คุณพ่อคุณแม่เคยได้ยินประโยคที่คนพูดว่า “ทำไมคนเราเดี๋ยวนี้ไม่มี Common Sense เอาเสียเลย” ไหมคะ แล้ว Sense ที่ดี ที่ทำให้เราสามารถคิดกับเรื่องง่าย ๆ และตัดสินใจได้อย่างแม่นยำนั้นสามารถพัฒนากันได้อย่างไร วันนี้จะพาคุณพ่อคุณแม่ไปรู้จักกับ 7 Senses ที่สำคัญจากทั้งหมด 12 Senses ที่เมื่อถูกกระตุ้นอย่างเหมาะสมสำหรับเด็กด้วยศิลปะ (ความจริงแล้วสามารถกระตุ้นผ่านการเลี้ยงดูได้ทั้งหมด) จะทำให้เด็กคนหนึ่งสามารถเติบโตบนโลกของความจริงได้อย่างมีความยืดหยุ่น มีความมั่นคงภายในตัวเอง และมีความเข้าใจทั้งโลกภายในและโลกภายนอกได้อย่างดี
7 Senses คืออะไร?
7 Senses หรือ 7 ผัสสะ คือ ผัสสะการรับรู้ทั้ง 7 ระดับ ที่กำลังจะกล่าวถึงนี้มาจากทั้งหมด 12 ผัสสะ ทางการแพทย์แนวมนุษยปรัชญาใช้ทำงานกับเด็กที่มีความติดขัดบางประการ หรือมีความบกพร่องทางสมอง เพราะไม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการผ่านทางสมองได้เพียงอย่างเดียว 12 ผัสสะนี้จึงเป็นช่องทางที่ทำให้แพทย์สามารถเข้าไปทำงานกระตุ้นพัฒนาการเด็กคนหนึ่งที่ติดขัด ให้มีพัฒนาการที่เพิ่มมากขึ้น และอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างมีความสุขขึ้น
7 Senses แบ่งออกได้กี่ช่วง
เนื่องจาก 7 Senses เป็นส่วนหนึ่งจาก 12 Senses ซึ่งส่วนนี้จะขอพูดรวมทั้ง 12 Senses นะคะ โดย senses ทั้งหมดสามารถ แบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง ดังนี้
ช่วงแรกพัฒนา Lower Senses
สามารถสร้างประสบการณ์ผ่านร่างกายในช่วงวัย 0-7 ปี กับ 4 Senses พื้นฐานแรก คือ Sense of Touch , Sense of Life , Sense of Movement และ Sense of Balance
ช่วงที่สองพัฒนา Middle Senses
สามารถสร้างประสบการณ์ผ่านจิตใจในช่วงวัย 7-14 ปี กับ 4 Senses คือ Sense of Smell , Sense of Taste , Sense of Sight และ Sense of Warmth
ช่วงที่สามพัฒนา Higher Senses
สามารถสร้างประสบการณ์ผ่านจิตวิญญาณในช่วงวัย 14 – 21 ปี กับ 4 Senses คือ Sense of Hearing , Sense of Language , Sense of Thought และ Sense of Self
7 Senses กระตุ้นพัฒนาการเด็กผ่านศิลปะ
เมื่อพูดถึงคำว่า “ผัสสะ” ความเข้าใจของหลาย ๆ คน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ แต่ทางการแพทย์แนวมนุษยปรัชญามีการแบ่งผัสสะที่ละเอียดลงไปกว่านั้น เพื่อให้ผู้ดูแลเด็กสามารถเลี้ยงดูและสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อการเติบโตสำหรับเด็กได้อย่างแข็งแรงและมั่นคงทั้งภายใน (จิตใจ) และภายนอก (ร่างกาย) แต่วันนี้เราจะ กระตุ้นผัสสะ 7 Senses ของเด็กผ่านศิลปะ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ค่ะ
ผัสสะที่รับรู้ทางกายสัมผัส (Sense of Touch)
ทารกจะเริ่มถูกกระตุ้นการมีตัวตน หรือมีร่างกายครั้งแรกจากประสบการณ์ถูกบีบรัดผ่านทางช่องคลอด ต่อมาเป็นการกอด อุ้ม ให้นมจากเต้า และสัมผัสอื่น ๆ ที่สามารถสร้างประสบการณ์ให้เด็กรับรู้ถึงการมีชีวิต มั่นคง และไว้วางใจต่อโลก
ศิลปะอย่างการระบายสีน้ำก็ช่วยให้เด็กโอบรับสีเหล่านั้นเข้ามาประทับในใจ ทำให้สีเข้าไปทำงานและเชื่อมโยงกับร่างกายและจิตใจ เช่น เด็กบางคนระบายสีแดง หรือส้มจะทำให้ใจเต้นแรง หายใจเร็วขึ้น รู้สึกมีความกระตือรือร้น เป็นต้น
ผัสสะแห่งการเคลื่อนไหว (Sense of Movement)
เด็กจะค่อย ๆ เรียนรู้ผัสสะนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเป็นทารกก็เริ่มค้นพบว่าตัวเองกรอกตาไปมาได้ หันหน้าไปหาแม่ได้ เรื่อยมาจนเคลื่อนไหวแขนขา ชูคอ คว่ำ นั่ง เกาะยืน เดิน วิ่ง ซึ่งหากไม่ได้รับการสนับสนุนให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเหมาะสมและเพียงพอ เช่น บังคับให้เด็กเล็กนั่งเรียนหน้าจอนาน ๆ เมื่อโตไปแล้วจะเกิดความรู้สึกว่า ฉลาดแล้ว ทำงานแล้ว ประสบความสำเร็จแล้ว แต่ตอบไม่ได้ว่าเกิดมามีเป้าหมายอะไร ทำให้เหมือนอยู่ไปวัน ๆ
หากมองให้ลึกไปกว่านั้น ผัสสะนี้นอกจากเชื่อมโยงกับจิตใต้สำนึกแล้ว ยังผูกพันกับ Destiny ของชีวิตด้วย ซึ่งนับเป็น Common Sense ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของเด็กคนหนึ่งที่จะเติบโต หากคุณพ่อคุณแม่จัดกิจกรรมศิลปะที่ถูกต้องลูกก็จะได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างอิสระ เช่น ปัดป้ายพู่กัน หรือการขีดเขียนสีช็อคในบรรยากาศที่เป็นอิสระ เป็นต้น
ผัสสะการทรงตัว (Sense of Balance)
เด็กจะมีพัฒนาการโดยเริ่มทรงตัวนั่ง ยืน และเดินได้ตามลำดับ ทางการแพทย์รู้ดีว่าเมื่อเด็กคนหนึ่งสามารถยืนตรงได้จะนำไปสู่ทักษะด้านภาษาอย่างก้าวกระโดด นั่นคือการพูด ถือเป็นประตูบานแรกสู่ความเป็นมนุษย์ เมื่อโตไปผัสสะนี้จะเชื่อมโยงกับทักษะการพูดและการฟัง ซึ่งศิลปะสามารถช่วยกระตุ้นผัสสะนี้เมื่อเด็กได้ทำงานบนกระดาษอย่างอิสระ โดยเรียนรู้ว่าภาพกระดาษส่วนไหนที่ยังขาดบางสิ่งบางอย่างไป ก็จะแต้มพู่กันลงไปเพิ่ม หรือระบายสีช็อคลงไปยังตำแหน่งที่มองว่ายังขาดหาย
ผัสสะการรู้กลิ่น (Sense of Smell)
4 ผัสสะจากนี้เป็นผัสสะที่เข้าไปทำงานโดยตรงกับอารมณ์และความรู้สึกในช่วงวัย 7-14 ปี ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้ว่าลูกเริ่มรัก เกลียด โกรธแสดงออกอย่างชัดเจน เช่น ไม่ชอบครูคนนี้ก็จะพาลไม่อยากเรียนวิชานั้นไปด้วย จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่มีส่วนสำคัญในการกล่อมเกลาให้เขาสามารถก้าวผ่านสภาวะเหล่านี้ไปได้
ผัสสะการรู้กลิ่นเป็นผัสสะที่เชื่อมตรงไปที่จิตใจของเราโดยตรงอย่างที่ความคิดเชิงตรรกะไม่สามารถแทรกแซงการทำงานได้เลย จะเห็นได้จากเวลาคนหมดสติเมื่อดมกลิ่นแอมโมเนียจะรู้สึกตัวขึ้นทันที ซึ่งผัสสะยังรวมไปถึงการรู้กลิ่นการเอาตัวรอด ทำให้ Common Sense แยกแยะสิ่งดีสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นรอบตัวได้ เวลาที่เด็กทำกิจกรรมศิลปะ Sense นี้ก็ถูกกระตุ้นได้เช่นกัน เช่น เวลาที่เด็กระบายสีน้ำ อาจทำให้นึกถึงกลิ่นดอกไม้ หรือบรรยากาศที่เขาประทับใจแล้วระบายภาพออกมาเป็นบรรยากาศความรู้สึกเหล่านั้น โดยที่ไม่ได้ฉายภาพออกมาเป็นรูปทรง (Figure)
