Site icon simplymommynote

เทคนิค ฝึกลูกกินข้าวเอง Baby Led Weaning (BLW) คุณแม่ไม่เหนื่อยป้อน

เทคนิคฝึกลูกกินข้าวเอง Baby Led Weaning (BLW) คุณแม่ไม่เหนื่อยป้อน

หลังจากที่นมแม่เป็นอาหารหลักมาตลอด 6 เดือนแล้ว ก็ถึงเวลาอาหารเสริมของลูก แต่ช่วงที่ผ่านมาเราเริ่มได้ยินคำว่า Baby Led Weaning (BLW) มากขึ้น เช่น เพจนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เพจและกลุ่มปิด Baby-led Weaning Thailand หรือ เพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ ก็มีการให้ความรู้และพูดถึง BLW เป็นทางเลือกที่ช่วยฝึกพัฒนาการลูกไปพร้อม ๆ กับการช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เหนื่อยน้อยลง เพราะไม่ต้องเตรียมบด ปั่น อาหารเป็นเวลานาน แล้วต้องเดินตามป้อนลูก วันนี้มาลองดูกันว่า BLW คืออะไร? แล้วเราจะเริ่มฝึกลูกกินเองได้ยังไงบ้าง

สารบัญ

Toggle

การฝึกลูกกินเอง หรือ BLW คืออะไร?

การฝึกลูกกินเอง (Baby Led Weaning :BLW) คือการฝึกให้ลูกกินอาหารปกติ แนวผู้ใหญ่ด้วยตัวเองตั้งแต่เริ่มแรก ไม่ต้องป้อน ไม่ต้องบดหรือปั่นอาหาร โดยจะเน้นอาหารนิ่มๆ ก่อน และเน้นให้ลูกจับไว้ในมือได้ถนัด แล้วก็ให้ลูกจับกินเอง วิธีนี้จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้สัมผัสของอาหาร แม้จะดูเหมือนเล่นในช่วงแรก แต่ก็เป็นการฝึกพัฒนาการด้าน Sensory Play อย่างนึง

โดยคำว่า Baby Led Weaning  เริ่มพูดกันมาตั้งแต่ปี 2003 คุณแม่หลายคนก็กังวลว่าช่วงหกเดือน ลูกยังไม่มีฟันจะบดเคี้ยวอาหารได้อย่างไรกัน แต่ที่จริงแล้วลูกสามารถใช้เหงือกบดอาหารได้ และเหงือกของลูกนั้นแข็งแรงมากเลยค่ะ คุณแม่หลายคนคงได้ลิ้มรสของการถูกกัดนมกันมาบ้างแล้ว

ฝึกลูกกินข้าวเอง เริ่มเมื่อไหร่ดี?

คุณแม่สามารถฝึกลูกกินข้าวเอง ได้เมื่ออายุครบ 6 เดือนเป็นต้นไป  และควรมีสัญญาณการกินอาหารครบทุกข้อ โดยสามารถเช็คลิสต์ได้ตามข้อต่อไปนี้เลยค่ะ

ต้องอายุ 6 เดือนขึ้นไป

ห้ามเริ่มก่อน 6 เดือนค่ะ โดยนับจากการคลอดแบบ full term ที่ 37 สัปดาห์ หากคลอดก่อนกำหนด (ก่อน 37 สัปดาห์) ให้นับทบอายุไปจนครบ 37 สัปดาห์ เพื่อรอความสมบูรณ์ของพัฒนาการบางอย่าง เช่น ระบบย่อยอาหาร

สามารถประคองตัวนั่งหลังตรงได้บนพื้นราบได้

ในกรณีนี้ควรให้ลูกนั่งประคองตัวได้ และหลังตรงบนพื้นราบ โดยไม่พิง ไม่ใช้มือค้ำ

ปฎิกิริยาดัน/ดุนลิ้น (Tongue Thrust Reflex) หายไป

ปฎิกิรยานี้จะค่อย ๆ หายไปเองในช่วงอายุ 4-6 เดือน โดยประมาณ แต่หากลูกมีอายุมากกว่า 6 เดือนแล้ว แต่ปฏิกิริยานี้ยังคงมีอยู่ และ/หรือ เรากังวล ให้ปรึกษาแพทย์ค่ะ

มีความสนใจจับโน่นนี่เข้าปาก

รวมไปถึง การพยายามจับคว้าอาหารเข้าปากเอง
แนะนำว่าควรมีให้ครบทุกข้อ หากขาดข้อใดข้อหนึ่งยังไม่ควรฝึกลูกกินข้าวเองด้วยวิธี BLW ค่ะ

