Site icon simplymommynote

ลูกติดหวาน ส่งผลเสียอย่างไร พร้อมแนวทางการปรับพฤติกรรม

ลูกติดหวาน ส่งผลเสียอย่างไร พร้อมแนวทางการปรับพฤติกรรม-01

ของหวานกับเด็กเป็นของคู่กัน เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ก็คงเห็นว่าถ้าเป็นขนมหรือของหวานลูกจะชอบมากเป็นพิเศษ เห็นลูกกินไป มีความสุขไปก็ดีใจ จึงปล่อยให้ลูกกินขนมหรือของหวานตามใจปาก กว่าจะมารู้ตัวอีกทีว่า “ลูกติดหวาน” ไปแล้ว ผลเสียก็ปรากฏออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัดแล้ว ซึ่งบางครั้งก็สายเกินแก้

อาหารเสริมเด็กไม่ควรปรุงรส เพราะอะไร?

ด้วยทารกแรกเกิดลิ้นของเขายังไม่รู้จักกับรสชาติใด ๆ ยกเว้นรสชาติและกลิ่นน้ำนมของแม่ ดังนั้น จึงได้มีการรณรงค์ให้ทารกแรกเกิด – 6 เดือนกินแต่นมแม่อย่างเดียว ผนวกกับนมแม่เป็นอาหารที่ดีและเหมาะกับทารกที่สุดแล้ว เนื่องจากน้ำนมแม่ย่อยง่ายและได้สารอาหารสำคัญครบถ้วน

เมื่อลูกมีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป จึงให้ทานอาหารเสริมได้ โดยเน้นอาหารที่มีประโยชน์จากธรรมชาติ ไม่ผ่านการปรุงรสใด ๆ เพื่อป้องกันทารกติดรสชาติหรือติดหวาน เมื่อโตขึ้นลูกจะกลายเป็นเด็กกินยาก เลือกกิน สุดท้ายร่างกายเด็กจะขาดสารอาหาร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ รวมไปถึงด้านต่าง ๆ อีกด้วย

ลูกติดหวาน แต่ละช่วงวัย

การติดหวานก็สามารถแบ่งออกได้เป็นแต่ละช่วงวัย ดั้งนี้

วัยแรกเกิด – 1 ปี

เด็กในวัยนี้ส่วนใหญ่จะติดหวาน เนื่องจากเด็กทารก 50% ที่ไม่ได้กินนมแม่ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม จึงต้องหันมาให้นมผงดัดแปลงกับลูกแทน ถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดมาตรการออกมาแล้วก็ตามว่า “ห้ามเติมน้ำตาลในนมผง” แต่จะสามารถเติมน้ำตาลได้ในนมเด็กที่มีอายุ 6 เดือน ขึ้นไป เมื่อเด็กมีโอกาสได้เริ่มรสหวานตั้งแต่อายุ 6 เดือน ถือว่าเป็นการเริ่มที่รวดเร็วมาก ดังนั้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่จำเป็นที่จะต้องให้นมผงกับลูก ควรเน้นสูตรที่ไม่เติมน้ำตาลจะดีที่สุดค่ะ

วัย 1 ปี ขึ้นไป

สืบเนื่องมาจากการที่ลูกได้มีโอกาสรับรสหวานมาแล้วก่อนหน้านี้จากนมผงดัดแปลง มาในวัยนี้ลูกก็จะเริ่มติดอาหารที่มีรสหวานแล้วค่ะ เช่น ช็อกโกแลต ลูกอม ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ น้ำหวาน และน้ำอัดลม เป็นต้น หากวันไหนไม่กินลูกลูกรู้สึกเหมือนขาด ๆ อะไรไป จึงกลายเป็นต้องกินของหวานทุกวันจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปเลย พฤติกรรมเหล่านี้เรียกได้ “ลูกติดหวานเต็มรูปแบบ”

วัย 3 ปี ขึ้นไป

เด็กในวัยนี้เป็นวัยช่างจด ช่างจำ การที่คุณพ่อคุณแม่ทำอะไร คิดอย่างไร ลูกสามารถรับรู้ได้หมดค่ะ วัยนี้เป็นวัยแห่งการลอกเลียนแบบ โดยเฉพาะพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อกินอะไร คุณแม่ดื่มอะไร ดังนั้น การเป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูกจึงเป็นสิ่งสำคัญค่ะ

อันตรายจากลูกติดหวาน

เข้าใจว่าในฐานะคุณพ่อคุณแม่คงพอทราบกันมาบ้างว่าการที่ลูกติดหวานจะส่งผลเสีย ซึ่งวันนี้โน้ตขอรวบรวมมาให้ดูกันนะคะว่า ส่งผลเสียในด้านใดบ้าง

เสี่ยงต่อโรคร้ายแรง

การที่ลูกชอบกินหวานนั้น โดยมากแล้วเกิดจากการเลี้ยงดูค่ะ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูเป็นคนที่หยิบยื่นให้ เพราะหากลูกได้รับรู้รสชาติหวานเร็วเท่าไหร่ลูกก็จะติดรสชาติหวานเร็วมากขึ้นเท่านั้น และมีแนวโน้มที่จะเป็นคนติดหวานมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคได้หลาย ๆ โรค อาทิ โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งอาการที่ร้ายแรงที่สุด คือ ไตวาย

