หน้าที่ในการเลี้ยงลูกไม่ได้มีเฉพาะสำหรับแม่เท่านั้น แต่พ่อก็เป็นอีกคนที่สำคัญสามารถช่วยเลี้ยงลูกให้ฉลาดและอารมณ์ดีได้ ตัวแม่เองควรไว้วางใจที่จะปล่อยให้พ่อได้ทำหน้าที่บ้าง เพราะว่าความผูกพันระหว่างพ่อลูกนั้นจะส่งผลดีให้กับลูกอย่างมากในอนาคตค่ะ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ลองมาดูคำตอบไปพร้อมกันค่ะ
ผลจากงานวิจัย ทำไมลูกถึงฉลาดขึ้น หากพ่อช่วยเลี้ยง
การเลี้ยงลูกให้ฉลาดทั้งด้านสติปัญญาและด้านอารมณ์เป็นสิ่งที่พ่อแม่หลายครอบครัวตั้งเป้าหมายไว้ จากการศึกษาระบุว่า เวลาที่พ่อมีปฏิสัมพันธ์กับลูกมากขึ้น ในช่วง 2-3 เดือนแรกคลอด สามารถส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านความคิดและอารมณ์ของลูก เป็นเพราะพ่อมือใหม่มักจะมีความกระตือรือร้นในการเลี้ยงลูก เล่นกับลูก และดูแลลูก จึงช่วยให้ลูกฉลาดขึ้นเมื่อลูก มีอายุได้ 2 ขวบ
นักวิจัยได้ทำการทดสอบโดยสังเกตพฤติกรรมของเด็กเล็กในระหว่างที่พวกเขาอ่านหนังสือ และใช้เกณฑ์เรื่องการรู้จักสี และรูปทรงได้ดีแค่ไหน มาใช้ในการวัดประเมินพัฒนาการของสมอง ซึ่งเรียกเครื่องมือนี้ว่า Bayley Mental Development Index พบว่า…
ผลลัพธ์ที่ได้มีผลเชิงบวกทั้งเด็กชายและเด็กหญิง หากพ่อมีความใจเย็น และความอ่อนโยนต่อลูกมากเท่าไหร่ พัฒนาการด้านสมองของลูกน้อยก็จะยิ่งดีขึ้นมากเท่านั้น แต่ศาตราจารย์ Paul Ramchandani หัวหน้าคณะนักวิจัยนี้ ได้ออกมากล่าวเพิ่มเติมว่า การศึกษานี้ได้ทำการประเมินจากพ่อที่ส่วนใหญ่เป็นพ่อที่มีการศึกษา ซึ่งหมายความว่างานวิจัยนี้ยังมีข้อจำกัดคือไม่ได้ครอบคลุมกลุ่มประชากรทั้งหมด
ที่มา : นักวิจัยร่วมกันศึกษาจาก Imperial College London, King’s College London และ Oxford University ผลการศึกษาถูกเผยแพร่ในวารสาร Infant Mental Health Journal
นอกจากนี้ ศาสตร์จารย์ Lisa A. Serbin ในภาควิชาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย Concordia และเป็นสมาชิกกลุ่ม CRDH ได้กล่าวเพิ่มเติมในงานวิจัยว่า
“ในขณะที่การศึกษาวิจัยของเราตรวจสอบบทบาทความสำคัญของพ่อที่มีต่อพัฒนาการของลูกนั้น ความจริงแล้วเด็กๆไม่จำเป็นต้องมีพฤติกรรมที่แย่เสมอไปหากไม่มีพ่อ เพราะแม่และผู้ดูแลคนอื่นๆ ยังคงมีความสำคัญเช่นกัน มีทางเลือกมากมายในการเลี้ยงเด็กให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สติปัญญา และอารมณ์ที่ดีโดยที่เด็กบางคนไม่ได้ติดต่อกับพ่อหรือไม่ได้อยู่กับพ่อก็ตาม”