ฝึกลูกกินข้าวเอง แบ่งตามช่วงอายุ

อายุ 6 เดือน – 1 ขวบ

หากคุณแม่พิจารณาแล้วว่าลูกมีความพร้อมในการฝึก ช่วงวัยนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมของการฝึกจริง ๆ คุณแม่ควรลดความคาดหวังที่ปริมาณอาหารจะเข้าปาก มุ่งเป้าหมายให้ลูกได้ฝึก และอยู่ในบรรยากาศการเรียนรู้ที่มีความสุขอย่างไรก็ตาม ในวัยนี้ นมแม่ยังให้ควบคู่กันไปได้ค่ะ

อายุ 1 ขวบ ขึ้นไป

หากคุณแม่เริ่มฝึกลูกกินข้าวเองหลังจากลูก 1 ขวบขึ้นไป
ซึงเป็นวัยที่ลูกจะต้องทานอาหารเสริมเป็นหลัก คุณแม่ควรลดปริมาณนมลงเพื่อไม่ให้รบกวนการฝึก เพราะหากลูกอิ่มนมเกินไป ลูกจะสนใจการสำรวจอาหารน้อยลง ช่วงวัยนี้ลูกเริ่มเข้าใจการสื่อสารมากขึ้น คุณแม่สามารถบอกเหตุผล และกฎกติกาการกินข้าวของครอบครัวให้เขาฟังได้ เช่น เมื่อถึงเวลา ไม่กิน ก็เก็บอาหาร แล้วรอมื้อต่อไป ถ้ากินหมด มีผลไม้ ของว่างเพิ่มได้ และคุณแม่ควรลดการคาดหวังเรื่องปริมาณอาหารที่เข้าปากเช่นกัน เพราะลูกยังต้องการเวลาในการฝึกหยิบจับอาหาร สิ่งของ การใช้อุปกรณ์กินข้าว การเคี้ยว และเนื้อสัมผัสของอาหารที่ใหม่สำหรับเขา

สิ่งที่คุณแม่ควรเตรียมก่อน ฝึกลูกกินข้าวเอง

ควรศึกษาข้อมูลวิธีการฝึกลูกกินข้าวเองอย่างละเอียด

เป็นไปได้คุณแม่ควรอ่านหนังสือ คู่มือเริ่มต้นอาหารเสริมตามแนวทาง BLW จากสำนักพิมพ์ของไทย หรือต่างประเทศก็ได้ค่ะ ปัจจุบันเริ่มมีแพร่หลายมากขึ้น เช่น แม่ไม่เหนื่อยป้อน สอนลูกให้กินเอง : Baby-Led Weaning (BLW) คุณแม่จะได้ทำความเข้าใจวิธีการเตรียมอาหาร ตัวอย่างของครอบครัวอื่นที่ใช้วิธี BLW แล้วมีผลลัพธ์อย่างไร ปัญหาและอุปสรรคที่ต้องเจอระหว่างการฝึกลูกกินข้าวเองมีอะไรบ้าง เมื่อคุณแม่เข้าใจภาพรวมของวิธีการฝึก BLWแล้ว ก็จะสามารถมองเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้นค่ะ

จัดเตรียมอุปกรณ์ทานเข้าวที่เหมาะสม

อุปกรณ์ชิ้นสำคัญในการฝึกลูกกินข้าวเอง คือ เก้าอี้ (High Chair) ควรมีสายรัดกันตก และพนักเก้าอี้ตั้งตรง 90 องศา เพื่อความปลอดภัยในการกิน หรืออาจมีถาดอาหารแบบถอดล้างมาด้วย  อุปกรณ์ชิ้นอื่น คุณแม่สามารถเลือกได้ตามพัฒนาการช่วงวัยของลูก เช่น จาน ถ้วย ช้อน ส้อม แก้วน้ำ

จัดตารางเวลาการทานอาหารที่เหมาะสม

เมื่อคุณแม่ตัดสินใจจะฝึกลูกกินข้าวเองแล้ว จะต้องสังเกตช่วงเวลาที่ลูกอารมณ์ดี พร้อมเรียนรู้ ไม่ง่วงนอนเกินไป ไม่หิวจนเกินไป หรืออิ่มนมเกินไป ในระหว่างการฝึกลูกจะได้ไม่งอแง หงุดหงิด หลุดโฟกัสที่การสำรวจอาหาร

