คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์คงจะเคยได้ยินคนทักให้ระวังเรื่อง “คนท้องฟันผุง่าย เพราะลูกดูดแคลเซียมไปใช้สร้างร่างกายจำนวนมาก” ประโยคนี้ดูเหมือนห่างไกลความจริงอยู่สักหน่อยค่ะ เพราะลูกไม่สามารถดูดแคลเซียมจากกระดูกหรือฟันของแม่ไปใช้ได้ แต่แคลเซียมที่ลูกใช้สร้างร่างกายนั้นนำมาจากสารอาหารในกระแสเลือดของคุณแม่มากกว่า แล้วเช่นนั้นทำไมคนท้องฟันผุ และเหงือกอักเสบง่าย เกิดจากอะไร ต้องดูแลรักษาฟันและเหงือกอย่างไรในระหว่างตั้งครรภ์ วันนี้เรารวบรวมข้อมูลมาให้อ่านกันค่ะ
คนท้องฟันผุง่าย เกิดจากอะไร?
จากรายงานวิจัยผลการตรวจสุขภาพช่องปากหญิงตั้งครรภ์ของสำนักทันตสาธารณสุข พบว่ามีอัตราคนท้องฟันผุถึงร้อยละ 90.3 ของหญิงตั้งครรภ์ โดยมีค่าเฉลี่ยในการถอน/อุดฟันผุถึง 6.37 ซี่ต่อคน สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้คนท้องมีปัญหาสุขภาพช่องปาก คือ
อาการแพ้ท้อง
อาการแพ้ท้องเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนท้องฟันผุ เพราะเมื่อคุณแม่อาเจียนบ่อยๆ จะทำให้เศษอาหาร และกรดในกระเพาะขึ้นมาติดค้างในบริเวณช่องปากและฟัน ส่งผลให้ไปทำลายผิวฟันและทำให้เหงือกอักเสบง่ายยิ่งขึ้น และในคนท้องบางคน การแปรงฟันยิ่งไปกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้ และอยากอาเจียนจึงทำให้ไม่ค่อยอยากแปรงฟัน ก็เป็นอีกสาเหตุทำให้เกิดปัญหาช่องปากขณะตั้งครรภ์
กินบ่อย และกินอาหารรสจัด
ที่คนท้องกินบ่อย มีพฤติกรรมกินจุบจิบ เป็นเพราะเกิดความอยากอาหารอยู่ตลอดเวลา ทำให้รักษาความสะอาดช่องปากไม่สะอาดนัก รวมถึงมีอาการแพ้ท้อง ทำให้อยากกินอาหารรสจัดอยู่เสมอ เช่น อาหารเปรี้ยวจัด หวานจัด รสเผ็ด สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้มีกรดเพิ่มขึ้นในช่องปาก
ฮอร์โมนเปลี่ยนระหว่างตั้งครรภ์
ช่วงตั้งครรภ์ร่างกายของคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ส่งผลให้ผนังเส้นเลือดฝอยในเหงือกและเนื้อเยื่อในช่องปากก็มีการเปลี่ยนแปลง นำไปสู่อาการเหงือกอักเสบ บวม แดง หรือมีเลือดออกได้ง่าย และหากมีคราบอาหาร คราบจุลินทรีย์ หรือหินปูนเกาะที่ฟันมาก ก็ยิ่งทำให้เหงือกอักเสบง่ายขึ้น เหงือกร่น และฟันโยกได้ เป็นสาเหตุให้คุณแม่ไม่อยากแปรงฟันนาน และทำให้แปรงฟันได้ไม่ทั่วถึง
สุขภาพช่องปากและฟันเดิมของคุณแม่
เช่น คุณแม่มีฟันที่กำลังเริ่มผุหรือรู้สึกปวดฟันบ่อยๆอยู่ก่อนแล้ว หรือภายในช่องปากมีหินปูนเกาะอยู่เยอะ เป็นต้น เหล่านี้สามารถเป็นสาเหตุเพิ่มเติม ทำให้เมื่อตั้งครรภ์สุขภาพของช่่องปากและฟันของคุณแม่จึงมีปัญหามากขึ้น
คนท้องฟันผุ ทำฟันช่วงตั้งครรภ์ได้ไหม
ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่สามารถทำฟันได้ตามปกติ เช่น อุดฟัน หรือขูดหินปูน เพราะจริง ๆ แล้วควรรีบดูแลและรักษาสุขภาพช่องปากให้ดีอยู่เสมอ หากปล่อยเอาไว้อาจมีอาการเจ็บปวด หงุดหงิด รำคาญใจ หรือทำให้ยุ่งยากในการดูแลรักษา แต่ควรเว้นระยะ คือ ช่วง 3 เดือนแรก และควรหลีกเลี่ยงการทำฝันในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ เพราะช่วงไตรมาสแรกยังมีอากาแพ้ท้องอยู่มากอาจยิ่งไปกระตุ้นให้อาเจียนได้ และช่วงไตรมาสสุดท้ายขนาดครรภ์และรูปร่างของคุณแม่ ไม่เอื้อต่อการนั่งหรือนอนบนเก้าอี้ทำฟัน ดังนั้นช่วงทำฟันที่เหมาะสมที่สุด คือไตรมาสที่ 2 อายุครรภ์ 4-6 เดือน
คนท้องฟันผุ ส่งผลต่อลูกน้อยไหม?
