Site icon simplymommynote

8 เทคนิค เลิกนมมื้อดึก ส่งผลให้ลูกสูงได้

8 เทคนิค เลิกนมมื้อดึก ส่งผลให้ลูกสูงได้

8 เทคนิค เลิกนมมื้อดึก ส่งผลให้ลูกสูงได้

การเลิกนมมื้อดึกมักสัมพันธ์กับการนอนหลับยาวตลอดคืนของลูกค่ะ คุณแม่บางคนหรือส่วนใหญ่มักตีความการตื่นนอนกลางดึกของลูกว่าเพราะความหิว จึงมักป้อนนมลูกทุกครั้งที่ลูกร้องไห้เรียกหา หรือรู้สึกตัวตื่น แต่ในความเป็นจริงแล้วลูกอาจจะแค่ต้องการเรียกหาแม่ รู้สึกเปียกชื้น หรือแค่ไม่รู้วิธีในการหลับต่อด้วยตัวเอง (สามารถอ่านบทความ ฝึกลูกนอนยาว ทำเมื่อไหร่ดี มีวิธีไหนบ้าง) จึงเรียกหาตัวช่วยให้พ่อแม่เข้ามาอุ้ม ขอจุกหลอก หรือเดินโยกเพื่อให้หลับต่อก็เท่านั้น  จึงกลายเป็นความสัมพันธ์ที่แม่ยื่นตัวช่วย คือขวดนมหรือเต้าแม่ เพิ่มเข้าไปในเงื่อนไขการนอนหลับของลูก หรือคุณแม่บางคนต้องทำงานช่วงกลางวัน แต่อยากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ต้องอาศัยช่วงเวลากลางคืนให้ลูกช่วยกระตุ้นน้ำนม เพื่อจะได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด แล้วเราควรจะเลิกมื้อดึกลูกหรือไม่ ควรทำเมื่อไหร่ และทำอย่างไร วันนี้เรามีข้อมูลมาฝากค่ะ

สารบัญ

Toggle

ข้อดีสำหรับการเลิกมื้อดึก

การฝึกลูกให้เลิกนมมื้อดึก มีข้อดีหลาย ๆ ข้อ ดังนี้

Growth Hormoneทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

การที่เด็กหลับได้ยาว Growth Hormone จะถูกสร้างออกมาเพื่อซ่อมแซมร่างกาย และทำให้ร่างกายเจริญเติบโตได้ดี แต่สำหรับคุณแม่ที่ต้องอาศัยลูกดูดกระตุ้นนมแม่ตอนกลางคืนก็ไม่ต้องกังวลไปนะคะ งานวิจัยพบว่า กลุ่มเด็กที่ตื่นมากินนมแม่ตอนกลางคืนไม่ได้มีปัญหาฟันผุ หรือขาด Growth Hormone มากกว่าเด็กที่ไม่ได้ตื่นกินนมแม่ หรือคุณแม่อาจจะเปลี่ยนเป็นการตั้งนาฬิกาปลุกลุกขึ้นมาปั้มนมแทนที่จะปลุกลูกมาดูดเต้าก็ได้ค่ะ

ลดความเสี่ยงโรคอ้วน

ลูกอาจรับนมมากเกินไป ส่งผลให้เกิดโรคอ้วนได้ และเมื่อลูกโตขึ้นจะยิ่งส่งผลต่อน้ำหนักตัว ซึ่งนอกจากจะมีผลเสียทางด้านร่างกายแล้ว ยังจะส่งผลต่อจิตใจลูกอีกด้วย

ลดความเสี่ยงการเกิดฟันผุ

การเลิกมื้อดึกส่งผลดีระยะยาวสำหรับเด็กที่กินนมขวด ตอนอายุ 1 ปี และส่งผลดีต่อสุขภาพในช่องปากของลูก เพราะเด็กบางคนชอบคาบขวดนมจนหลับไป

ลดปัญหาการกินยาก

เด็กบางคนกินนมมื้อดึกเยอะ พอตื่นนอนตอนเช้าทำให้รู้สึกอิ่ม จึงไม่ค่อยรู้สึกอยากกินอาหารในช่วงกลางวัน หรือนมแม่ที่พุ่งแรงในช่วงกลางวันทำให้ลูกไม่กล้าดูดจริงจัง เลยเปลี่ยนมากินนมแม่ท่านอนในตอนกลางคืนแทน เพราะสามารถลดการพุ่งแรงของน้ำนมได้ ลูกก็จะได้ปรับตัว และคุณแม่เองก็ควรจะสังเกตปัญหาการกินนมของลูกด้วย

(ติดตามเพิ่มเติม >> ลูกกินยาก กับเทคนิคหยุดลูกไม่ให้กินไปเล่นไป)

