Site icon simplymommynote

ลูกชอบพูดแทรก ชวนทำความเข้าใจลูก พร้อมวิธีแก้ไข

ลูกชอบพูดแทรก ชวนทำความเข้าใจลูก พร้อมวิธีแก้ไข

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่เมื่อลูกโตช่วงวัยหนึ่ง เรียกว่าเป็นวัยที่เริ่มพูดคุยสื่อสารกันรู้เรื่องแล้ว (ประมาณ 4-5 ปี ขึ้นไป) อาจจะต้องเคยเจอกับพฤติกรรมที่ลูกชอบพูดแทรก ซึ่งในบางครั้งเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่พูดคุยกันอยู่อาจเป็นเรื่องสำคัญ จนทำให้คุณพ่อคุณแม่หงุดหงิด ดุลูกเอา แต่สิ่งสำคัญคือ ลูกมีพฤติกรรมนี้บ่อยมาก จนหลายครั้งคุณพ่อคุณแม่เกิดความกังวลว่าลูกตัวเองจะกลายเป็นเอาแต่ใจหรือไม่ วันนี้โน้ตอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจสาเหตุกันก่อน แล้วค่อยไปดูวิธีรับมือกันนะคะ

สาเหตุ ลูกที่ลูกพูดแทรก

เพราะอะไรลูกชอบพูดแทรก ไปดูกันค่ะ

เพิ่งเจอเรื่องตื่นเต้นมา

ด้วยความที่เป็นเด็กค่ะ เป็นวัยที่ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ อะไรที่เป็นเรื่องใหม่ก็จะตื่นเต้นไปเสียหมด ซึ่งแน่นอนค่ะ ว่าบุคคลแรก ๆ ที่ลูกคิดถึงก็คือ คุณพ่อคุณแม่ ลูกต้องการมาเล่าสิ่งที่เขาได้เจอมาให้ฟัง แต่ก็ความเป็นเด็กอีกนั่นแหละ จึงไม่ได้คิดถึงว่าขณะนั้นคุณพ่อคุณแม่พูดคุยติดพันกันอยู่หรือเปล่า จึงทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราเห็นว่าลูกพูดแทรกนั่นเอง

สมาธิสั้น

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายคนกังวลว่าลูกตัวเองจะอยู่ในข้อนี้ แต่เดี๋ยวก่อนค่ะ อย่าเพิ่งปักใจเชื่อไปว่าลูกจะมีอาการสมาธิสั้น เพราะอาการสมาธิสั้น จะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ เหม่อลอย, ไม่สามารถนั่งที่ไหนได้นาน ๆ, หงุดหงิดง่าย, ขี้ลืม และฟังอะไรได้ไม่จบ เป็นต้น

เรียกร้องความสนใจ

คุณพ่อคุณแม่มักเจอเหตุการณ์นี้ในขณะที่คุยกับคนอื่นอยู่ แต่ในเหตุการณ์ปกติกลับไม่เจอเหตุการณ์เหล่านี้ เหล่านี้แปลว่าลูกต้องการเรียกร้องความสนใจ ไม่ต้องการให้คุณพ่อคุณแม่สนใจคนอื่นมากกว่าเขา

ไม่เข้าใจสถานการณ์

ข้อนี้เป็นธรรมชาติของเด็กค่ะ เพราะลูกเพิ่งเติบโตมาได้ไม่กี่ปีเอง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะปล่อยไว้ โตขึ้นลูกก็รู้ได้เองนะคะ คุณพ่อคุณแม่ต้องอธิบายและสอนให้ลูกได้รู้ว่าจังหวะไหนที่ลูกจะสามารถเข้ามาพูดคุยได้ อย่างน้อยก็เป็นการปลูกฝังมารยาทที่ดีให้กับลูกอีกด้วยค่ะ

วิธีแก้ไขพฤติกรรมลูกพูดแทรก

มาในส่วนนี้เราไปดูวิธีแก้ไขกันในแต่ละหัวข้อเลยค่ะ

วิธีแก้ไข กรณีเพิ่งเจอเรื่องตื่นเต้นมา

ข้อนี้แม่โน้ตอยากให้ย้อนกลับไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กร่วมกันค่ะ เนื่องจากเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี เขาจะยังเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางอยู่ ตัวเองต้องมาก่อน