ที่มา : นักศึกษาปริญญาเอก Erin Pougnet ภาควิชาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย Concordia และเป็นสมาชิกของศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนามนุษย์ (CRDH) ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์พฤติกรรมศาสตร์ของประเทศแคนาดา
5 กิจกรรม ที่คุณพ่อช่วยเลี้ยงลูกได้
ช่วยอุ้มให้ลูกเรอ หลังทานนมแม่
เพราะระหว่างที่คุณแม่ให้นมลูกอยู่ก็กินเวลาพักหนึ่งเหมือนกัน จนแม่ก็ปวดหลัง เมื่อยเนื้อเมื่อยตัวไปหมด ดังนั้น สิ่งที่คุณพ่อช่วยคุณแม่ได้ก็โดยการที่หลังจากคุณแม่ให้นมลูกเสร็จแล้ว คุณพ่อสามารถอาสาช่วยอุ้มลูกต่อ เพื่อให้ลูกเรอ เขาจะได้สบายตัว ไม่อึดอัด แรก ๆ คุณพ่ออาจจะเก้ ๆ กัง ๆ ในการอุ้มลูกอยู่สักหน่อย แต่ถ้าได้อุ้มบ่อย ๆ ก็จะเริ่มอุ้มเป็นเองค่ะ
เล่นกับลูก
เล่นอะไรดี? คุณพ่ออาจคิดไม่ออกว่าจะเล่นอะไร จะหากิจกรรมอะไรทำกับลูกดี การเล่นกับลูกมีหลายวิธีค่ะ อาทิ อาจเลือกของเล่นที่มีเสียงกระดิ่ง (แต่อาจจะไม่ต้องดังมากนะคะ เดี๋ยวลูกตกใจร้องไห้เอา) มาสั่นหรือเขย่าให้เกิดเสียง อาจทำเป็นจังหวะก็ได้ค่ะ ให้ลูกมองตาม (แถมช่วยกระตุ้นพัฒนาการได้อีกต่างหาก) เล่านิทานให้ลูกฟัง (เพิ่มความน่าสนใจด้วยการพากย์เสียงที่แตกต่างกัน) หรือเล่นจ๊ะเอ๋ก็ได้ค่ะ เท่านี้ลูกก็สนุกได้แล้วค่ะ ที่สำคัญ คุณพ่อจะสุขด้วยและอาจยิ้มกว้างตามลูกแบบไม่รู้ตัว
อาบน้ำให้ลูก
ลำพังแค่การอุ้มลูกอย่างเดียว คุณพ่อก็เก้ ๆ กัง ๆ แล้ว นี่ยังมาให้อาบน้ำให้ลูกอีก …ใช่ค่ะ อาบน้ำให้ลูก มีคุณพ่อหลายคนที่กลัวการอาบน้ำให้ลูกไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ต้องทำอย่างไร สระผมก่อน หรืออาบตัวก่อน ตื่นเต้นไปหมด หยิบจับไม่ถูก บางทีรู้สึกว่ามือเกะกะเสียด้วยซ้ำ
เปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จรูป
“อี๋” ประโยคแรกของคุณพ่อบางคนที่เกิดขึ้นในหัว เพราะคิดไปถึงอึของลูกแล้ว ซึ่งในหนึ่งวัน ทารกจะฉี่และอึบ่อย ทำให้ต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จรูปบ่อย ๆ สำหรับคุณพ่อบางคนพอรู้ว่าลูกอึ ก็เบือนหน้าหนีแล้ว บางครอบครัวได้ลูกสาวทำให้คุณพ่อไม่กล้าเปลี่ยนผ้าอ้อมให้อีก แรก ๆ ก็แบบนี้แหละค่ะคุณพ่อ พอได้เปลี่ยนสัก 2-3 ครั้ง เดี๋ยวก็คล่องก็ชินได้เองค่ะ ทุกอย่างมีครั้งแรกเสมอ
ให้นมลูกจากขวด