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

ข้อนี้ไม่ได้อยากให้คุณแม่ตื่นตระหนก  ถ้าคุณแม่ศึกษาวิธีการหั่นอาหาร เตรียมอาหารที่ถูกต้อง และเข้าใจภาพรวมของแนวทาง BLW จากข้อที่ 1 มาอย่างดีแล้ว คุณแม่จะไม่ตื่นตระหนกกับอาการขย้อน (Gagging) และเตรียมพร้อมรับมือหากเกิด Choking อย่างถูกวิธี

ไม่ควรปล่อยลูกให้นั่งกินข้าวคนเดียว

ควรมีผู้ใหญ่ที่เข้าใจการฝึกกินข้าวเอง แบบ BLW อยู่กับลูกด้วยอย่างน้อย 1 คนเสมอ แม้ว่าลูกจะกินอาหารได้ชำนาญแล้วก็ตาม เพราะเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ

8 เทคนิคการฝึกลูกกินเองให้สำเร็จ

การพูดคุยให้เข้าใจตรงกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว

คุณพ่อถือเป็นผู้สนับสนุนหลัก ที่คุณแม่ควรพูดคุยถึงวิธีการฝึก BLW ให้เข้าใจและเป็นทีมเดียวกัน เพราะตลอดการฝึกลูกกินข้าวเองจะต้องไม่มีใครแทรกแซงการกินของลูกด้วยการป้อน แบบวิธีดั้งเดิม Traditional Weaning (TW) และยังอาจมีแรงกดดันจากรอบข้างที่อาจทำให้คุณแม่ไขว้เขวหากคุณแม่มีคุณพ่อช่วยสนับสนุนอีกแรงจะทำให้แนวทางนี้สำเร็จได้ไม่ยาก

กำหนดเวลากินที่เหมาะสม

ควรจำกัดเวลาในการกิน หรือหากลูกไม่อยากสำรวจอาหารแล้วก็สามารถให้ลุกจากเก้าอี้ได้ อยากเพิ่มจานที่สองก็เลยเวลาออกไปอีกได้ แต่สำหรับเด็กที่อายุ 18 เดือนขึ้นไป 30 นาที ไม่กิน ให้คุณแม่เก็บจานอาหารด้วยท่าทีแจ่มใส พร้อมบอกลูกว่า “เจอกันมื้อถัดไป” ด้วยรอยยิ้มได้เลยค่ะ

เลี่ยงการปรุงรสอาหารก่อนอายุ 1 ขวบ

อาหารเหมือนกันกับครอบครัว เพียงแค่ไม่ปรุงรสก่อน 1 ขวบ หั่นให้ถูกวิธี ไม่จำเป็นต้องทำพิเศษให้ลูก หรือหากลูกไม่กินเมนูวันนี้ คุณแม่ต้องไม่ตัดสินแทนลูกว่าลูกไม่ชอบเมนูนี้ ทำอาหารปรับเปลี่ยนเมนูวนไปเรื่อย ๆ วันนี้ไม่กิน ไม่ได้หมายความว่าวันหน้าจะไม่กิน

ทานอาหารพร้อมหน้ากัน

นั่งทานพร้อมกัน พ่อ แม่ ลูก หรืออย่างน้อยคนใดคนหนึ่งกับลูก เพราะลูกจะเห็นเราเป็นตัวอย่างแล้วเลียนแบบพฤติกรรมการกิน บรรยากาศในการกินก็มีความสำคัญทำให้ลูกเปิดใจสำรวจอาหาร และลองสิ่งใหม่

นั่งประจำที่เสมอเมื่อถึงเวลามื้ออาหาร

และรัดเข็มขัดกันตกทุกครั้ง ไม่ควรทานอาหารบนคาร์ซีท เด็กบางคนเมื่ออิ่มหรือเบื่อการสำรวจอาหารแล้วจะลุกขึ้นยืน อาจเป็นอันตรายได้

ปล่อยให้เลอะเทอะบ้าง

ให้ลูกลองหยิบจับทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องกลัวว่าลูกจะทำหก จะกินไม่เข้าปาก จะเทอาหารลงบนพื้น เพราะในช่วงแรกแน่นอนว่าเขายังไม่ชิน ยังไม่สามารถบังคับทิศทางต่าง ๆ ได้ดี การปล่อยให้ลูกเรียนรู้ผ่านความเลอะเทอะจะช่วยให้เขาทำได้ดีขึ้นในครั้งหน้า โดยที่เราก็คอยบอก และทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