แต่เมื่ออายุเข้าราว ๆ 4-5 ปี ไปแล้ว เขาจะเริ่มคำนึงถึงคนอื่นมากขึ้น ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่เริ่มอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าคนอื่นก็มีธุระอื่น ๆ ทำหรือพูดคุยอยู่เหมือนกัน ลูกก็จะเริ่มเข้าใจมากขึ้น และจะเริ่มลดพฤติกรรมพูดแทรกลงได้เอง

วิธีแก้ไข กรณีสมาธิสั้น

จากการเลี้ยงดู

แก้ได้ด้วยการให้ลูกวาดภาพ, ระบายสี, ชวนกันอ่านนิทานก่อนนอน พร้อมชวนลูกพูดคุยไปด้วย ที่สำคัญ ควรเลี่ยงการให้ลูกเล่นหน้าจอค่ะ ไม่ว่าจะมือถือ หรือแทปเล็ต

จากกรรมพันธุ์

แนะนำว่าควรเข้าพบกุมารแพทย์ เพื่อประเมินว่าลูกมีอาการอยู่ในระดับใด ซึ่งต้องอาศัยการปรับพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ควรเข้าพบแพทย์ตามคุณหมอนัดทุกครั้งนะคะ

วิธีแก้ไข กรณีเรียกร้องความสนใจ

พูดคุยอย่างจริงจัง

คุณพ่อคุณแม่ต้องพูดคุยกับลูกอย่างจริงจัง แต่ไม่ใช่ดุลูกนะคะ

กำหนดข้อตกลง

ว่าถ้าหากเห็นคุณพ่อคุณแม่คุยโทรศัพท์ หรือคุยกับผู้ใหญ่คนอื่นอยู่ ลูกต้องรอได้ ว่าหากเห็นคุณพ่อคุณแม่ติดธุระหรือคุยงานอยู่ ให้ลูกรอก่อน และกำชับให้ลูกรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ลืมเรื่องที่ลูกจะเล่า และจะกลับมาฟังทันทีหากเสร็จธุระ เน้นว่าเราให้ความสำคัญกับเขาเสมอ

ชมเชยเมื่อลูกทำได้

ชมเชยอย่างจริงใจเมื่อลูกรู้จักการรอคอย เพื่อให้ลูกมีกำลังใจ และมั่นใจว่าเขาทำถูกต้องแล้ว

รักษาสัญญา

เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกทำได้ เราก็ต้องทำตามสัญญา เช่น จะทำอาหารที่ลูกชอบให้กิน, หรือจะไปเล่นในกิจกรรมที่เราได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้า เป็นต้น

วิธีแก้ไข กรณีไม่เข้าใจสถานการณ์

ใช้ภาษากายบอกลูก

หากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกกำลังวิ่งมา แต่คุณพ่อคุณแม่กำลังคุยกับเพื่อน ๆ ติดพัน และเป็นธุระสำคัญ ให้ยกมือบอกลูกว่าอย่าเพิ่งเข้ามา ให้รอก่อน

หากลูกอยากร่วมวงด้วย

หากลูกบอกว่าต้องการเข้ามาร่วมวงด้วย ให้กำชับลูกว่าเรื่องราวที่ผู้ใหญ่คุยกันซีเรียสระดับไหน หากซีเรียสมาก ให้อธิบายเรื่องมารยาทในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในวงสนทนา ซึ่งเป็นมารยาทพื้นฐานที่ทุกคนควรมี

เพราะความที่เป็นเด็ก ยังเติบโตมาบนโลกนี้ได้ไม่กี่ปี ลูกยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำความเข้าใจ ดังนั้น แน่นอนการสอน หรือการปลูกฝังอะไรสักอย่างต้องอาศัยระยะเวลาค่ะ และแน่นอนว่าการพูด การสอนคงไม่ได้แค่สอนครั้งเดียวแล้วจบ เพราะฉะนั้น เป็นกำลังใจให้นะคะ คุณพ่อคุณแม่

Exit mobile version