ตั้งครรภ์ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่?
ตั้งครรภ์ ฉีดวัคซีนโควิด – 19 ได้หรือไม่?
เป็นเรื่องที่ผู้หญิงหลายคนวิตกกังวล โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตนเองตั้งครรภ์ ซึ่งแน่นอนว่า ในยุคสมัยที่ทั่วโลกเต็มไปด้วยเชื้อไวรัสโควิด – 19 เช่นนี้ การเป็นคุณแม่ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจะต้องระมัดระวังดูแลตัวเองเป็นพิเศษในฐานะคุณแม่ที่กำลังจะให้กำเนิดทารกน้อยๆ แล้ว ยังต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 อีกด้วย และแน่นอนว่า การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด – 19 ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
ตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ได้หรือไม่
ศคบ. หรือศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ผนวก “หญิงตั้งครรภ์” เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคเสี่ยง ที่จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยสตรีที่ตั้งครรภ์นั้นต้องมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ หรือ 3 เดือนขึ้นไป จึงจะสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิด – 19 ได้ ทั้งนี้จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐฯ (CDC) ยืนยันว่า วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) และวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) เป็นวัคซีนที่ปลอดภัยสำหรับสตรีที่ตั้งครรภ์
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ผู้หญิงทุกคนที่ตั้งครรภ์ จะตัดสินใจไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด – 19 ควรทำการปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ เนื่องจากวัคซีนอาจส่งผลกระทบ หรือผลข้างเคียงต่อผู้มีปัจจัยเสี่ยงดังนี้
- ผู้ตั้งครรภ์มีน้ำหนักตัวมาก (มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน มีอัชนีมวลกายตั้งแต่ 40 ขึ้นไป หรือเป็นโรคอ้วน)
- ผู้ตั้งครรภ์เมื่อมีอายุมาก (อายุ 45 ปี ขึ้นไป)
- มีภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือตรวจพบว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
กล่าวโดยสรุปก็คือ สตรีมีครรภ์ที่มีสุขภาพแข็งแรง และมีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ หรือ 3 เดือนขึ้นไป สตรีหลังการคลอดบุตร รวมถึงสตรีที่ให้นมบุตร สามารถฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด – 19 ได้ทั้งสิ้น แต่ควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนโควิด – 19 ร่วมกับการฉีดวัคซีนอื่น ๆ เพราะอาจเป็นอันตรายได้ ยกเว้นมีความจำเป็นตามการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้เว้นระยะห่างจากการฉีดวัคซันไปอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เป็นต้น
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ถือเป็นความสมัครใจของแต่ละบุคคล ดังนั้นสตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน จึงจะเป็นการดีที่สุด
ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ตั้งครรภ์ ก่อนและหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด – 19
สิ่งแรกที่ผู้ตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตนเองตั้งครรภ์ควรทราบ ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด – 19 มีดังนี้
รู้อายุครรภ์ที่แน่นอนของตนเอง
เพื่อที่จะต้องแจ้งข้อมูลแก่แพทย์และพยาบาลก่อน และเพื่อการประเมินความเสี่ยงค่ะ
สตรีตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัวควรทำการปรึกษาแพทย์
เพื่อรับคำแนะนำก่อนตัดสินใจไปฉีดวัคซีน
ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ที่มีความเสี่ยงสูง
ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน และโรคมะเร็ง) ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งก่อน และหลังการฉีดวัคซีน
ผลข้างเคียงของคุณแม่ตั้งครรภ์จากการรับวัคซีน
ตามปกติแล้วผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้กับสตรีตั้งครรภ์ ก็มิได้แตกต่างไปจากบุคคลทั่วไป ซึ่งจะมีอาการ ดังนี้
- อาการไข้
- ปวดหัว
- ตัวร้อน
- เวียนศีรษะ
สำหรับกรณีเช่นนี้ แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอล เพื่อระงับอาการที่เกิดขึ้น
ที่สำคัญคือ ผู้ที่ตั้งครรภ์ (หรือไม่ได้ตั้งครรภ์ก็ตาม) ก่อนและหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด – 19 ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามทำจิตใจให้สบาย ลดความวิตกกังวล ลดความเครียด และเตรียมตัวให้พร้อมด้วยการดื่มน้ำเปล่าเยอะล่วงหน้าก่อนการฉีด 1 วัน เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้ตั้งครรภ์แล้ว ยังส่งผลไปถึงทารกในครรภ์ได้ด้วยเช่นกันสตรีที่ตั้งครรภ์มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ได้เท่า ๆ กับบุคคลทั่วไป เนื่องจากการตั้งครรภ์ไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ได้ง่ายกว่าบุคคลปกติ ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับสุขภาพของผู้ตั้งครรภ์ด้วยเช่นกัน เป็นต้นว่า หากผู้ที่ตั้งครรภ์มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายอยู่แล้ว หรือผู้ตั้งครรภ์อยู่ในสถานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ผู้ตั้งครรภ์มีลักษณะการทำงานที่ต้องใกล้ชิด และสัมผัสผู้ป่วย (ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด – 19) อยู่ตลอดเวลา เช่น แพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยฯ อาสาสมัครฯ เป็นต้น
ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าว การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด – 19 แต่เพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอต่อการควบคุมโรค ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยง ผู้ที่ตั้งครรภ์ (หรือไม่ได้ตั้งครรภ์ก็ตาม) ไม่ควรประมาทในการใช้ชีวิต ควรหมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ เจลแอลกอฮอล์ หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ ที่มีความเข้มข้นตั้งแต่ 75% ขึ้นไป สวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องตลอดเวลา ไม่สัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก อยู่ห่างจากผู้อื่น โดยเว้นระยะอย่างน้อย 2 เมตร แม้อยู่ในบ้านของตนเอง ไม่ไปในพื้นที่เสี่ยง และควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณแม่ ทารกในครรภ์ รวมถึงทุกคนในครอบครัวด้วยเช่นกัน
อ้างอิง petcharavejhospital.com, krabinakharin.co.th, vejthani.com