เป็นโรคเบาหวาน

“น้ำตาล” เป็นความหวานที่ให้เฉพาะพลังงานเท่านั้น ซึ่งหากเมื่อไหร่ก็ตามที่ร่างกายไม่สามารถขับออกได้ นั่นหมายถึงการเป็นโรคเบาหวาน

ฟันผุก่อนวัยอันควร

เมื่อปลายเดือน มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ได้เปิดเผยว่า อัตราของเด็กไทยมีสถิติฟันผุสูง โดยที่เด็ก…

จากการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ปี 2560 พบว่า เด็กอายุ 3 ปี มีฟันผุสูงถึงร้อยละ 53 เด็กอายุ 5 ปี มีฟันผุร้อยละ 76 และเด็กอายุ 12 ปี มีฟันถาวรผุร้อยละ 52 ผลการศึกษาด้านพัฒนาการเด็กปฐมวัย พบว่า เด็กที่ไม่มีปัญหาสุขภาพช่องปาก มีโอกาสที่จะมีพัฒนาการสมวัยเพิ่มขึ้น 1.43 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่มีปัญหาสุขภาพช่องปาก และจากการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพช่องปาก พบว่า เด็กวัยเรียนแปรงฟันหลังอาหารกลางวันทุกวันเพียงร้อยละ 30 สะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมการแปรงฟันหลังอาหารกลางวันที่โรงเรียนมีเด็กเข้าร่วมกิจกรรมน้อย

tcijthai.com

โรคอ้วน

ด้วยความหวานจะทำให้ลูกรู้สึกหิวอยู่ตลอดเวลา กินเท่าไหร่ก็ไม่รู้สึกอิ่มสักที ยังกินอาหารอื่น ๆ ได้อีกเรื่อย ๆ นี่จึงเป็นเหตุให้เด็กเป็นโรคอ้วนนั่นเอง

ส่งผลกระทบทางจิตใจ

เมื่อเด็กได้รับผลเสียและผลกระทบทางร่างกาย อย่างโรคอ้วน อาจถูกเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนล้อเลียน หรือแกล้ง ส่งผลกระทบต่อจิตใจเด็กได้ เมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ เหล่านี้จะสะสมเป็นปมในใจเด็ก ทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน และกลายเป็นเด็กที่ไม่ร่าเริงสดใส เก็บตัวอยู่คนเดียว

วิธีการปรับพฤติกรรมลูกติดหวาน

เข้าใจว่าบางครอบครัวมีลูกติดหวานไปแล้ว แต่ไม่ต้องกังวลค่ะ ปัญหานี้สามารถจัดการได้ด้วยการปรับพฤติกรรมลูกทีละน้อย ค่อยเป็นค่อยไป ดังนี้ค่ะ

ทำข้อตกลงที่ชัดเจน

เน้นการให้กำลังใจ และชี้ชวนให้ลูกได้รู้จักข้อเสียของการกินหวานมาก ๆ และพูดให้ฟังถึงประโยชน์ของการลดหวาน หรือการควบคุมความหวาน

ชมเชยลูกเมื่อลูกลดหวาน

เมื่อลูกพยายามกินอาหารที่มีประโยชน์ ลดความหวาน หรือสามารถเลิกการกินหวานได้ ให้คุณพ่อคุณแม่พูดชื่นชมลูกด้วยนะคะ เพื่อให้ลูกได้มีกำลังใจ และมั่นใจว่าตัวเองมาถูกทาง

ไม่บังคับลูก

จากที่ลูกติดหวานจะให้เลิกหวานในวันรุ่งขึ้นเลยคงเป็นเรื่องที่ยาก ไม่ควรบังคับลูกหากในช่วงแรก ๆ ลูกยังปรับตัวไม่ได้

ทุกคนต้องร่วมมือกัน

ควรอธิบายสาเหตุที่ต้องปรับพฤติกรรมลูกกินหวานให้ผู้ใหญ่ในบ้านทราบด้วยนะคะ เพราะไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ให้กินหวาน ในขณะที่คนอื่นยื่นหวานให้

อย่าใจอ่อน

ด้วยสายตาที่อ้อนวอนของลูก อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่ใจอ่อนได้ หากคุณพ่อคุณแม่ใจอ่อน จะทำให้ลูกไม่สามารถเลิกกินหวานได้ค่ะ

เปลี่ยนอาหารว่าง

เปลี่ยนเมนูอาหารว่างให้เป็นผลไม้ที่มีประโยชน์แทน ซึ่งผลไม้ไม่ควรเป็นผลไม้ที่มีปริมาณน้ำตาล หรือแป้งสูง

ปรับวิธีการปรุงอาหารใหม่

ปรับลดเครื่องปรุงอาหาร ใช้ให้น้อยลง อาจจะค่อย ๆ ปรับลดก็ได้นะคะ เพื่อให้ลูกได้ใช้เวลาในการปรับตัวด้วยค่ะ

พ่อแม่เป็นต้นแบบที่ดี

คุณพ่อคุณแม่คือ ต้นแบบที่ดีของลูก ลูกพร้อมจะเลียนแบบพฤติกรรมจากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ แต่การทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่างอาจไม่พอสำหรับเด็กที่ติดหวานไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้เรื่องการอธิบายให้ฟัง เป็นการประกอบกันไปด้วยนะคะ

การปรับพฤติกรรมเด็กติดหวานสามารถทำได้ค่ะ เพียงแต่ต้องอาศัยระยะเวลากันสักนิด เพื่อสุขภาพกาย และสุขภาพใจที่ดีของลูกนะคะ

Exit mobile version