“การนอน” เป็นอะไรที่มีความสำคัญกับคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในเด็กทารกแรกเกิด ซึ่งการนอนของทารกแรกเกิดเฉลี่ยแล้วควรนอนให้ได้ 16 – 18 ชั่วโมงต่อวัน เรื่อยไปจนถึงเด็กในวัย 1 ปี ควรนอนให้ได้ 15 – 16 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งวันนี้เราจะมาเจาะลึกในเรื่องการนอนของทารกแรกเกิดกันค่ะ
การนอนของทารกแรกเกิด – 1 ปี
คุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลาย ๆ คน อาจจะเจอสภาวะที่ลูกน้อยตื่นกลางวัน หลับสนิทบ้าง ไม่สนิทบ้าง หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ หรือไม่ก็มักจะตื่นตอนกลางคืน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจพื้นฐานหรือธรรมชาติการนอนของลูกน้อยก่อน แม่โน้ตเชื่อว่าความกังวลใจดังกล่าวจะหมดไปแน่นอนค่ะ
โดยทั่วไปแล้ว การนอนของทารกแรกเกิดสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้
การนอนหลับตื้น (Light Sleep)
- ในขณะที่ลูกน้อยหลับตื้นอาจมีการฝัน ซึ่งการฝันอาจทำให้ลูกน้อยมีการขยับร่างกายและส่งเสียงออกมา นัยน์ตาอาจมีการขยับใต้เปลือกตา ซึ่งลูกน้อยอาจจะลืมตาหรือหลับตาก็ได้ สิ่งนี้ก็เป็นเหตุให้ลูกน้อยตื่นได้ง่าย
- การนอนหลับตื้นของทารกก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ เพราะเมื่อลูกน้อยหลับ เลือดจะมีการไหลเวียนไปเลี้ยงสมองมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้สมองมีการพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพ
- หากลูกน้อยเป็นเด็กที่ตื่นง่าย ก็นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับความปลอดภัยของตัวลูกน้อยเองค่ะ
- วิธีเพิ่มการนอนหลับตื้นของทารก ได้แก่ การให้ลูกกินนมแม่ และให้จุกหลอกสำหรับทารกที่กินนมผสมจากขวด
การนอนหลับลึก (Deep Sleep)
- ระหว่างการนอนที่หลับลึกของทารก เขาจะหลับได้นิ่งมาก อาจมีขยับตัวบ้างแต่ก็น้อย แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องแน่ใจนะคะว่าไม่มีเครื่องนอนไปอุดกั้นทางเดินหายใจ เพราะอาจเสี่ยงต่อ SIDS ได้
- ทารกที่หลับลึก หากมีการฝัน และมีการเคลื่อนไหวร่างกายบ้างบางครั้ง แต่เขาก็ยังสามารถหลับต่อได้แบบนี้ก็เรียกว่าหลับลึกค่ะ
- ทารกที่หลับลึกจะส่งผลดีต่อสุขภาพมาก ๆ เนื่องจากลูกน้อยจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ตื่นมาก็จะอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส
ตารางการนอนของทารกแรกเกิด – 1 ปี
อายุ | จำนวนการนอน(ครั้งต่อวัน) | การนอนกลางวัน(ชั่วโมง) | การนอนกลางคืน(ชั่วโมง) | การนอนต่อวัน(ชั่วโมง) |
---|---|---|---|---|
