Site icon simplymommynote

ฝึกลูกนั่ง ควรเริ่มอายุกี่เดือน? พร้อมวิธีการฝึกอย่างละเอียด และถูกต้อง

ฝึกลูกนั่ง ควรเริ่มอายุกี่เดือน พร้อมวิธีการฝึกอย่างละเอียด และถูกต้อง

ด้วยพัฒนาการเด็ก จากทารกที่นอนอย่างเดียว ก็จะเริ่มที่ดีขึ้นมาเรื่อย ๆ จนมาถึงเรื่องของ “การนั่ง” ซึ่งในแต่ละช่วงของพัฒนาการลูกน้อยนั้นจะมีคุณพ่อคุณแม่ที่คอยกระตุ้นและส่งเสริมลูกเสมอ “การฝึกลูกนั่ง” ก็เป็นอีกหนึ่งสเตปที่คุณพ่อคุณแม่ก็จะต้องช่วยเหลือลูกน้อยเช่นกัน ซึ่งวันนี้แม่โน้ตมีเทคนิคในการฝึกลูกนั่งอย่างถูกต้องมาฝากค่ะ

พัฒนาการด้านร่างกาย เริ่มฝึกลูกนั่งได้ตอนกี่เดือน?

ด้วยความที่เด็กแต่ละคนจะมีพัฒนาการที่ต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้วเด็ก ๆ จะเริ่มมีพัฒนาการด้านร่างกายและพร้อมนั่งได้ก็จะเริ่มตั้งแต่อายุ 4 เดือนขึ้นไป แต่ก็อาจจะมีการโอนเอนบ้าง เพราะว่ากล้ามเนื้อหลังและคอยังไม่แข็งแรงเท่าไหร่ แต่เมื่อลูกอายุได้สัก 6 เดือน ลูกก็จะนั่งได้นิ่งขึ้น แต่ถ้าลูกอายุได้ 9 เดือน แล้ว ยังไม่สามารถนั่งได้ เป็นไปได้ว่าคุณพ่อคุณแม่อาจให้ลูกนอนมากเกินไป

ต้องการฝึกลูกนั่งเอง เริ่มได้เมื่อไหร่?

แม้ว่าพัฒนาการด้านร่างกายของลูกส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มได้เมื่ออายุ 4 – 5 เดือน แต่ความจริงแล้วคุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกความพร้อมให้ลูกก่อนได้นะคะ เป็นการเตรียมพร้อมด้านกล้ามเนื้อ สามารถทำได้เมื่อลูกอายุได้ 3 – 4 เดือน ดังนี้ค่ะ

ฝึกกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรง

ข้อนี้เป็นเทคนิคส่วนตัวของแม่โน้ตเองค่ะ จัดท่าลูกให้นอนหงาย ให้คุณแม่จับสองมือของลูก แล้วนับ 1 2 3 ฮึ๊บ! คือให้คุณแม่ทำท่าเหมือนจะจูงมือให้ลูกลุกขึ้น แต่ความจริงคือไม่ลุกนะคะ เพราะคอลูกยังไม่แข็งพอ เพียงแค่ให้คุณแม่สังเกตปฏิกิริยาของลูกค่ะ เมื่อเรานับ 1 2 3 แล้วเค้าจะคิดว่าเราจะช่วยเขาลุก เขาจะเกร็งส่วนของคอ แบบนี้จะเป็นการบริหารกล้ามเนื้อคอ และถือว่าเป็นการเล่นกับลูกไปด้วยในตัวค่ะ

ฝึกการพลิกคว่ำ

การฝึกลูกให้พลิกคว่ำ เริ่มแรกคุณแม่อาจใช้หมอนรองหลัง เพื่อให้ลูกได้นอนตะแคงก่อน แล้วใช้มือประคองระหว่างศีรษะและต้นคอ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้วิธีการพลิกตัว

ช่วยให้ลูกคอแข็ง ขณะนอนคว่ำ

ต้องบอกก่อนค่ะแม้ว่าลูกจะสามารถคว่ำตัวได้แล้ว การฝึกกล้ามเนื้อคอให้แข็งยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ ซึ่งหลังจากที่ลูกนอนคว่ำแล้ว ให้คุณแม่หาของเล่นชิ้นโปรดของลูก มาแกว่งด้านหน้าของลูก เพื่อให้ลูกแหงนหน้ามองค่ะ