ไม่แทรกแซงการกินของลูกด้วยการป้อนอาหารตามหลัง

หรือยื่นขนมขบเคี้ยวให้เมื่อเห็นลูกทานอาหารได้น้อย ข้อนี้ทำให้เด็กมีพฤติกรรมการต่อรอง และการรอคอยขนมแทนที่จะทานอาหารหลักให้อิ่ม หากเราไ่ม่ทำความเข้าใจกับลูกตั้งแต่แรก ทานของว่างหรือขนมได้เมื่อลูกทานอาหารหลักหมด

ให้กำลังใจลูก

ชื่นชมเมื่อลูกทำได้ ไม่ว่าลูกจะกินหกเลอะเทอะ ตักข้าวลงพื้นมากกว่าเข้าปาก ทำให้เขาเห็นว่าสิ่งที่กำลังพยายามนั้นมีความหมาย และเมื่อลูกทำได้จริงๆ ก็ขอให้ชมแบบเล่นใหญ่เข้าไว้ ไม่นานลูกก็จะกินข้าวได้ด้วยตัวเองอย่างแน่นอนค่ะ

ข้อดีของการฝึกลูกกินเอง

ฝึกลูกให้ช่วยเหลือตัวเองขั้นพื้นฐาน

เพื่อที่เขาจะสามารถดูแลตัวเอง และสามารถรับผิดชอบร่างกายของตัวเองได้ ส่งผลให้มีความรัก มั่นใจ และภูมิใจในตัวเอง ส่งเสริม EF (Executive Function)

ดีต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูก

เช่น ได้ฝึกกล้ามเนื้อมือ การทำงานประสานกันของสายตาและมือ (Hand-Eye Coordination)  และการฝึกกินข้าวเองของลูก ถือเป็นการส่งเสริมกิจกรรม Sensory Play อีกทางหนึ่งด้วย

ลูกได้ฝึกการตัดสินใจด้วยตัวเอง

ด้วยการฝึกสำรวจอาหารตรงหน้าทุกวัน เช่น จะหยิบจับอาหารชนิดไหนก่อน สีไหนก่อน ปริมาณเท่าไหนที่ตัวเองพอใจ

ส่งผลต่ออารมณ์ที่ดีของลูก

และทุกคนเมื่อถึงเวลากินข้าว ไม่ต้องเปิดศึกวิ่งตามป้อน กดดัน คะยั้นคะยอกว่าจะหมดจาน และคุณแม่เองก็จะได้มีเวลาพักผ่อน ทานอาหารอย่างมีความสุข ไม่ต้องรีบทานเหมือนตอนมีลูกรอกินนม

ได้เรียนรู้ และรู้จักขอบเขตของตัวเอง

การฝึกลูกกินข้าวเอง ทำให้ลูกเรียนรู้ขอบเขต และความรู้สึกอิ่มของตัวเอง เรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเองว่าอิ่มคืออะไร หิวเป็นแบบไหน ลูกเปิดใจกับอาหารชนิดใหม่ได้ง่าย เพราะบรรยากาศที่ไม่กดดันในการร่วมโต๊ะอาหารกัน คุณพ่อคุณแม่ทานอาหารที่มีประโยชน์เป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งจะนำไปสู่โภชนาการการกินที่ดีในวัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ของลูก

แม้ว่าจะมีข้อดี และผลพลอยได้จากการฝึกลูกกินข้าวเอง ด้วยวิธี BLW หลายข้อ แต่วิธีการนี้ควรฝึกเมื่อลูกมีสัญญาณการกินครบทุกข้อตามลิสต์นะคะ ถ้ายังไม่ครบ คุณแม่สามารถรอเมื่อลูกพร้อมได้ ไม่จำเป็นต้องเริ่มอาหารเสริมเมื่ออายุ 6 เดือนเป๊ะ  เพราะอย่างไรนมแม่ยังเป็นอาหารหลักของลูกจนถึงอายุ 12 เดือน และควรศึกษาข้อมูลวิธีการอย่างละเอียดรอบคอบ  การเริ่มอาหารเสริมทุกวิธีคือการตัดสินใจของคุณแม่ค่ะ ว่าอยากทำวิธีไหน เมื่อแม่มีความสุขลูกก็แฮปปี้ค่ะ

Exit mobile version