คุณพ่อคุณแม่ได้พักผ่อน

นอกจากลูกจะได้ประโยชน์ดังกล่าวแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็จะได้พักผ่อนบ้าง โดยเฉพาะหากคุณแม่ต้องเลี้ยงลูกเองตลอดทั้งวัน หากพักผ่อนไม่เพียงพออาจส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์ สุขภาพ ความเครียด และอาจเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้ค่ะ

ให้ลูกเลิกนมมื้อดึกเมื่อไหร่ดี

เด็กที่ต่ำกว่า 6 เดือน ส่วนใหญ่จะตื่นมากินมื้อดึก 1-2 ครั้ง เมื่อลูกเข้าสู่วัย 4-6 เดือน เขามักนอนกลางคืนนาน 4-6 ชั่วโมง โดยไม่ตื่นมากินนมมื้อดึกได้ หากได้รับการฝึกอย่างเหมาะสม ลูกจะสามารถเลิกนมมื้อดึกได้เมื่ออายุประมาณ 6 เดือน ซึ่งเป็นวัยที่สามารถนอนกลางคืนได้นาน 6-8 ชั่วโมง โดยไม่หิวแล้ว คุณแม่ก็สามารถเริ่มฝึกได้ตั้งแต่ช่วงอายุดังกล่าวค่ะ

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกพร้อมเลิกนมมื้อดึก

เด็กที่พร้อมเลิกนมมื้อดึกจะแสดงสัญญาณบอกอย่างน้อยหนึ่งข้อ คุณแม่สามารถสังเกตได้ดังนี้ค่ะ

กินน้อยลงในช่วงกลางวัน

ถ้าลูกกินอาหารน้อยลงในช่วงเวลากลางวัน แล้วมาชดเชยการกินนมตอนกลางคืนเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่คุณแม่จะช่วงชิงวงจรนี้ ด้วยการปรับเพิ่มอาหาร และนมในมื้อกลางวันให้มากขึ้น เพื่อที่ลูกจะได้อิ่ม ไม่หิวรอบดึกมากนัก

กินไม่จริงจังในมื้อดึก

หากลูกของคุณตื่นมากลางดึกแล้วกินนมแบบทีเล่นทีจริง แสดงว่าลูกไม่ได้ตื่นมาเพราะความหิว แต่อาจจะตื่นมาเพราะแค่ติดเต้า หรือติดขวดนม เพื่อเป็นตัวช่วยให้เขาสามารถหลับต่ออีกครั้งได้เท่านั้นเองค่ะ

เผลอหลับยาวตลอดทั้งคืน

หากมีคืนใดคืนหนึ่งที่ลูกสามารถเผลอหลับยาวตลอดทั้งคืนโดยไม่ตื่นมาขอกินมื้อดึก แม้จะดูเป็นเรื่องบังเอิญ แต่นั่นก็แสดงว่าจริงๆแล้ว ลูกของคุณแม่สามารถหลับได้ยาวโดยไม่หิวกลางดึกได้

ลูกเริ่มรับอาหารเสริม

เมื่อลูกเริ่มทานอาหารในช่วงกลางวัน เด็กจะรู้สึกหิวน้อยลงในตอนกลางคืน นี่เป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะเลิกนมมื้อดึกแก่ลูก

8 เคล็ดลับการเลิกมื้อดึก

การเลิกนมมื้อดึก ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิดค่ะ เพียงแต่ว่าต้องใช้เวลาในเรื่องการปรับตัวกันสักเล็กน้อย อย่างไรก็ตามคุณแม่สามารถนำเทคนิคที่จะกล่าวต่อไปนี้ไปปรับใช้ได้นะคะ

ทานระหว่างวันให้เต็มอิ่ม

คุณแม่อาจสังเกตปริมาณการกินนมของลูกในมื้อดึก โดยพยายามที่จะเพิ่มอาหารและนมให้ลูกในช่วงกลางวัน หากลูกยังทานอาหารเสริม 1 มื้อ คุณแม่อาจจะเลือกเสริมอาหารในช่วงมื้อเย็นให้ เพื่อลูกจะได้อิ่มอยู่ท้องได้นานไม่รู้สึกหิวในตอนกลางคืนจนเกินไป

สังเกตพฤติกรรมการตื่นของลูกช่วงดึก

คุณแม่สังเกตดูว่าช่วงไหนที่ลูกมักตื่นมากินนมช่วงดึกอย่างจริงจัง เพื่อจะได้กำหนดเวลาการให้นมอย่างชัดเจน เด็กอายุ 4 เดือนเป็นต้นไป นาฬิกาชีวิต (Circadian rhythm) เริ่มทำงานได้ดีแล้ว คุณแม่จะได้ตื่นช่วงเวลานั้นเพื่อให้นมลูกก่อนที่ลูกจะร้องขอ เป็นการทำลายความสัมพันธ์ของการตื่นมาร้องและตอบสนองด้วยการให้นมลงด้วยค่ะ แล้วก็ค่อยๆ ยืดเวลาการให้นมที่ห่างขึ้นเรื่อย ๆ