ใช้เก้าอี้หัดนั่ง

ข้อนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อลูกสามารถพลิกคว่ำได้และพยายามลุกนั่งได้เองแล้วนะคะ แต่อาจจะมีโอนเอนบ้าง ซึ่งเก้าอี้หัดนั่งนี้จะเป็นการฝึกลูกให้นั่งหลังตรงได้มากยิ่งขึ้น เพราะกระดูกของเด็กยังอ่อน หากไม่ได้รับการฝึกนั่งอย่างถูกต้องอาจส่งผลให้ลูกหลังค่อม และเสียบุคลิกได้เมื่อโตขึ้น คุณแม่อาจใช้เก้าอี้หัดนั่ง สลับกับการพาลูกนั่งตักหรือนั่งบนพื้นก็ได้ค่ะ เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศให้ลูก แต่ทั้งนี้บางแบรนด์ก็ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับสรีระของลูกน้อยมากนัก ก่อนตัดสินใจซื้ออาจต้องพิจารณาให้ละเอียดสักหน่อย

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ >>10 เก้าอี้หัดนั่งสำหรับเด็ก ยี่ห้อไหนดี 2021 นั่งสบาย ใช้งานได้หลายอย่าง

วิธีการฝึกลูกนั่งอย่างถูกต้อง

เมื่อลูกสามารถที่จะพลิกคว่ำได้ และเริ่มที่จะนั่งได้แล้ว ให้คุณพ่อคุณแม่ฝึกลูกได้ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้เลยค่ะ

ทดสอบโดยให้ลูกนั่งระหว่างขา

ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ลูกมีอายุประมาณ 4 – 8 เดือนขึ้นไปนะคะ เริ่มแรกให้คุณพ่อคุณแม่ทดลองการนั่งของลูกด้วยการจับลูกมานั่งระหว่างขาของคุณพ่อคุณแม่ โดยมือของคุณพ่อคุณแม่จะไม่โดนตัวลูก เพียงแต่เอามือคอยกันลูกตกเท่านั้น หากลูกนั่งได้นิ่งขึ้นให้ลองใช้เก้าอี้หัดนั่งต่อได้เลยค่ะ

ให้ลองนั่งบนเก้าอี้หัดนั่ง

ให้ลูกได้นั่งเก้าอี้หัดนั่ง เพื่อเป็นการฝึกให้ลูกนั่งหลังตรง แล้วให้คุณพ่อคุณแม่นั่งเล่นกับลูกตรงนั้นแบบเพลิน ๆ ไปเลยค่ะ

ลองจับให้ลูกลองยืน

ให้คุณพ่อคุณแม่พยุงใต้รักแร้ของลูก แล้วจับยืน ให้เท้าทั้งสองข้างได้สัมผัสกับพื้น ซึ่งรับประกันว่าลูกจะต้องกระโดดขย่มแน่นอน คุณพ่อคุณแม่เตรียมความพร้อมกล้ามเนื้อแขนของตัวเองด้วยนะคะ^^

เริ่มจับให้ลูก “ตั้งไข่”

เมื่อลูกได้มุมมองใหม่ ๆ จากการที่คุณพ่อคุณแม่ได้ลองจับเขายืนแล้ว คราวนี้ก็จะเริ่มในส่วนของการ “ตั้งไข่” เมื่อลูกอายุได้ประมาณ 7 – 8 เดือน  คุณพ่อคุณแม่สามารถที่จะฝึกลูกตั้งไข่ได้แล้วค่ะ

ค่อยพยังตัวลูกเพื่อหัดเดิน

หลังจากลูกอายุได้ 8 – 9 เดือนโดยประมาณ ลูกจะสามารถหัดเดินได้แล้ว ให้คุณพ่อคุณแม่พยุงใต้รักแร้ลูก แล้วพาเดิน ของแม้โน้ตจะฝึกสลับกับการฝึกให้ลูกได้สวมรองเท้าไปด้วย เพื่อสร้างความคุ้นเคยค่ะ

ให้ลูกหัดพยุงตัวยืนที่เฟอร์นิเจอร์

คุณพ่อคุณแม่ควรเช็คก่อนนะคะว่าเฟอร์นิเจอร์ที่จะให้ลูกเกาะยืนนั้นต้องไม่มีมุมที่คม หรือมีส่วนที่แหลมยื่นออกมา เพื่อความปลอดภัยค่ะ

สำหรับพัฒนาการลูกด้านร่างกายนับตั้งแต่ลูกฝึกพลิกคว่ำไปจนถึงการหัดเดิน มันเป็นช่วงเวลาที่เร็วมากนะคะ ดังนั้น การฝึกลูกอย่างถูกทางจะเป็นเรื่องที่จำเป็น เพื่อที่จะได้ไม่ส่งผลเสียต่อบุคลิกของลูกในอนาคตค่ะ

Exit mobile version