Site icon simplymommynote

ลูกสำลักนม เพราะนมพุ่งแรง พร้อมวิธีแก้ไข

baby-choking-on-milk

baby-choking-on-milk

สิ่งที่กังวลมากที่สุดของแม่ ๆ ส่วนใหญ่ คงหนีไม่พ้นในเรื่องกลัวว่าจะมีน้ำนมเพียงพอให้ลูกกินไหม  เพราะน้ำนมเป็นอาหารอย่างแรกที่ลูกจะได้รับหลังจากเกิดมาบนโลกใบนี้  แม่บางคนอาจรู้สึกสับสนกับอาการเบือนหน้าหนีเต้าของลูก จนคิดไปว่าตัวเองมีนมน้อยลูกจึงไม่ยอมดูด แต่ความจริงแล้ว อาจเป็นเพราะแม่มีน้ำนมเยอะ เต็มเต้าจนคัดตึง ส่งผลให้น้ำนมพุ่งแรงเกินไป จนลูกดูดไม่ทัน ทำให้ลูกสำลักนม ซึ่งเป็นอันตรายต่อลูกได้ค่ะ

ลูกสำลักนม เพราะนมพุ่งแรง รู้ได้อย่างไร?

เวลาที่ลูกดูดนมถ้าแม่มีน้ำนมเยอะจะทำให้ลูกกลืนไม่ทัน หรือน้ำนมพุ่งลงไปที่คอหอย ทำให้ลูกสำลักนมได้ สัญญาณบอกว่าแม่มีน้ำนมเยอะ น้ำนมพุ่งแรง ดูได้จาก

การดูดนมของลูก

ว่าลูกดูดนมทันหรือไม่ ดิ้นทุรนทุรายระหว่างดูดนมไหม เพราะอาจจะดูดและกลืนไม่ทัน เกิดการสำลักได้

ลักษณะหัวนม

ให้สังเกตหลังจากลูกดูดนมเสร็จแล้ว หากที่หัวนมมีสีซีดขาว หัวนมเป็นรอยพับ แสดงว่าน้ำนมเยอะ ทำให้ลูกเอาลิ้นดันไว้ เพราะกลืนไม่ทัน

การไหลของน้ำนม

เวลาที่ลูกถอนปากจากเต้าเมื่อเริ่มดูดนม จะมีน้ำนมพุ่งแรงใส่หน้าลูก หรือเต้านมอีกข้างมีน้ำนมพุ่งออกแรง

วิธีแก้ไข ลูกสำลักนม เพราะนมพุ่งแรง

โอกาสเกิดเหตุการณ์ลูกสำลักนมจะมีน้อยมาก ในกรณีเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะว่าน้ำนมแม่จะไหลก็ต่อเมื่อลูกมีการดูดเท่านั้น เว้นแต่ว่าเมื่อนมแม่เต็มเต้า จึงทำให้น้ำนมพุ่งแรงลูกดูดไม่ทันจึงทำให้เกิดการสำลัก วิธีแก้ไขเบื้องต้นคือ

ปรับวิธีอุ้มลูกเข้าเต้า

มีวิธีอุ้มลูกเข้าเต้าหลายวิธีและหลายท่า ที่สามารถช่วยลดการพุ่งแรงของน้ำนม ช่วยให้ลูกดูดนมได้สะดวกขึ้น ท่าอุ้มลูกเข้าเต้าส่วนใหญ่คือ ท่าที่ศีรษะของลูกจะต้องอยู่สูงกว่าเต้านมของแม่ อาทิ

Football hold หรือท่ารักบี้

โดยท่านี้แม่จะอุ้มลูกให้อยู่ในท่ากึ่งตะแคงกึ่งนอนหงาย ขาของลูกจะชี้ไปทางด้านหลังของแม่ แล้วใช้มือจับต้นขาและท้ายทอยของลูกเอาไว้ อีกมือหนึ่งประคองเต้านมให้ลูกดูดนมได้ง่ายขึ้น โดยแม่ก็จะต้องเอนหลังลงไปเล็กน้อยด้วย เพื่อลดการพุ่งของน้ำนมลง

Side lying หรือท่านอนตะแคง

อาจจะตะแคงไปทางด้านไหนก็ได้ ตามที่แม่สะดวก โดยมีข้อดีคือ ลูกสามารถปล่อยให้น้ำนมไหลออกมาจากปากเองได้หากกลืนไม่ทัน จึงช่วยลดโอกาสในการสำลักได้ดี

