คุณแม่บางคนเจอปัญหา “ลูกพูดช้า” บางคนก็ไม่แน่ใจว่าแบบไหนที่เรียกว่าลูกพูดช้า เพราะพัฒนาการของเด็กแต่ละคนนั้นต่างกัน แต่ในขณะที่คุณแม่บางคนก็ยังไม่ได้เจอปัญหาลูกพูดช้า เพียงแต่ว่าต้องการกระตุ้นให้ลูกพูด ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม วันนี้ แม่โน้ตมีวิธีกระตุ้นให้ลูกพูด อย่างถูกวิธีมาฝากค่ะ
พัฒนาการด้านภาษาและการพูดของเด็กตามปกติ
ก่อนที่เราจะไปดูเรื่องวิธีการกระตุ้นให้ลูกพูด แม่โน้ตอยากให้คุณแม่ลองเทียบพัฒนาการลูกกับพัฒนาการด้านการพูดของเด็กทั่วไปกันสักนิดหนึ่งก่อนนะคะ ดังนี้
ช่วงวัย 1-4 เดือน
วัยนี้ลูกจะสามารถพูดอ้อแอ้ได้แล้ว สนใจและหันหาเสียงที่คุยด้วย มีความคุ้นชินกับเสียงของคนใกล้ชิด
ช่วงวัย 5-6 เดือน
มีการตอบสนอง ด้วยการหหันหาเสียงที่เรียกชื่อของตัวเองได้ เริ่มเลียนแบบคำพูดและเสียงของคนอื่น
ช่วงวัย 9-12 เดือน
เริ่มพูดเป็นคำ ๆ ได้แบบพยางค์เดียว สามารถสื่อสารได้มากขึ้นด้วยท่าทาง เช่น กำมือชูขึ้นคือให้อุ้ม เป็นต้น
ช่วงวัย 1-1.5 ปี
สามารถทำตามคำสั่งที่สั้น ๆ และไม่ซับซ้อนได้ ตอบโต้ได้ ฟังเข้าใจ เริ่มพูดคำศัพท์ที่มากกว่า 1 พยางค์ได้
ช่วงวัย 5-2 ปี
เริ่มพูดได้ประมาณ 50-80 คำ เริ่มนำคำศัพท์มาผสมกันพูดเป็นประโยคสั้น ๆ ที่เข้าใจได้ และเข้าใจในคำสั่งที่ซับซ้อนขึ้นได้
ช่วงวัย 2-3 ปี
พูดคุยสื่อสารกันได้มากขึ้น พูดตอบและถามกันเป็นประโยคยาว ๆ ได้มากขึ้น
พัฒนาการด้านภาษาและการพูดของเด็กที่ผิดปกติ
เมื่อไหร่ที่จะเรียกได้ว่าลูกมีพัฒนาการที่ล่าช้า คุณแม่สามารถดูได้จากรายละเอียดด้านล่างนี้เลยค่ะ
ช่วงวัย 6-10 เดือน
ไม่หันตามเสียงที่เรียก แม้จะเป็นเสียงของคุณแม่ ไม่พูดอ้อแอ้ ไม่ได้มีทีท่าว่าจะพูด ไม่มีการเลียนแบบการพูดหรือการทำปาก
ช่วงวัย 15 เดือน
ไม่สามารถทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้ เช่น กำมือ หรือแบมือเพื่อบ๊าย บาย และไม่มีภาษากายที่สื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่
ช่วงวัย 1-2 ปี
ไม่มีทีท่าว่าจะสื่อสารกับคนอื่น หรือบางรายอาจจะพูดไม่หยุด แต่เป็นการสื่อสารที่ไปกันคนละเรื่อง
ช่วงวัย 3 ปี
ไม่ได้บอกความต้องการของตัวเอง ไม่เข้าใจ และไม่สามารถใช้ประโยคคำถามได้ รวมถึงอาจสื่อสารออกมาในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษาของเด็กที่อยู่ในวัยเดียวกัน
อ้างอิง rama.mahidol.ac.th
วิธีกระตุ้นให้ลูกพูดอย่างถูกวิธี
คุณพ่อคุณแม่คือผู้ที่จะกระตุ้นพัฒนาการด้านการพูดให้ลูกได้ดีที่สุดค่ะ ซึ่งวิธีการที่นำมาแชร์ในวันนี้จากประสบการณ์จริงของโน้ตเลยค่ะ ไปดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง
ชี้ชวนให้ลูกดูว่าสิ่งนั้นเรียกว่าอะไร ซ้ำ ๆ
