ทำไมต้องตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน

ทำไมต้องตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน
ครอบครัว

เป็นความจริงที่ว่า คู่รักทุกคู่ที่ปรารถนาจะแต่งงาน ร่วมชีวิตเป็นครอบครัวเดียวกันนั้น ล้วนต้องการจะมีครอบครัวที่สมบูรณ์เพียบพร้อมทั้งพ่อแม่ และลูกน้อย โดยเฉพาะลูกน้อยที่เติบโตแข็งแรงขึ้นตามวัย แต่ “ความสมบูรณ์แบบ” ใช่จะมีขึ้นได้กับทุกคน หากเราไม่รู้จักการวางแผน ความผิดพลาดก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ แม้บางครั้งเราจะระมัดระวัง หรือไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้นก็ตาม ด้วยเหตุนี้ การวางแผนครอบครัว และการเตรียมความพร้อมด้วยการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และไม่ควรมองข้ามโดยเด็ดขาด!

เหตุผลที่ควรตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน

การตรวจสุขภาพ หรือการตรวจหาโรคทางพันธุกรรมแฝงก่อนการแต่งงาน เป็นการตรวจเช็คความพร้อมของร่างกายทั้งสองฝ่าย รวมถึงการตรวจหาความบกพร่องของยีน หรือพันธุกรรม ซึ่งหากพบความผิดปกติ ก็จะได้หาทางป้องกัน และรักษาอย่างถูกต้องต่อไป ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญ ที่ควรตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน ได้แก่

เช็คความพร้อมของสภาพร่างกาย

ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ หรือมีบุตร ยกตัวอย่าง เช่น การตรวจการทำงานของมดลูก และรังไข่ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือผู้หญิงที่มีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป ซึ่งประสิทธิภาพในการมีบุตรจะลดลงเรื่อยๆ ตามช่วงอายุที่มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการตรวจหาความผิดปกติของพยาธิสภาพอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การตรวจหาเนื้องอก ช็อกโกแล็ตซีส และมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น

ตรวจหาความบกพร่องของยีน (DNA) หรือพันธุกรรม

ซึ่งหากพบว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความผิดปกติของยีน จะได้หาทางป้องกัน และทำการรักษาได้ทันท่วงที ก่อนตัดสินใจมีบุตร เพราะโรคติดต่อทางพันธุกรรมบางชนิดอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์โดยตรง เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ หัดเยอรมัน และโรคโลหิตจาง หรือธาลัสซีเมีย เป็นต้น ทั้งนี้จากผลการสำรวจของคนไทยส่วนใหญ่พบว่ามีผู้ป่วยโรคพันธุกรรมแฝงอย่างโรคโลหิตจาง หรือธาลัสซีเมีย สูงถึง 45% ด้วยกัน ซึ่งนั่นก็หมายความว่า หากพ่อหรือแม่มีภาวะโลหิตจาง ก็จะเป็นพาหะนำโรคนี้แพร่ไปสู่ลูกน้อยในครรภ์ด้วย นั่นเอง

เพื่อป้องกันอันตรายจากโรคบางชนิด

การตรวจสุขภาพก่อนการแต่งงาน ก็เพื่อช่วยในการป้องกันอันตรายจากโรคบางชนิด ที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหัดเยอรมัน และโรคความดันโลหิต เป็นต้น

ป้องกันการแพร่กระจายของโรค

หากพบว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพาหะของโรค ซึ่งสามารถถ่ายทอดไปสู่คู่สมรส และทารกในครรภ์ได้ แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาด้วยการฉีดวัคซีน (เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ โรคหัดเยอรมัน) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค แต่หากพบว่าเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการฉีดวัคซีน (เช่น โรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง) แพทย์อาจอนุญาตให้ทั้งคู่แต่งงานกันได้โดยไม่ต้องมีบุตร เพื่อป้องกันอันตราย และภาวะความผิดปกติของร่างกายทารกในครรภ์ นั่นเอง

การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์เป็นการตรวจเพื่อหาโรคทางพันธุกรรมที่อาจส่งไปยังลูก หรืออาจเป็นโรคที่มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ เช่น ธาลัสซีเมีย โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมถึงตรวจเพื่อดูความพร้อมในการตั้งครรภ์ของพ่อแม่ เช่น ภาวะมีบุตรยาก ตรวจความแข็งแรงของอสุจิ ประจำเดือนมาปกติหรือไม่ กรณีตั้งครรภ์เมื่อคุณแม่อายุเกิน 35 ปี จะมีความเสี่ยงกับทารกที่มีโอกาสเป็นดาวน์ซินโดรมหรือไม่ นอกจากนี้ยังเป็นการตรวจเพื่อดูความเสี่ยงของโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ได้

อ้างอิงจาก: โรงพยาบาลพญาไท

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการตรวจสุขภาพก่อนการแต่งงานไม่ได้ยุ่งยาก หรือน่ากลัวอย่างที่คู่รักหวั่นวิตกอีกต่อไป โดยแพทย์จะเริ่มต้นด้วยการซักประวัติของทั้งสองฝ่ายอย่างละเอียด ก่อนเข้าสู่กระบวนการตรวจสุขภาพทั่วไป เช่น การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ และระบบการทำงานของหัวใจ รวมไปถึงการตรวจเต้านม และหน้าท้องอีกด้วย

จากนั้นก็จะมีการตรวจเลือด กรุ๊ปเลือด และความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคโลหิตจาง และโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันอื่นๆ เช่น โรคไทรอยด์ โรคหัดเยอรมัน โรคไวรัสตับอักเสบ บี เป็นต้น  นอกจากนี้ แพทย์จะทำการตรวจภายใน เพื่อดูความพร้อม และหาความผิดปกติของมดลูก และรังไข่ รวมไปถึงการตรวจหาเซลล์มะเร็งที่มดลูก และรังไข่อีกด้วย

โรคร้ายแรงที่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์

การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน คือการวางแผนครอบครัวที่รัดกุม และมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะโรคร้ายแรงบางชนิดอาจส่งผลกระทบถึงแม่ และทารกในครรภ์โดยตรง ทำให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ นำไปสู่ความผิดปกติของทารกในครรภ์ ซึ่งอาจพิการ หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทั้งนี้เพราะโรคบางชนิดไม่สามารถรับประทานยาในขณะที่มีการตั้งครรภ์ได้ ยกตัวอย่าง เช่น

  • โรคเอดส์
  • โรคไวรัสตับอักเสบ B
  • โรคหัดเยอรมัน
  • โรคซิฟิลิส
  • โรคโลหิตจาง (ธาลัสซีเมีย)
  • โรคเบาหวาน
  • โรคความดันโลหิต
  • โรคไทรอยด์
  • และโรคหัวใจ เป็นต้น

นอกจากโรคร้ายแรงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อแม่ และทารกในครรภ์ได้โดยตรงแล้ว ยังสามารถแพร่ไปสู่คู่สมรส ซึ่งอาจส่งผลในระยะยาว ต่อความมั่นคงของครอบครัวได้อีกด้วย ดังนั้นการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน คือการวางแผนครอบครัวที่รัดกุม และจำเป็นอย่างยิ่ง ที่คู่รักซึ่งปรารถนาจะร่วมชีวิตเป็นครอบครัวเดียวกัน ไม่ควรมองข้ามโดยเด็ดขาด

การตรวจสุขภาพก่อนการแต่งงาน และการวางแผนครอบครัวไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลแต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับคู่รัก ที่ปรารถนาจะร่วมชีวิตเป็นครอบครัวเดียวกันอย่างสมบูรณ์อีกด้วย เนื่องจากการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานจะช่วยทำให้การวางแผนครอบครัวมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และหากมีการตรวจพบความผิดปกติใดๆ ก็จะสามารถช่วยในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาให้เป็นไปอย่างถูกต้อง และทันการณ์ด้วย นั่นเอง


waayu

308,256 views

(นามปากกา : วายุ, วิสัชนา, อารีรัตน์) ชอบปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ และวาดรูป เคยเป็นครูอนุบาล ครูประถม ครูมัธยมต้น ครูสอนจินตคณิต(สมาร์ทเบรน) มีงานเขียนพ็อกเก็ตบุ๊ค และ E-book ที่ mebmarket.com Facebook

Profile

Pickup posts

Related posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save