ฮอร์โมนแปรปรวน เสี่ยงท้องยาก เพราะอะไร? พร้อมวิธีปรับฮอร์โมน
หลายครอบครัวที่กำลังวางแผนอยากมีลูกสักคนแต่ติดอยู่ที่ปัญหาของคุณแม่นั้นมีฮอร์โมนแปรปรวน ฮอร์โมนเป็นสารเคมีที่อยู่ในร่างกายโดยถูกสร้างขึ้นมาจากเซลล์ในต่อมไร้ท่อต่าง ๆ ซึ่งฮอร์โมนแต่ละชนิดก็มีหน้าที่แบบเฉพาะตัว ลำเลียงไปด้วยกระแสเลือดและไปกำหนดอวัยวะต่าง ๆ ว่าต้องทำอะไร ไม่ว่าจะเป็น อารมณ์ทางเพศ เผาผลาญพลังงาน ความรู้สึกต่าง ๆ ถ้าหากว่ามีฮอร์โมนชนิดใดที่ผิดปกติไปก็อาจจะทำให้ร่างกายนั้นเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นเดียวกัน
ฮอร์โมนที่มีผลต่อการตั้งครรภ์?
ฮอร์โมนที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ของคุณแม่โดยทั่วไปแล้วมีอยู่ประมาณ 6 ชนิด ซึ่งถ้าเกิดฮอร์โมนแปรปรวนไม่ว่าจะตัวใดตัวหนึ่งก็อาจจะทำให้เกิดความผิดปกติได้ เมื่อทำการพบแพทย์แล้วคุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจจะต้องทำการปรับฮอร์โมนเพื่อที่จะได้มีลูกน้อยตามที่ใจหวัง
Human Chorionic Gonadotropin: HCG
ฮอร์โมนฮิวแมนคอริโอนิกโกนาโดโทรฟินหรือฮอร์โมน HCG เป็นฮอร์โมนที่พบได้ในร่างกายของคุณแม่ช่วงตั้งครรภ์เท่านั้น โดยส่วนมาแล้วในช่วงแรกของการตั้งครรภ์จะพบอยู่ในปัสสาวะหรือเลือดของคุณแม่ แต่เมื่อเข้าสู่ไตรมาสอื่น ๆ ของการตั้งครรภ์ฮอร์โมนชนิดนี้จะถูกพบในรก อาการคลื่นไส้อาเจียนที่คุณแม่พบเจอระหว่างตั้งครรภ์นั้นเกิดขึ้นจากฮอร์โมน HCG นั่นเอง
Human Placental Lactogen: HPL
ฮอร์โมนฮิวแมนพลาเซ็นตัลแลคโทเจนหรือฮอร์โมน HPL เป็นฮอร์โมนที่ถูกพบในรกของคุณแม่เช่นเดียวกัน ซึ่งหมายความว่าจะพบได้ในขณะที่ตั้งครรภ์เพียงเท่านั้น ทำหน้าที่ส่งอาหารเพื่อไปเลี้ยงดูทารกในครรภ์และหน้าที่สำคัญกว่านั้นคือ ฮอร์โมนชนิดนี้ทำหน้าที่กระตุ้นต่อมน้ำนมเพื่อให้พร้อมต่อการเลี้ยงดูลูกน้อย
ฮอร์โมนโปรแลคติน
ฮอร์โมนตัวนี้ทำหน้าที่ผลิตน้ำนมของคุณแม่ ในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์อยู่ ฮอร์โมนชนิดนี้จะมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% จากช่วงปกติเลยทีเดียว
ฮอร์โมนเอสโตรเจน
หนึ่งในฮอร์โมนที่พบเจอได้ในเฉพาะเพศหญิงซึ่งมีหน้าที่พัฒนาระบบสืบพันธุ์ต่าง ๆ ในร่างกาย โดยส่วนใหญ่แล้วจะถูกผลิตออกมาจากรังไข่แต่เมื่อคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์จะมีฮอร์โมนตัวนี้จากรกด้วยเช่นเดียวกัน
ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน
การทำหน้าที่ของฮอร์โมนตัวนี้จะคล้าย ๆ กับฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่ความแตกต่างกันก็คือฮอร์โมนตัวนี้จะคอนทำหน้าที่สร้างผนังมดลูกให้หนาขึ้นด้วย
ฮอร์โมนออกซิโทซิน
ฮอร์โมนสำคัญในช่วงตั้งครรภ์คือฮอร์โมนออกซิโทซินเพราะฮอร์โมนตัวนี้ทำหน้าที่บังคับกล้ามเนื้อของมดลูกให้บีบรัดมากขึ้น เป็นตัวช่วยในขั้นตอนการคลอดลูก
ฮอร์โมนแปรปรวน เกิดจากอะไร?
