การที่คุณพ่อคุณแม่จะปลูกฝังสิ่งที่ดี ๆ ให้กับลูกได้นั้นสามารถที่จะทำได้หลากหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการบอกปากเปล่า การลงมือทำให้ดู หรือรวมไปถึงการอ่านนิทานให้ลูกฟัง ซึ่งการอ่านนิทานนั้นสามารถทำได้ตั้งแต่เจ้าตัวเล็กยังอยู่ในท้องจนโต ถึงแม้ว่าจะมีแม่ ๆ หลายคนคิดว่าลูกยังเล็กเกินไปที่จะอ่านหนังสือให้ฟัง หรืออ่านให้ลูกฟังลูกก็คงไม่สนใจ แต่จริง ๆ แล้วการอ่านนิทานให้ลูกฟังมีประโยชน์มากกว่าที่คิดเอาไว้ วันนี้เรามีเทคนิคดี ๆ ที่จะทำให้ลูกรู้สึกสนใจขณะที่อ่านนิทานมาฝากกันค่ะ
อ่านนิทานให้ลูกฟัง เริ่มเมื่อไหร่ดี?
การอ่านนิทานให้ลูกฟังควรเริ่มตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้อง เพราะนิทานเป็นเครื่องมือที่ใช้กระตุ้นอารมณ์ สมอง และที่สำคัญคือทางด้านภาษา ยิ่งอ่านนิทานให้ลูกได้ฟังเร็วเท่าไหร่ลูกจะยิ่งได้รับคำศัพท์เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น การอ่านนิทานจะทำให้ลูกเกิดการเรียนรู้ กระตุ้นพัฒนาการมากยิ่งขึ้น แถมยังทำให้ลูกสามารถที่จะพูดสื่อสารกับพ่อแม่ได้เร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย
ประโยชน์จากการอ่านนิทานให้ลูกฟัง
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าการอ่านนิทานให้ลูกฟังตั้งแต่เนิ่น ๆ นั้นมีประโยชน์อย่างไรบ้าง จริง ๆ แล้วการอ่านนิทานเป็นมากกว่าการเสริมสร้างความรู้ จะมีประโยชน์ด้านใดบ้างไปชมกันเลยค่ะ
ได้ผจญภัยไปกับพ่อแม่
การอ่านนิทานในช่วงเวลาเดิมทุก ๆ วันจะเป็นการสร้างความตรงต่อเวลาให้ลูกได้ซึมซับ เวลาที่ควรอ่านมากที่สุดคือช่วงก่อนนอน เพราะเป็นช่วงเวลาที่พ่อหรือแม่จะจดจ่ออยู่แค่กับนิทานและลูก ทำให้ลูกรู้สึกและสัมผัสได้ว่าแม่นั้นมีอยู่จริง
ได้ผจญภัยไปกับจิตใต้สำนึก
หนังสือนิทานทุก ๆ เล่มมักจะมีการแฝงเรื่องราว ความรู้ การพจญภัย ด้านดี ด้านที่สมหวัง รวมไปถึงด้านที่ผิดหวังก็มีได้ในหนังสือนิทาน หรือนิทานบางเรื่องที่เป็นด้านมืดยังคงเต็มไปด้วยความรู้มากมายให้เด็กได้เรียนรู้
เสริมสร้างกลไกความคิด
ในช่วง 1-2 ปีแรกเซลล์สมองจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทุก ๆ วัน เพื่อให้สมองได้ถูกกระตุ้นแบบถูกต้องคุณพ่อคุณแม่ควรอ่านนิทานให้ลูกฟังเพื่อให้เซลล์สมองได้แตกเป็นร่างแหออกมา ถึงแม้ว่านิทานที่ใช้อ่านจะเป็นเล่มเดิมแต่ความคิดของลูกจะเปลี่ยนแปลงไปในทุก ๆ วัน
เทคนิคการเลือกหนังสือนิทานให้เหมาะกับช่วงวัย
การอ่านนิทานให้ลูกฟังสิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงเลยก็คือการเลือกหนังสือนิทานที่เหมาะสมกับวัยของลูก
ช่วงตั้งครรภ์
ในช่วงที่ลูกยังอยู่ในท้องไม่จำเป็นที่จะต้องอ่านนิทานให้ลูกฟังแล้วเกิดความเข้าใจ เพราะลูกจะได้ยินเสียงอู้อี้ไม่ชัดมากเท่าไรนัก แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นคือความผูกพันระหว่าพ่อ แม่และลูก
ช่วง 0-4 เดือนแรก