ผัสสะการรับรส (Sense of Taste)
ผัสสะนี้นอกจากเกี่ยวข้องกับการรับรส แล้วยังรวมไปถึงรสนิยมในการเลือกสิ่งต่างๆในชีวิต อาทิ เครื่องแต่งกาย Lifestyle ที่อยู่อาศัย เป็นต้น ทำให้เลือกอย่างมีรสนิยมแม้สิ่งของเหล่านั้นจะราคาไม่แพงแต่สามารถจัดวางกันแล้วดูดี มีราคา หรือมี Common Sense ที่รู้จักการเลือกสิ่งที่ดี และสิ่งที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของตัวเอง บ่อยครั้งที่เด็กแสดงความรู้สึกออกมาขณะระบายสีไปกับสีสันที่สดใส เช่น พูดถึงอาหารหรือผลไม้ที่นึกถึงขึ้นมาในขณะนั้น หรือเผลอเลียริมฝีปากขณะระบายสี เป็นต้น
ผัสสะการมองเห็น (Sense of Sight)
ผัสสะนี้ไม่ใช่แค่เพียงการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ให้ชัดเจน เพราะผัสสะนี้หากไม่ได้รับการฝึกฝนที่ดีจะทำให้ความคิดเข้าไปทำงานแทรกแซงอยู่เสมอ จึงทำให้คนเราไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆได้ตามที่มันควรจะเป็น เด็กปัจจุบันจึงมีความฝันอยากเป็นดารากันมาก เพราะเห็นแค่ความสวยงาม แต่ไม่ได้ฝึกการมองเห็นถึงคุณค่าภายใน ดังนั้น สีสันของธรรมชาติและศิลปะจะเป็นประโยชน์ต่อผัสสะนี้ของเด็กมาก ทำให้เด็กได้ลงมือทำและเชื่อมโยงกับการไม่ตัดสินจากภายนอกเพียงอย่างเดียว
ผัสสะความอุ่น (Sense of Warmth)
ร่างกายของคนเรารับรู้ถึงความเย็น-ความร้อนจากประสาทรับสัมผัสทั่วร่างกาย แต่ผัสสะนี้ทำงานลึกไปถึงจิตใจมากกว่านั้นคือเมื่อเด็กคนหนึ่งได้รับความสนใจและการตอบสนองที่ดีจากคุณพ่อคุณแม่ เด็กจะรู้สึกถึงการไหลเข้ามาของความร้อน จึงรู้สึกอบอุ่น ทางตรงข้ามหากเด็กไม่ได้รับความสนใจ และได้รับปฎิกิริยาที่เฉยชา เขาจะรู้สึกถึงการไหลออกหรือสูญเสียความร้อน จึงรู้สึกเย็น โดดเดี่ยว และด้านชาไปในที่สุด ซึ่งเด็กที่ระบายสีนำ้ในกิจกรรมศิลปะที่เหมาะสม สีสันบนกระดาษจะไหลเวียนเข้าสู่ความรู้สึกของเขาด้วย ทำให้เขารู้สึกอุ่นหรือเย็นได้จากกระบวนการศิลปะ
7 Senses สามารถถูกกระตุ้นได้จากศิลปะและอีกหลายกิจกรรม รวมถึงการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งสามารถศึกษาเพิ่มเติม ทั้ง 12 Senses จากหนังสือ : 12 Senses เลี้ยงลูกให้มีพัฒนาการ จะทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจการพัฒนา Senses ในแต่ละช่วงวัยได้ละเอียดมากขึ้น เพื่อมุ่งให้ลูกโตไปมี Common Sense ที่ดี และมี 21 Century Skills ไว้รองรับโลกอนาคตกันค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง
- หนังสือ 12 Senses เลี้ยงลูกให้มีพัฒนาการ โดย นายแพทย์ทัปทัศน์ ชุณหสวัสดิกุล (หมอปอง)
- หนังสือ สีสันความงามแห่งชีวิต แนวทางศิลปะเพื่อรากฐานชีวิตสำหรับเด็ก โดย อนุพันธุ์ พฟกษ์พันธ์ขจี