สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกย่างเข้าสู่วัยรุ่น หรือลูกที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น (13-17 ปี) หลายครอบครัวคงเริ่มวิตกกังวลกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกๆ เช่น เริ่มเก็บตัว ห่วงสวย ห่วงหล่อ ใช้เวลาแต่งตัวเป็นนานสองนาน เริ่มมีความคิดเป็นของตนเอง ไม่ชอบทำตามกฎเกณฑ์ ติดเพื่อน ฯลฯ
โดยเฉพาะพฤติกรรมการติดเพื่อน ที่บางครั้งก็ทำให้ลูกหายหน้าออกไปจากบ้านทั้งวัน หรือการติดเล่น ติดการเข้ากลุ่มเพื่อน จนทำให้พ่อแม่อดเป็นห่วงไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณพ่อคุณแม่จะรับมือกันอย่างไรดี?
พฤติกรรมการติดเพื่อนแต่ละช่วงวัย
พฤติกรรมการติดเพื่อนของเด็ก แบ่งได้เป็น 2 ระยะหลัก ๆ คือ
ช่วงวัยเด็กเล็ก – ช่วงวัยเด็กโต
โดยปกติเด็ก ๆ ในช่วงวัยนี้มักไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการติดเพื่อนมากนัก เพราะเป็นวัยที่กำลังสนใจเรื่องการเรียน และการทำกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ เป็นหลัก
แต่หากเด็ก ๆ ในช่วงวัยนี้มีการติดเพื่อนมากเกินไปจนเกิดเป็นปัญหา มักมีที่มาจากการไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องการเรียน รู้สึกว่าการเรียนเป็นเรื่องยาก และน่าเบื่อหน่าย จึงหันมาสนใจจับกลุ่มเล่นกับเพื่อน หรือสนใจการไปเที่ยวเล่นบ้านเพื่อน มากกว่าการอยู่บ้าน เพื่อทำการบ้าน และทำรายงานตามที่ครูสอน เป็นต้น
วัยรุ่น
สำหรับวัยรุ่นแล้ว การมีความคิดเห็นเป็นของตนเอง ความรู้สึกอยากเป็นอิสระ อยากเป็นตัวของตัวเอง เพราะเชื่อว่าสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ต้องให้ใครมาชี้แนะ สั่งสอน
บางครั้งก็ต้องการอยู่กับกลุ่มคนในวัยเดียวกัน มีความคิดเห็นเหมือนๆ กัน ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นพัฒนาการตามวัยของวัยรุ่น ไม่ใช่สิ่งผิดปกติแต่อย่างใด
แต่ว่าในบางครั้งพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้อาจโดดเด่น และมีมากจนคุณพ่อคุณแม่บางท่านวิตกกังวล โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นแบบโต้แย้ง จนกลายเป็นดื้อรั้น ดันทุรัง ซึ่งก็สามารถทำให้พ่อแม่ หรือผู้ปกครองเกิดความไม่พอใจ และอาจกลายเป็นความไม่เข้าใจกันได้ในที่สุด
หากแต่ละฝ่ายไม่พยายามปรับทัศนคติ สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ช่องว่างระหว่างวัยก็จะแผ่ขยายกว้างออกไปเรื่อยๆ จนทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวกลายเป็นความห่างเหิน ยากที่จะผสานเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ในที่สุด…