เหตุผลที่ทำให้เกิดฮอร์โมนแปรปรวนแบ่งออกเป็นหลาย ๆ สาเหตุ ซึ่งไม่ว่าฮอร์โมนชนิดใดเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยก็จะทำให้เกิดการแปรปรวนได้เช่นเดียวกัน
ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol)
เมื่อคุณแม่นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอฮอร์โมนตัวนี้มักจะมีอาการแปรปรวนเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอก็จะทำให้ประจำเดือนคลาดเคลื่อนได้เช่นเดียวกัน
ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin)
เมื่อรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงฮอร์โมนตัวนี้จะเกิดอาการแปรปรวนขึ้นได้ จนไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของร่างกายได้
ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen)
ในช่วงที่เป็นประจำเดือนฮอร์โมนตัวนี้จะแปรปรวนทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์หงุดหงิด อาการปวดท้อง อาการปวดศีรษะ รวมไปถึงการคลื่นไส้ด้วยเช่นเดียวกัน
ฮอร์โมนเอ็นโดรฟิน (Endorphin)
ฮอร์โมนชนิดนี้มักจะเกิดขึ้นหลังจากการออกกำลังกาย เมื่อเราออกกำลังกายเสร็จจะรู้สึกผ่อนคลายมากกว่าที่จะรู้สึกเหนื่อย
อาการ ฮอร์โมนแปรปรวน
เมื่อฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวนไปจากเดิมหรือมีความผิดปกติ ไม่ว่าจะแปรปรวนมากหรือน้อยก็นับว่าเป็นความผิดปกติทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่นเดียวกัน ซึ่งอาการที่แสดงให้เห็นว่าฮอร์โมนแปรปรวนมีดังนี้
ตกขาวเยอะ มีกลิ่นไม่พึงประสงค์
ภายในช่องคลอดมักจะมีแบคทีเรียประจำถิ่นอยู่เพื่อรักษาความสมดุลที่อยู่ภายในช่องคลอด แต่เมื่อเกิดความผิดปกติของฮอร์โมนที่ส่งผลให้แบคทีเรียเพิ่มมากยิ่งขึ้นมักจะทำให้เกิดอาการตกขาวและมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์มากกว่าปกติ
ประจำเดือนมาผิดปกติ
โดยปกติแล้วประจำเดือนของผู้หญิงจะมาในช่วง 21 – 35 วัน หลังจากหมดประจำเดือนในครั้งก่อน แต่เมื่อมีฮอร์โมโปรเจสเตอโรนมากจนเกินไปจะทำให้ประจำเดือนมาช้า หรือมาเร็วจนผิดปกติ
ปวดท้องน้อย
เมื่อมีอาการปวดท้องน้อยอยู่บ่อย ๆ ให้หมั่นคอยสังเกตตัวเองอยู่เสมอว่าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงก่อนมีประจำเดือนหรือในช่วงที่มีประจำเดือนใช่หรือไม่ เมื่อมีฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายที่เยอะจนผิดปกติอาจจะทำให้มีอาการปวดมาก หน้าซีด คลื่นไส้ร่วมด้วย
วิธีปรับฮอร์โมน
หลาย ๆ ครอบครัวอาจจะกังวลว่าทำไมถึงไม่มีลูกเสียที จริง ๆ แล้วอาจจะเกิดจากการที่ฮอร์โมนของทั้งฝ่ายชายฝ่ายหญิงมีความผิดปกติไป จึงทำให้การมีลูกนั้นยากกว่าปกติ คราวนี้เรามาดูวิธีการปรับฮอร์โมนกันค่ะว่าสามารถทำแบบไหนได้บ้าง
ลดชา กาแฟ
การดื่มชา หรือกาแฟที่มีคาเฟอีนสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน จะทำให้เกิดภาวะการมีบุตรยากได้ทั้งในฝ่ายชายและฝ่ายหญิง
ลด หรือเลี่ยงการสูบบุหรี่
ถ้าหากคุณพ่อสูบบุหรี่เป็นเวลาติดต่อกันมาอย่างยาวนาน มักจะทำให้อสุจิลดน้อยลงกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ หรือถ้าคุณแม่สูบบุหรี่มากจนเกินไปจะทำให้เกิดอาการฮอร์โมนแปรปรวนขึ้นมาได้
ลดการดื่มแอลกอฮอล์
ใครที่เป็นสายแอล ถ้าไม่อยากมีอาการฮอร์โมนผิดปกติแนะนำให้เบา ๆ ลงบ้างนะคะ เพราะแอลกอฮอล์มีส่วนที่ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงได้
ลดน้ำหนัก
เมื่อมีน้ำหนักตัวเยอะ ฮอร์โมนก็จะเปลี่ยนแปลงไปได้ง่ายเช่นเดียวกัน ซึ่งการลดน้ำหนักจะทำให้ฮอร์โมนกลับมาเป็นปกติได้
ฮอร์โมนแปรปรวน แบบไหนที่ควรพบแพทย์
ฮอร์โมนแต่ละชนิดมีหน้าที่และการทำงานที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งถ้ามีตัวใดตัวหนึ่งทำงานผิดปกติอาจจะส่งปัญหาไปถึงส่วนอื่น ๆ ด้วย เมื่อมีอาการฮอร์โมนแปรปรวนต้องหาสาเหตุว่าอาการเหล่านี้เกิดจากสิ่งใด หากในบางครั้งมีอาการที่มากกว่าปกติควรไปพบแพทย์เพื่อหาวิธีการรักษาให้ตรงจุด
ภายในร่างกายของคนเรามีฮอร์โมนอยู่หลายตัว ถ้าฮอร์โมนแปรปรวนก็อาจจะมีส่วนทำให้มีลูกยากได้ ดังนั้นควรดูแลตัวเองตามที่เราแนะนำ ไม่ว่าจะเป็นการลดน้ำหนักสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวเยอะ การลดแอลกอฮอล์ ลดการสูบบุหรี่ ลดความเครียดต่าง ๆ ให้น้อยลง หรือถ้าหากมีอาการที่ไม่แน่ใจหรือกังวลใจแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีรักษา