จากผลการวิจัยในประเทศอังกฤษพบว่า 39% ของคุณแม่ตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 และ 72% ของคุณแม่ตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 จะมีอาการแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว อาหารไม่ย่อย ซึ่งเป็นอาการหลักของโรคกรดไหลย้อน เราจึงนำวิธีการดูแลตัวเอง เพื่อป้องกัน และลดโอกาสการเกิด ภาวะกรดไหลย้อนในขณะตั้งครรภ์ มาแนะนำคุณแม่ค่ะ
สาเหตุ กรดไหลย้อนในคนท้อง
กรดไหลย้อน ถือเป็นอาการยอดฮิตที่เกิดได้ง่าย และบ่อย ประมาณ 30-50% ของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ บางรายพบถึง 80% ซึ่งจะมีอาการได้ตั้งแต่เริ่มแพ้ท้อง 6 สัปดาห์แรกจนถึงช่วงใกล้คลอด สาเหตุหลักมาจาก
ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง
เมื่อฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมีการเปลี่ยนแปลง จึงส่งผลให้การทำงานของหลอดอาหาร และกระเพราะอาหารทำงานได้ช้าลง กล้ามเนื้อหูรูดบริเวณหลอดอาหารที่อยู่ติดกับกระเพาะคลายตัวบ่อยกว่าปกติ
มดลูกขยายใหญ่ขึ้น
การเติบโตของทารกในครรภ์ ทำให้มดลูกขยายขนาดใหญ่ขึ้น และไปเบียดกระเพาะอาหารให้ไปอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น เมื่อรับประทานอาหารมาก ๆ หรือเอนตัวลงนอนหลังรับประทานอาหารเสร็จไม่นาน น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรดจึงไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร ทำให้รู้สึกเจ็บและแสบร้อนบริเวณกลางอกตามมา
อาการแพ้ท้องของคุณแม่
ทำให้น้ำย่อยที่อาเจียนออกมาส่งผลให้แสบร้อนบริเวณหลอดอาหารได้ และอาจมีความรู้สึกขมที่ลิ้น เจ็บในอกรวมถึงคอ นำไปสู่สาเหตุของอาการเจ็บคอ และไอเรื้อรังได้อีก
อาการกรดไหลย้อนของคุณแม่ตั้งครรภ์
เราสามารถสังเกตอาการของกรดไหลย้อน โดยการแยกอาการออกเป็น 2 แบบ คือ อาการในหลอดอาหาร และอาการนอกหลอดอาหาร มีรายละเอียด ดังนี้ค่ะ
อาการในหลอดอาหาร
คล้ายมีก้อนอยู่ในลำคอ ถ้าเป็นมากจะเจ็บคอมากจนอาจจะกลืนอาหารแทบจะไม่ได้
เจ็บคอ มีเสมหะอยู่ในลำคอ หรือระคายคอตลอดเวลา
และลิ้นปี่ที่เรียกว่า Heartburn เนื่องจากกรดไปทำให้หลอดอาหารอักเสบ เป็นอาการที่พบบ่อยในคนท้อง
เรอเปรี้ยว คลื่นไส้ รู้สึกเหมือนมีรสขมของน้ำดี หรือรสเปรี้ยวของกรดในคอหรือปาก
อาการนอกหลอดอาหาร
มีกลิ่นปาก เสียวฟัน หรือมีฟันผุได้
คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือเป็นหวัดเรื้อรัง
รู้สึกสำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน จนอาจทำให้ต้องตื่นกลางดึก
หายใจมีเสียงหวีด (อาการโรคหอบหืด) หรือทำให้อาการของโรคหอบหืดที่เป็นอยู่มาก่อนแล้วรุนแรงขึ้น จากมีกรดไหลทันสู่หลอดลมและปอดจึงก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของหลอดลมและปอด
กรดไหลย้อนอันตรายกับทารกในครรภ์หรือไม่
กรดไหลย้อนไม่เป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ แต่หากมีอาการของโรคที่เริ่มรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คุณแม่ต้องตื่นนอนกลางดึก มีอาการกลืนอาหารลำบาก ไอ น้ำหนักลด หรือถ่ายเป็นเลืิอด ก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา เพราะหากปล่อยไว้นานอาจส่งผลให้หลอดอาหารเกิดความเสียหายรุนแรงได้ และยาส่วนใหญ่ที่ได้รับสำหรับแก้โรคกรดไหลย้อนจะเป็นยาน้ำป้องกันกรดไหลย้อน ซึ่งจะตรงเข้าไปช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร ลดโอกาสการเกิดกรดไหลย้อน ซึ่งการรับประทานยานี้ปลอดภัยทั้งกับคุณแม่ และทารกในครรภ์ เพราะไม่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย จึงไม่มีผลกระทบกับการเจริญเติบโตของทารก
8 วิธีรับมืออาการกรดไหลย้อนในคนท้อง
หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด
และเครื่องดื่มที่ไปจะกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อน เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด อาหารไขมันสูง อาหารที่มีกรดเป็นส่วนประกอบ รวมถึงชา กาแฟ ช็อคโกแลต น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอร์
แบ่งอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ
รับประทานเป็นมื้อย่อยบ่อย ๆ และลดปริมาณอาหารลง เช่นรับประทานมื้อเล็กๆ 5-6 มื้อ แทนการกินมื้อใหญ่ 3 มื้อ ทานให้พอดีในแต่ละมื้อ ไม่ทานจนอิ่มแน่นเกินไป และควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืนด้วย
สวมใส่เสื้อผ้าที่สบายตัว
ไม่รัดบริเวณเอวจนแน่นเกินไป
ไม่นอนหลังจากเพิ่งทานอาหารเสร็จ
ควรนั่ง ยืน หรือลุกเดินอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร ควรหนุนหัวเตียงให้สูงจากพื้น 6-10 นิ้ว โดยใช้วัสดุรองขาเตียง อย่ายกศรีษะสูงเพียงอย่างเดียวด้วยการใช้หมอนรองศรีษะ เพราะจะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น หรือ ใช้หมอนหนุนบริเวณลำตัวส่วนบน เพื่อให้หลอดอาหารอยู่สูงกว่ากระเพาะอาหาร และควรนอนตะแคงซ้าย เพราะการนอนตะแคงขวาจะทำให้ตำแหน่งของกระเพราะอยู่เหนือหลอดอาหาร
ควบคุมน้ำหนัก
เพราะการรักษาน้ำหนักตัวในขณะตั้งครรภ์ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดกรดไหลย้อนได้
รับประทานโยเกิร์ต
หรือดื่มนมเมื่อเกิดอาการ เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนจากกรดไหลย้อนได้
ไม่ควรสูบบุหรี่ และไม่เครียด
เพราะร่างกายจะกระตุ้นให้น้ำย่อยในกระเพาะหลั่งหลั่งกรดออกมามากขึ้น และบุหรี่เป็นอันตรายร้ายแรงกับลูกในครรภ์อย่างที่ทราบกัน
ใช้ยาเพื่อช่วยลดอาการ
ใช้ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป มีฤทธิ์ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร ช่วยให้มีกรดเกินไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดอาหารน้อยลง แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยาด้วย เพื่อความปลอดภัยต่อคุณแม่และทารกในครรภ์
ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ และกำลังประสบปัญหาภาวะกรดไหลย้อน จึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตประจำวันตามข้อมูลข้างต้นนะคะ เพื่อคุณแม่จะได้ห่างไกลจากภาวะกรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์ได้ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- คนท้องกินยาลดกรดได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องรึเปล่า