดีใหญ่ การเปิดความรู้สึกในเรื่องนั้น ๆ ให้ลูกฟังก่อน ก็จะทำให้ลูกได้รู้ว่าคุณพ่อคุณแม่ยินดีและเต็มใจที่จะฟังเรื่องประมาณนี้ของลูกเช่นกัน
เข้าใจช่วงวัยของลูก
เข้าใจว่าวัยใดของลูก ลูกต้องการอะไร เราต้องปลูกฝังเรื่องไหน หรือต้องให้ความเข้าใจกับลูกในเรื่องใดบ้าง รวมถึงเป้าหมายของลูกในวัยนั้น ๆ คืออะไร เช่น ลูกอยู่ในวัยทำงานแล้วแต่ยังมีคุณแม่ก็ยังไปรับไปส่งลูก เป็นต้น
มองเห็นคุณค่าในตัวลูก
เพราะเด็กแต่ละคนเกิดมาพร้อมทักษะ ความสามารถ และพรสวรรค์ที่ต่างกัน บางคนไม่ได้มีความสามารถในด้านที่สังคมส่วนใหญ่นับถือ แต่เขาอาจมีความสามารถอื่น ๆ ที่แฝงอยู่ ซึ่งถ้าหากคุณพ่อคุณแม่มองเห็นคุณค่าความสามารถของลูกในจุดนี้ ลูกก็จะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีตัวตน และทำมันจนเป็นที่ยอมรับของสังคม ลูกก็จะมองเห็นคุณค่าในตัวคุณพ่อคุณแม่เช่นกัน
ยอมทำเรื่องไร้สาระบ้าง
เด็ก ๆ มักจะเป็นวัยที่รักการเรียนรู้ อยากลองผิด ลองถูก การที่คุณพ่อคุณแม่ได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปกับลูก เช่น ถ้าเป็นวัยเด็ก อาจเป็นการระบายสีน้ำเลอะ ๆ เล่นดินเล่นทราย ทำสวน เล่นบ่อบอล ฯลฯ แบบนี้ก็จะทำให้ลูกยอมรับในตัวคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น
ให้ความช่วยเหลือ
ให้ความช่วยเหลือเมื่อลูกต้องการ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกได้ลองแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน แล้วค่อยให้ความช่วยเหลือเมื่อลูกออกปาก แต่ถ้าบางเรื่องที่เราไม่สามารถแก้ไขให้ได้ ก็สามารถให้กำลังใจและอยู่ข้าง ๆ เขาได้ค่ะ
ให้อภัยลูกเมื่อลูกผิดพลาด
เมื่อลูกทำผิด คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรผลีผลามต่อว่าลูก แต่ควรสอบถามลูก “รับฟัง” และ “พูดคุยถึงแนวทางการแก้ปัญหา” ก่อน แล้วค่อยสอนลูก ไม่ใช่ลงโทษนะคะ ให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจว่า “ไม่มีใครอยากทำอะไรผิดพลาด เพราะบทลงโทษมีอยู่ในตัวมันแล้ว ไม่ควรพูดซ้ำเติมเรื่องเดิม ๆ ให้เป็นการบั่นทอนจิตใจลูก”
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ พอจะเห็นภาพกันไหมว่า EF กับ EQ สอดคล้องกับเรื่องนี้อย่างไร จากที่กล่าวมาข้างต้น การเลี้ยงลูกจะเน้นในเรื่องของการพูดคุยที่เป็นเหตุผล เป็นเรื่องของการวิเคราะห์เหตุการณ์ที่ผิดพลาดเพื่อหาทางแก้ไข และการให้อภัยลูกเมื่อลูกทำผิด และอีกหลาย ๆ เรื่อง เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทำให้เขาเห็นว่าลูกมีตัวตน มีคุณค่าสำหรับคุณพ่อคุณแม่แล้ว ลูกก็จะมีอยู่จริงสำหรับคุณพ่อคุณแม่ด้วยเช่นกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- พัฒนาการแบบก้าวกระโดดของลูก อาจไม่ส่งผลดีอย่างที่เข้าใจ