ลดเวลาการให้มื้อดึก

คุณแม่พยายามลดเวลาและปริมาณในการให้นมในช่วงดึกลงเรื่อย ๆ เพื่อให้ลูกค่อยๆปรับตัว และไปชดเชยการกินในช่วงกลางวันแทนค่ะ

เน้นมื้อนมก่อนนอนให้อิ่ม

คุณแม่ต้องกำหนดมื้อนมก่อนเข้านอนให้ลูกด้วย โดยจะต้องมั่นใจว่าลูกได้กินนมอย่างเพียงพอ และอิ่ม อย่างน้อยก็ 4-5 ชั่วโมงที่จะไม่ตื่นมากลางดึกเพราะความหิว

ให้สมาชิกในครอบครัวมีส่วนร่วม

บางครั้งเด็กตื่นมากลางดึกเพื่อขอดูดเต้า หรือขอจุกเป็นตัวช่วยให้ตัวเองสามารถหลับต่อได้ คุณแม่สามารถจะยื้อการตอบสนองเหล่านี้ด้วยการให้คุณพ่อ หรือสมาชิกในครอบครัวช่วยทำให้ลูกสงบลง เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของลูก และให้ลูกเรียนรู้วิธีในการทำให้ตัวเองหลับต่อด้วยตัวเองด้วยค่ะ

เข้าเต้าให้เกลี้ยงทีละข้าง

มื้อนมก่อนเข้านอนคุณแม่สามารถให้เต้า โดยการให้ลูกดูดจนเกลี้ยงเต้าเพียงข้างเดียว เพื่อที่ลูกจะได้รับไขมันเพิ่มจากนมส่วนหลัง ทำให้รู้สึกอิ่มได้นาน ไม่ตื่นบ่อยในตอนกลางคืน

หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าอื่นที่จะรบกวน

ช่วงที่ให้นม หรืออาหารช่วงกลางวันคุณแม่ควรปลีกตัวให้ลูกกินในที่เงียบ สงบ ไม่มีสิ่งเร้ามาดึงดูดความสนใจ เพราะบางครั้งลูกอาจจะห่วงเล่นมากเกินไป ทำให้กินอาหาร และนมช่วงกลางวันได้น้อย ส่งผลให้มากินทดแทนในช่วงมื้อดึก และคุณแม่ควรจะมีปฏิสัมพันธ์ กอด สัมผัส กับลูกมาก ๆ ในช่วงกลางวัน เพื่อที่ลูกจะได้รู้สึกปลอดภัย และสบายใจ ตอนกลางคืนเข้าจะได้ไม่ตื่นมามองหาแม่ในตอนกลางคืนบ่อย ๆ

อธิบายเหตุผลให้ลูกเข้าใจ

หากคุณแม่กำลังพยายามจะเลิกนมมื้อดึกลูกวัยหัดเดินที่มีนิสัยชอบกินนมตอนกลางคืน คุณแม่ควรบอกเหตุผลให้ลูกฟังอย่างชัดเจน สั้น ๆ ง่าย ๆ และตัวคุณแม่เองก็ต้องมั่นคง และสม่ำเสมอ คอยยืนยันเจตนารมณ์ของคุณแม่ที่จะทำภารกิจนี้ให้ลูกฟังจนสำเร็จ ลูกอาจจะมีงอแง ต่อรองบ้าง แต่ถ้าคุณแม่มั่นคง สม่ำเสมอ ไม่เกิน 1 เดือน เชื่อว่าลูกจะค่อยๆปรับตัว และสามารถทำได้สำเร็จค่ะ

การฝึกลูกเลิกมื้อดึกเป็นปัจจัยเสริมที่จะทำให้ลูกของคุณแม่ได้ปรับตัว และเรียนรู้ที่จะนอนหลับยาวตลอดทั้งคืน แต่ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของคุณแม่เป็นสำคัญ เพราะคุณแม่บางคนต้องทำงานนอกบ้านตลอดทั้งวัน ช่วงที่จะได้อยู่กับลูกและดูแลลูกก็คือช่วงกลางคืน คุณแม่อาจจะอยากชดเชยเวลาตรงนั้นให้กับลูก และในการฝึกนั้นแน่นอนว่าลูกจะต้องมีการต่อต้าน งอแง หรืออาจจะร้องไห้เป็นเวลานาน ตื่นบ่อยตลอดทั้งคืน จนตัวคุณแม่เองอาจรู้สึกไขว้เขว จึงจำเป็นอย่างมากที่คุณแม่จะต้องเตรียมพร้อมทางด้านจิตใจให้เข้มแข็งค่ะ

อ้างอิง แพทย์หญิงสุทธิชา อู่เงิน กุมารแพทย์, parenting.firstcry.com

Exit mobile version