ดวงตาของลูกจะยังไม่สามารถมองสีหลาย ๆ สีในเวลาเดียวกัน จะสามารถมองสีขาวดำหรือสีอื่น ๆ ที่ตัดกันได้ หนังสือนิทานที่ควรเลือกมาอ่านให้ลูกฟังควรจะเป็นหนังสือที่มีสีสันไม่มากนัก เป็นสีขาวตัดดำจะทำให้ลูกรู้สึกสนใจมากยิ่งขึ้น
ช่วง 5-12 เดือน
ในช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยของการอยากรู้อยากลอง ลูกจะเริ่มอม ฉีก ขว้าง ปา สิ่งที่อยู่ตรงหน้า หนังสือนิทานที่ควรนำมาอ่านให้ลูกฟังต้องเป็นหนังสือที่ไม่ได้ทำจากกระดาษบาง ต้องมีความหนา แข็งแรง หรือจะเลือกใช้หนังสือที่ทำจากผ้าก็ได้เช่นเดียวกัน
ช่วง 1-3 ปี
ช่วงวัยก่อนเข้าโรงเรียนนี้จะสามารถเห็นสีสีนได้อย่างชัดเจนและชื่นชอบอะไรที่มีสีสันสดใน แต่ในหนังสือนิทานตัวหลักต้องเด่นออกมาจากฉากหลังเด็ก ๆ ถึงจะให้ความสนใจ
ช่วง 4-6 ปี
ในช่วงนี้เป็นช่วงที่ลูกเข้าโรงเรียนอย่างเต็มตัว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะทำเมื่ออ่านนิทานให้ลูกฟังเสร็จคือการสังเกตและตั้งคำถามไม่ว่าจะเป็นการสังเกตว่าลูกมีความอดทนที่จะฟังจนจบหรือไม่ หรือจะเป็นการตั้งคำถามปลายเปิดให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นเมื่อฟังนิทานจนจบ
ช่วง 7-8 ปี
เข้าสู่ช่วงวัยที่ลูกจะเปลี่ยนจากผู้ฟังมาเป็นผู้อ่าน เมื่อลูกอ่านออกเสียงได้ช้านั่นไม่ได้แสดงว่าลูกอ่านไม่ได้หรืออ่านไม่ออก ให้ลูกได้ลองสะกดคำเองเพื่อเป็นการฝึกฝน หนังสือนิทานควรให้ลูกเป็นคนเลือกเองตามความชอบ
ช่วง 9-12 ปี
การอ่านของเด็กวัยนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปเพราะเด็กจะเริ่มไม่อ่านนิทานแต่จะหันมาอ่านการ์ตูนที่มีเนื้อหาออกแนวพจญภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งบางครั้งพ่อแม่อาจจะต้องอยู่ข้าง ๆ ในช่วงที่ลูกอ่านหนังสือเพื่อให้เขารู้สึกว่ามีพ่อแม่อ่านเป็นเพื่อน
หัวใจสำคัญจากการ อ่านนิทานให้ลูกฟัง
การที่คุณพ่อคุณแม่อ่านนิทานให้ลูกฟังนั้นนับว่าเป็นเรื่องที่ดีในการพัฒนา EF (EF = Executive Function) หรือเป็นการพัฒนาสมองส่วนหน้าที่มีผลต่อการแสดงอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด การกระทำในรูปแบบต่าง ๆ รวมไปถึงความสำเร็จในหลาย ๆ ด้าน เรียกได้ว่าการพัฒนา EF จะเป็นผลส่งต่อไปถึงการพัฒนา IQ และ EQ ต่อไป
ถึงแม้ว่าการอ่านนิทานให้ลูกฟังในช่วงแรก ๆ ลูกอาจจะไม่อยู่นิ่งเท่าไรนัก แต่ตามธรรมชาติแล้วถึงตาลูกจะไม่ได้ดูแต่หูของเขายังฟังอยู่ตลอดเวลา เมื่ออยากให้ลูกสนใจมากยิ่งขึ้นอาจจะให้เขาทำการเลือกหนังสือนิทานในแบบที่เขาชอบเองเพื่อให้คุณพ่อหรือคุณแม่อ่านให้ฟังในทุก ๆ วัน เพียงเท่านี้ลูกก็จะได้รับการพัฒนา EF แบบเต็มรูปแบบ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- 13 หนังสือนิทานอีสป 2 ภาษา ปลูกฝังทั้งคุณธรรม ทั้งภาษา
- 10 หนังสือนิทาน ที่ได้รางวัลกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับเด็กวัย 3 เดือน – 6 ปี