พฤติกรรมที่บ่งบอกว่าลูกติดเพื่อน
การที่ลูกมีพฤติกรรมติดเพื่อน คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมที่เราสรุปมาให้ ดังนี้
- อยากมีเพื่อนอยู่ข้างๆ ตลอดเวลา
- ดื้อรั้น เอาแต่ใจตัวเอง
- เพื่อนเท่านั้น สำคัญที่สุด
- มีพฤติกรรม “หวงเพื่อน”
- อยู่ไม่ติดบ้าน
- ปฏิเสธเพื่อนไม่เป็น
- อยากมีส่วนร่วมกับเพื่อนในทุกๆ เรื่อง
วิธีรับมือเมื่อวัยรุ่นติดเพื่อน
หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกติดเพื่อนมากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อการดำเนินชีวิตลูก เรามีแนวทางในการปรับพฤติกรรมมาฝาก ดังนี้
ด้วยรัก และเข้าใจ
พ่อแม่และผู้ปกครองควรทำความเข้าใจ และยอมรับว่า การติดเพื่อนเป็นพฤติกรรมปกติของเด็กวัยรุ่น ไม่ใช่เรื่องน่าวิตกกังวลจนเกินไป ขณะเดียวกัน พ่อแม่และผู้ปกครองก็ควรแสดงให้ลูกเห็นว่า พ่อแม่เข้าใจลูกเสมอ และพร้อมจะเป็นที่ปรึกษาให้ลูกในทุกๆ เรื่อง โดยไม่มีข้อแม้ และคำตำหนิติติง
ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน “ความรัก” ก็ยังเป็นสิ่งที่ทุกๆ คนต้องการเสมอ ไม่ว่าจะเพศไหน วัยใด โดยเฉพาะวัยรุ่น แต่ถึงกระนั้น บางครั้ง “ความรัก” อย่างเดียวก็อาจจะไม่เพียงพอสำหรับความต้องการ หากความรักนั้นปราศจากเหตุผล และ “ความเข้าใจ”
รับฟังอย่างตั้งใจ
คุณพ่อคุณแม่ และผู้ปกครอง ควรมีเวลาคุณภาพให้ลูก และพร้อมเสมอที่จะรับฟังปัญหา ความคิดเห็น และความวิตกกังวลของลูก ไม่ว่าเรื่องนั้นจะดี หรือร้ายแรงเพียงใด
การรับฟังอย่างตั้งใจ และพร้อมเสมอที่จะอยู่เคียงข้าง ช่วยให้คำแนะนำ และแนวทางในการแก้ไขปัญหา คือความรู้สึกที่ลูกวัยรุ่นต้องการ ซึ่งหากพ่อแม่ ผู้ปกครอง และคนในครอบครัวสามารถให้ความรู้สึกปลอดโปร่ง และปลอดภัยกับเด็กๆ ได้ พวกเขาก็จะลดทอนความรู้สึกทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างไปไว้ที่เพื่อน หรือแฟนลง ซึ่งเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับพ่อแม่ ก็จะลดน้อยลงตามไปด้วยเช่นกัน
สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก
บางครั้งการเป็นคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่บนหอคอยเสมอไป ด้วยการตอกย้ำกับลูกเสมอๆ ว่า “นี่ฉันเป็นพ่อ เป็นแม่ของเธอนะ จะมาพูดเล่นกับฉันไม่ได้…หรือพ่อแม่ไม่ใช่เพื่อนเล่น ลูกต้องให้ความเคารพ เข้าใจไหม?”