โน้ตเริ่มชวนลูกพูดตั้งแต่ได้เจอหน้าลูกครั้งแรกหลังคลอดเลยค่ะ แต่ส่วนคุณแม่คนไหนที่มาฝึกช่วงหลังจากนี้ก็ไม่เป็นไรนะคะ ยังทัน เวลาที่โน้ตอยู่กับลูก โน้ตจะหยิบนั่นหยิบนี่ให้ลูกดูแล้วพูดใหเขาฟังว่าสิ่งนี้เรียกว่าอะไร ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษค่ะ พูดทุกวันแบบซ้ำเดิมบ้าง แล้วค่อย ๆ เพิ่มคำศัพท์ไปทีละคำ
ฮัมเพลงให้ลูกฟัง
มีงานวิจัยในหลาย ๆ ชิ้น ระบุว่าลูกชอบฟังเสียงคุณแม่ค่ะ เพราะเป็นเสียงที่คุ้นเคยตั้งแต่อยู่ในท้อง โดยเฉพาะเมื่อคุณแม่ฮัมเพลง แต่การฮัมเพลงคือเป็นแบบมีเนื้อร้องนะคะ ไม่เอาทำนองอย่างเดียว
ชวนลูกอ่านหนังสือด้วยกัน
ทำไมโน้ตถึงบอกว่า “อ่านหนังสือด้วยกัน” ก็เพราะว่าการที่คุณแม่อ่านนิทานให้ลูกฟัง จะเป็นการสื่อสารทางเดียว แต่ถ้าให้ลูกได้ดูหนังสือไปด้วย อ่านไปด้วยกัน คุณแม่สามารถชี้ให้ลูกดูได้ว่ารูปนี้คืออะไร แบบนี้ลูกจะมีพัฒนาการด้านการพูดที่เร็วกว่าค่ะ (เพราะเขาได้เห็นภาพเดียวกับเรา)
พูดให้ช้าลง
ยืดคำให้ยาวขึ้นอีกนิด เพื่อที่ลูกจะได้จับเสียง และรูปปากของคุณแม่ได้ ลูกก็จะสามารถเลียนแบบได้ในอนาคต
เปลี่ยนระดับเสียงในการพูด
เช่น การพากย์เป็นตัวละครต่าง ๆ เพราะจะเป็นดึงดูดความสนใจลูกได้เป็นอย่างดีค่ะ ครั้งแรกที่โน้ตลองทำ น้องมินหันมามองทันทีค่ะ อาจเป็นเพราะความไม่คุ้นชินในครั้งแรก แต่หลัง ๆ เค้าติดใจ (ติดใจมาจนโตเลย)
เรียกชื่อลูกบ่อย ๆ
เพื่อที่ 1 ลูกจะจำชื่อตัวเองได้ และ 2 ลูกจะเริ่มเลียนเสียงและรูปปากของคุณแม่ เพื่อฝึกการออกเสียงค่ะ
ฝึกลูกพูดจากสิ่งที่ลูกสนใจ
เช่น ลูกสนใจในเรื่องของสัตว์ป่า ก็ให้คุณแม่ชวนลูกพูดคุยในเรื่องนั้นได้เลยค่ะ เพราะลูกจะมีความสนใจมากกว่าเรื่องอื่น ๆ
นัดเจอเด็กในวัยเดียวกัน
หากใกล้ ๆ บ้านของคุณแม่พอที่จะมีเด็กในวัยเดียวกันหรือไล่เลี่ยกันก็สามารถพาให้เขาไปเจอกันได้นะคะ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกันด้านภาษา ที่สำคัญ จะเป็นการฝึกให้ลูกได้ปรับตัวเมื่อเข้าสังคมใหม่ ๆ อีกด้วยค่ะ
เมื่อลูกพูด พ่อแม่ควรหยุดฟัง
เพื่อเป็นการทำให้ลูกได้รู้ว่าคุณแม่พร้อมรับฟังและเข้าใจเสมอ อีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นการปลูกฝังมารยาทในการพูดคุยด้วยค่ะ เมื่อคนหนึ่งพูด อีกคนควรหยุดฟังให้จบ
วิธีกระตุ้นให้ลูกพูดทำได้ไม่ยากเลยค่ะ เพียงแต่คุณแม่ต้องอาศัยระยะเวลาสักหน่อย ไม่ต้องรีบ โน้ตเองก็ทำมาเรื่อย ๆ ค่ะ ทุกวัน ๆ และโน้ตจะสอดแทรกเรื่องภาษาอังกฤษให้ลูกไปด้วย ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะสับสนด้านภาษานะคะ เพราะเด็กบางคนอายุแค่ 11 ปี แต่สามารถพูดได้ถึง 5 ภาษา เป็นเด็กไทยเรานี่เอง เป็นกำลังใจให้นะคะคุณแม่
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- ลูกชอบพูดซ้ำ ๆ ทำซ้ำ ๆ ผิดปกติหรือเปล่า