เมื่อลูกน้อยเลิกเต้า แล้วเปลี่ยนมาเป็นกินนมจากขวด ช่วงนี้แหละค่ะที่คุณพ่อสามารถช่วยคุณแม่ได้ อาจเป็นการเอาน้ำนมของคุณแม่ที่ปั๊มเก็บไว้มาละลายใส่ขวด หรือครอบครัวไหนที่กินนมผสม คุณพ่อก็สามารถช่วยคุณแม่ชงนมได้ค่ะ หลังกินนมเสร็จอย่าลืมอุ้มลูกเรอ หรือถ้าคุณพ่อจะสามารถกล่อมให้ลูกนอนได้ จะเป็นอะไรที่เยี่ยม และแอดวานซ์มากเลย
สิ่งที่พ่อควรมีต่อแม่
จากงานวิจัยบอกเป็นเสียงเดียวกันถึงบทบาทความสำคัญของคุณพ่อที่ส่งผลต่อการเลี้ยงลูกให้ฉลาดทั้งทางด้านสติปัญญาและด้านอารมณ์ ผลลัพธ์นั้นอาจต้องมองกันในระยะยาว แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดในทันทีเมื่อพ่อช่วยแม่แบ่งเบาภาวะการเลี้ยงลูก คือบรรยากาศในครอบครัวจะเป็นไปด้วยดี เกิดการถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน และรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ลูกจะได้รับและรู้สึกได้ว่า เขาเป็นที่รักของทุกคน เพราะเมื่อแม่มีความสุข ลูกก็จะมีความสุขด้วยเช่นกัน งั้นอย่ารอช้าค่ะ คุณพ่อสามารถลุกมาช่วยคุณแม่ทำสิ่งเหล่านี้ได้เลยค่ะ
ช่วยให้กำลังใจและสนับสนุนส่งเสริม
คุณพ่อสามารถเป็นฝ่ายกำลังใจที่ดี และฝ่ายสนับสนุนที่สำคัญของคุณแม่ได้ ทั้งจากคำพูดและการกระทำ เช่น บอกแม่ว่าเลี้ยงลูกได้ดีมาก เพราะแม่หลายคนมักสงสัยในตัวเองและสงสัยว่าตัวเองกำลังทำสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่เสมอตลอดเส้นทางการเลี้ยงลูก บอกแม่ว่าพ่อภูมิใจในตัวแม่ บอกแม่ว่าพ่อรักแม่มากแค่ไหน พาออกไปเลือกชุดใหม่เพราะผู้หญิงคลอดหรือเลี้ยงลูกรูปร่างมักมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือซื้อดอกไม้ให้แบบไม่มีเหตุผลบ้างเพื่อเป็นกำลังใจเล็กๆน้อยๆให้สดใสได้ในวันที่เหนื่อยล้า เป็นต้น
ตรวจสอบให้แน่ใจว่าแม่กินเพียงพอ
โภชนาการของแม่เป็นสิ่งสำคัญเพราะจะส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของน้ำนม และพ่อสามารถทำขนมและอาหาร หรือซื้อของที่แม่ชอบให้กิน
หากพ่อต้องกลับไปทำงานเร็ว
พ่อสามารถเตรียมขนมก่อนออกไปทำงานและเมื่อกลับถึงบ้าน ด้วยวิธีนี้แม่จะได้มีของกินพร้อม และง่ายดายในตู้เย็นและตู้กับข้าวเสมอ หรือปัจจุบันมีบริการส่งอาหารถึงบ้าน พ่อก็สามารถเลือกสั่งอาหารได้สะดวกมากขึ้น
ให้แม่ได้พักอาบน้ำ หรือปล่อยให้แม่ได้อาบน้ำนานเท่าที่ต้องการ
ช่วงที่แม่อาบน้ำแนะนำให้พ่อพาลูกออกไปเดินเล่นรับอากาศบริสุทธิ์นอกบ้าน เพื่อที่แม่จะได้ไม่ได้ยินเสียงลูกร้องงอแง และรีบวิ่งออกจากห้องอาบน้ำ ทำลายจุดประสงค์ของการมีเวลาพักผ่อนนี้
พ่อควรเป็นผู้ฟังที่ดี