วัยแรกเกิด | นอนไม่เป็นเวลา | 8 – 9 | 8 – 9 | 16 – 18 |
1 เดือน | 3 – 4 | 7 – 8 | 8 – 9 | 15 – 16 |
3 เดือน | 3 | 6 – 7 | 9 – 10 | 15 |
6 เดือน | 2 – 3 | 3 – 4 | 10 – 11 | 14 – 15 |
1 ปี | 1 – 2 | 2 – 3 | 11 – 12 | 15 – 16 |
สำหรับทารกแรกเกิด การนอนของเขาจะนอนไม่เป็นเวลาค่ะ แต่เฉลี่ยแล้วเวลาในการนอนที่ถูกใช้ไปจะอยู่ที่ 70 – 80% หรือ ประมาณ 16 – 18 ชั่วโมง บางรายอาจนอนกลางวันวันละหลาย ๆ รอบ รอบหนึ่งก็ราว ๆ 1 – 2 ชั่วโมง เด็กในวัยนี้จะไม่สามารถแยกเวลากลางวันและกลางคืนได้ แต่จะมีการค่อย ๆ ปรับตัว ปรับการนอนได้มากขึ้นเมื่ออายุ 4 – 6 เดือน จากนั้นการนอนกลางวันก็จะค่อย ๆ ลดลงไป แต่จะไปนอนตอนกลางคืนมากขึ้นนั่นเอง
สาเหตุที่ทำให้ทารกตื่นบ่อย
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่พบว่าเมื่อก่อนลูกน้อยก็นอนได้นาน แต่ทำไมมาระยะหลังนี้ ถึงตื่นบ่อย เราลองมาดูสาเหตุดังต่อไปนี้กันค่ะ
ทารกที่คลอดก่อนกำหนด
ยกตัวอย่างง่าย ๆ จากแม่โน้ตเองค่ะ เพราะน้องมินเป็นเด็กที่คลอดก่อนกำหนด ดังนั้น เวลานอนของเขาด้วยระยะเวลาที่นานสุด (หลังคลอดใหม่ ๆ) นอนเพียง 15 นาที เท่านั้น เรียกได้ว่าแม่จะหลับด้วยก็เพียงคลี่ผ้าห่ม ลูกก็ตื่นแล้ว
ท่านอนของทารก
เนื่องจากทารกแรกเกิดยังไม่สามารถขยับเปลี่ยนท่าได้เอง ดังนั้น การจัดท่านอนให้เหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญค่ะ
การให้นมลูกที่ไม่ถูกต้อง
ลูกน้อยกินนมแม่น้อยเกินไป ซึ่งอาจหลับคาเต้าทั้งที่ยังไม่อิ่ม หรือแม้แต่ลูกน้อยกินนมแม่มากเกินไปก็ทำให้อึดอัดหลับยากเช่นกัน รวมไปถึงไม่ได้จับให้ลูกเรอหลังการให้นม
ลูกเจ็บป่วย
เมื่อลูกน้อยไม่สบายตัว หรือมีอาการไข้ร่วมด้วย เขาก็จะร้องงอแง และตื่นบ่อย
มีสิ่งเร้าใกล้ตัว
สิ่งเร้าที่ว่า เช่น เปิดทีวี เปิดเพลง มีเสียงดังจากทั้งภายในบ้าน และนอกบ้านมารบกวน เป็นต้น
ได้รับคาเฟอีนหรือยาบางชนิด
จริงอยู่คุณแม่ไม่ได้กินกาแฟ แต่ในช็อกโกแลต น้ำอัดลม หรือชา เหล่านี้ก็มีคาเฟอีน หรือแม้แต่ยาบางชนิด ซึ่งคาเฟอีนสามารถส่งผ่านมาทางน้ำนมถึงลูกน้อยได้ค่ะ
กิจวัตรของทารกที่เปลี่ยนแปลงไป
เช่น เมื่อถึงเวลานอน แต่คุณแม่ต้องกระเตงลูกไปทำธุรข้างนอกด้วยกัน ซึ่งก็เลยเวลานอนของลูกไปแล้ว ครั้นเมื่อลูกหลับก็จะหลับไม่สนิท ทำให้ตื่นง่ายค่ะ
เมื่อก่อนแม่โน้ตก็กังวลเหมือนกันค่ะว่าทำไมน้องมินนอนน้อยมากแค่ 15 นาทีเท่านั้น แต่เมื่อเขาโตขึ้นก็นอนได้นาน เพราะเริ่มมีการปรับตัว เพราฉะนั้นคุณแม่ ๆ รู้อย่างนี้แล้วไม่ต้องกังวลนะคะ ให้สังเกตแบบนี้ก็ได้ค่ะว่าถ้าลูกน้อยตื่นมาแล้วตาใส อารมณ์ดีแบบนี้ก็เรียกได้ว่าพักผ่อนเต็มที่แล้วค่ะ