ซึ่งความจริงแล้ว ถ้อยคำเหล่านี้ลูกทุกคนตระหนักรู้เป็นอย่างดี โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องตอกย้ำ เพราะยิ่งตอกย้ำเท่าไร ความสัมพันธ์ก็ยิ่งจะห่างเหินออกไปเรื่อยๆ เพราะลูกไม่ได้อยากฟังถ้อยคำเหล่านี้ มากไปกว่า “พ่อกับแม่รักลูกนะ”
…ดังนั้น ลงมาจากหอคอยบ้าง เล่นกับลูกบ้าง เป็นเพื่อนกับลูกบ้าง เพียงเท่านี้ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด ความเป็นครอบครัวที่อบอุ่นก็จะคงอยู่ตลอดไป…และจะไม่มีใครเข้ามาทำลายความผูกพันนี้ได้ แม้แต่เพื่อนสนิท หรือคนรักของลูกก็ตาม
ส่งเสริมให้ลูกทำกิจกรรมต่างๆ
การสนับสนุนให้ลูกทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย และความสนใจของลูก เช่น การเล่นดนตรี การเล่นกีฬา หรือการเรียนศิลปะ การเรียนเต้นรำ ร้องเพลง ฯลฯ หรือการเข้าค่ายที่ทางโรงเรียนจัดขึ้น เช่น ค่ายยุวพุทธ ค่ายลูกเสือ เนตรนารี ฯลฯ หรือแม้แต่กิจกรรมสาธารณะประโยชน์ต่างๆ อาทิ การปลูกป่าชายเลน การปลูกต้นไม้ในที่สาธารณะ การเล่านิทาน การร้องเพลง การอ่านหนังสือให้ผู้ป่วย หรือคนชราฟัง ตามโรงพยาบาลต่างๆ เป็นต้น
สิ่งต่างๆ เหล่านี้นอกจากจะปลูกฝังทัศนคติที่ดีให้กับเด็กวัยรุ่นแล้ว ยังทำให้พวกเขาได้พบเพื่อนใหม่ กลุ่มคนใหม่ๆ มีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น เข้าใจโลกมากขึ้น เป็นเสมือนการสอนให้พวกเขารู้จักที่จะเรียนรู้ชีวิต เข้าใจชีวิต รู้จักที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเอง นับเป็นบทเรียนชีวิตที่สำคัญในช่วงวัยหนึ่ง โดยที่พ่อแม่ หรือครูไม่จำเป็นต้องสอนเลยก็ว่าได้
สอดส่อง แต่ไม่แทรกแซง
หากการติดเพื่อนของลูก มีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทางเสี่ยง เช่น เรื่องยาเสพติด (รวมถึงเรื่องเหล้า บุหรี่ และของมึนเมาอื่นๆ) เรื่องเพศสัมพันธ์ เรื่องการใช้กำลัง และความรุนแรง
คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกต สอดส่อง ดูแล พฤติกรรมลูกอย่างใกล้ชิด สม่ำเสมอ โดยอาจสอบถามจากครูที่โรงเรียน เพื่อนร่วมห้อง แต่ไม่ควรคาดคั้น หรือแสดงอาการจับผิด จนลูกรู้สึกอึดอัด และเริ่มมีพฤติกรรมปกปิด ซ่อนเร้น จนนำไปสู่การก่อเหตุที่รุนแรง เกินกว่าที่พ่อแม่จะช่วยเหลือ หรือยับยั้งได้ทันก็เป็นได้
สรุป
พฤติกรรมการติดเพื่อนของลูกวัยรุ่น โดยส่วนใหญ่แล้วถือเป็นเรื่องปกติ เป็นพัฒนาการตามวัย มิใช่เรื่องแปลก จนคุณพ่อคุณแม่ต้องวิตกกังวลจนถึงขั้นมานั่งจับผิดพฤติกรรมของลูกในทุกฝีก้าว เพราะจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด ไม่เป็นตัวของตัวเอง นานวันเข้าลูกก็จะยิ่งไม่อยากอยู่บ้าน ไม่อยากใกล้ชิดคนในบ้าน และหันไปหากลุ่มเพื่อนวัยเดียวกันแทน
แต่หากพฤติกรรมการติดเพื่อนของลูก เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยง จนคุณพ่อคุณแม่รู้สึกสัมผัสได้ถึงอันตราย อาทิ ความรุนแรง ก้าวร้าว พฤติกรรมที่นำไปสู่การใช้กำลัง การทะเลาะวิวาท การสุ่มเสี่ยงในเรื่องเพศ และอบายมุข คุณพ่อคุณแม่ควรระมัดระวังและหาทางป้องกัน โดยการสอบถาม และสอดส่องจากครูที่โรงเรียน ครูสอนพิเศษ กลุ่มเพื่อน เพื่อนสนิท หรือแฟน เป็นต้น