ถ้าแม่ต้องการพูดถึงเรื่องการคลอด และภาระการเลี้ยงลูก ปล่อยให้พูดระบายออกมาแม้ว่าจะพูดซ้ำหลาย ๆ ครั้งก็อย่าเพิ่งรำคาญกันนะคะ และการเป็นผู้ฟังที่ดีก็เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าแม่รู้สึกว่าพ่อไม่ได้ยิน หรือไม่ได้ตั้งใจฟัง แม่อาจจะพูดถึงเรื่องต่าง ๆ อย่างสิ้นหวังมากขึ้น จนเกิดการลุกลามบานปลายได้
อดทนและอย่าพยายามแก้ไขแม่
ให้ระลึกไว้เสมอว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจริง ๆ และยาวนานด้วย ร่างกายของแม่กำลังฟื้นตัวจากการตั้งครรภ์และการคลอด รวมถึงพักผ่อนน้อย ดังนั้นแม่จึงเหนื่อย แปรปรวนง่าย และอ่อนแอมาก พ่อต้องพยายามอดทน ปล่อยให้แม่ได้ร้องไห้และมีอารมณ์ พ่อแค่อยู่เพื่อปลอบโยนและคอยอยู่ข้างๆ
กระตุ้นให้แม่ขอความช่วยเหลือจากแม่คนอื่น
ไม่ว่าจะเป็นจากในชุมชน หรือกลุ่มเพื่อน และตรวจดูเป็นประจำว่าแม่รู้สึกว่าตนเองสามารถรับมือกับการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นแม่ได้ดีหรือไม่
สังเกตความผิดปกติทางอารมณ์ของแม่
แม่มือใหม่บางคนมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด บวกกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอย่างมากจนทำให้อารมณ์ต่าง ๆ อ่อนไหวได้ง่าย และยังต้องเจอกับสถาณการณ์ที่ไม่คุ้นเคยในการเลี้ยงลูกอย่างเหน็ดเหนื่อย หากพ่อสังเกตเห็นความผิดปกติทางอารมณ์ควรแนะนำแม่ให้ไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
ให้แม่ได้มีเวลาส่วนตัวบ้าง
เช่น พ่อไปส่งให้ตัดผม ทำสี หรือสระผมเป่าผม เพื่อให้แม่รู้สึกสดชื่นขึ้น และรู้สึกกลับมาเป็นตัวเองอีกครั้ง หรือให้แม่ได้ไปทำสปานวดหลังผ่อนคลายหลังคลอดจากนักบำบัดบ้าง หากต้องการประหยัดเงินพ่อสามารถนวดให้เองได้ เพราะการอุ้มลูกตลอดทั้งวันทั้งคืนสร้างความตึงเครียดให้กับไหล่และหลังได้อย่างมาก
อย่าอารมณ์เสียถ้าบ้านรกกว่าปกติ
ให้เข้าใจ และช่วยเหลือแบ่งเบากัน
อย่ากดดันในเรื่องเพศ หรือกิจกรรมทางเพศใด ๆ
เพราะร่างกายของแม่กำลังฟื้นตัวหลังคลอด ความใกล้ชิดจะกลับมาเร็ว ๆ นี้ แต่ความกดดันจะไม่ช่วยสถานการณ์ให้ดีขึ้น หรืออาจเป็นการผลักดันแม่ให้เกิดความเครียดจนเกินไป
การมีลูกไม่ว่าจะเป็นลูกคนแรก คนที่สอง หรือคนที่สาม การที่คุณพ่อได้มีส่วนร่วมในการช่วยคุณแม่เลี้ยงลูก นอกจากจะทำให้ลูกฉลาด มีพัฒนาการทางความคิดที่ดีแล้ว ยังเป็นการสานสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นภายในครอบครัวอีกด้วยนะคะ
อ้างอิง imperial.ac.uk, sciencedaily.com,