Cradle hold

ท่านี้แม่อุ้มลูกให้นอนขวางบนตักตามปกติ ซึ่งแม่ก็ใช้แขนในการประคองตัวลูกให้เข้าเต้าดูดนมได้ง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้แม่จะต้องเอนหลังลงเล็กน้อยด้วย เพื่อให้ลูกอยู่ในระดับที่สูงกว่าตำแหน่งหัวนมนั่นเอง

Laid back

ท่านี้ แม่จะนอนหงายให้ลูกอยู่บนตัวแม่ แล้วจับให้ลูกนอนคว่ำหน้าลงมาหาเต้านมพอดี พร้อมกับใช้มือประคองเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกพลิกตัวหล่นลงจากตัวแม่

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
6 วิธีอุ้มลูกเข้าเต้า และท่าอุ้มเรอ แม่ควรรู้

บีบกดท่อน้ำนมให้ไหลช้าลง

แม่สามารถใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้บีบบริเวณลานนม หรือใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางคีบเหมือนคีบบุหรี่บริเวณลานมเพื่อกดท่อน้ำนมทำให้น้ำนมไหลช้าลง แต่เมื่อน้ำนมไหลช้าลงแล้ว ก็เปลี่ยนมือเป็นท่าประคองเต้านมได้

บีบน้ำนมออกให้ลานนมนิ่มก่อน

ก่อนให้ลูกดูดนมในขณะที่นมเต็มเต้า แม่ควรบีบน้ำนมออกก่อนเล็กน้อย พอที่จะให้ลานนมนิ่มลง แต่อย่าบีบออกเยอะ มิฉะนั้น เต้านมจะสร้างน้ำนมมากขึ้น น้ำนมอาจพุ่งมากขึ้น

ปั๊มนมทำสต๊อก

สำหรับแม่ที่มีน้ำนมเยอะ การปั๊มนมก็สามารถช่วยได้เหมือนกัน โดยปั๊มใส่ภาชนะสำหรับเก็บน้ำนมแม่ แล้วนำใส่ในตู้เย็นเอาไว้ ก็จะลดปัญหาน้ำนมพุ่งได้ดี และน้ำนมที่บีบเก็บไว้ก็สามารถนำมาให้ลูกดื่มได้อีกด้วย

ข้อควรรู้ สำหรับแม่ที่มีน้ำนมเยอะ

แม่ที่มีน้ำนมเยอะ มักจะพบปัญหานมเต็มเต้า นมพุ่งแรง และลูกไม่ยอมเข้าเต้า เพราะลูกกลืนนมไม่ทัน และอาจทำให้ลูกสำลักนมได้ แม่จึงต้องพยายามปรับปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้น้ำนมของแม่อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ และลดการพุ่งแรงของน้ำนม

พยายามให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ

เพื่อให้ปริมาณน้ำนมในเต้าถูกถ่ายออกมาบ้าง เพราะหากปล่อยให้น้ำนมสะสมจนเต็มโดยที่ลูกไม่ดูดเลย ก็จะทำให้น้ำนมพุ่งแรงและอาจมีปัญหาคัดเต้านมได้

สลับให้ลูกดูดนมทั้งสองข้าง

เพื่อไม่ให้เต้านมข้างใดข้างหนึ่งเกิดการคัดตึงจนเกินไป

ควรจับลูกเรอทุกครั้ง

หลังจากให้นมลูกเสร็จ เพราะเมื่อลูกต้องดูดนมแรงและเร็ว จะทำให้ลูกดูดเอาอากาศเข้าไปเยอะ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรจับให้ลูกเรอบ่อยๆ

การมีน้ำนมเยอะจนเพียงพอต่อความต้องการของลูกถือเป็นเรื่องดี เชื่อว่าแม่ที่ตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็คงเบาใจไปได้หนึ่งข้อ แต่อาจจะต้องปรับเรื่องของปริมาณน้ำนม ท่าการให้นม และหมั่นจับลูกเรอ เพื่อให้น้ำนมของแม่ปรับมาอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม และลูกก็จะได้เรียนรู้การดูดนมที่ถูกต้อง อาการลูกสำลักนมก็จะหายไปค่ะ เมื่อต่างฝ่ายต่างเรียนรู้และปรับตัวเข้าหากัน สักพักก็จะรู้จังหวะที่สมดุลระหว่างกันได้นั่นเองค่ะ

Exit mobile version