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรที่จะต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพภายในช่องปาก เพราะการที่คนท้องฟันผุสามารถส่งผลให้ลูกได้รับความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคฟันผุได้เช่นกัน และการติดเชื้อในช่องปากเรื้อรัง หรือโรคปริทันต์ที่เกี่ยวกับเหงือกบางชนิด อาจจะทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ เมื่อเริ่มทำการฝากครรภ์จนถึงช่วง 3 เดือนแล้ว ควรไปพบทันตแพทย์อย่างน้อย 1 ครั้งตลอดการตั้งครรภ์ เพื่อให้แน่ใจว่ามีสุขภาพช่องปากที่ดี และไม่ส่งผลกระทบใดๆ ไปสู่ทารกในครรภ์
วิธีดูแลสุขภาพช่องปากและฟันของคนท้อง
แปรงฟันสูตร 222
หมายถึง การแปรงฟันนานครั้งละ 2 นาที เพราะเป็นเวลาที่ฟลูออไรด์กระจายตัวได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพในการดูแลสูงที่สุด โดยแปรงวันละ 2 ครั้ง หลังแปรงฟันควรงดขนมหวาน น้ำอัดลม 2 ชั่วโมง ถ้าเป็นไปได้ให้ใช้ไหมขัดฟันร่วมด้วย เพื่อลดจำนวนจุลินทรีย์ และเศษอาหารต่างๆ
แปรงฟันเบาลง
เพราะคนท้องมีเส้นเลือดที่ขยายใหญ่ขึ้นไปเลี้ยงเกือบทุกอวัยวะในร่างกาย เหงือกของคุณแม่จึงมีเลือดคั่ง แค่การแปรงฟันปกติก็อาจพบว่ามีเลือดออกได้ ดังนั้นคุณแม่จึงควรแปรงฟันเบาๆ และใช้แปรงที่มีขนนุ่มขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์
ไตรมาสที่ 2 ปลอดภัยที่สุด
แต่ก่อนเข้ารับการรักษาคุณแม่จะต้องแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบว่าตั้งครรภ์ เพื่อที่แพทย์จะได้พิจารณาการรักษาอย่างถูกต้องแม่นยำที่สุด
ทานอาหารจำพวกโปรตีนให้เพียงพอ
ระหว่างตั้งครรภ์ควรเพิ่มอาหารพวก โปรตีนจากเนื้อสัตว์ นม ไข่ เพิ่มผักและถั่ว ลดขนมหวาน กินผลไม้หรือดื่มน้ำผลไม้แทน เพื่อให้ได้รับโปรตีน และแร่ธาตุครบถ้วน ซึ่งหากได้รับไม่เพียงพอ อาจจะทำให้ฟันของลูกไม่แข็งแรงในระยะยาวด้วย เนื่องจากพบว่าถ้าระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่ขาดสารอาหารประเภทโปรตีน หรือลูกน้อยมีอาการขาดสารอาหาร จะทำให้ฟันขึ้นช้ากว่าปกติ
คนท้องมีอาการฟันผุได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์เลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดฟัน ปวดเหงือก แต่อาจยังไม่ถึงขั้นฟันผุ ดังนั้น คุณแม่จึงควรพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และดูแลรักษาสุขภาพของช่องปากและฟันอยากใกล้ชิด โดยหมั่นทำความสะอาดภายในช่องปากให้ทั่วถึงอยู่เสมอ และทานสารอาหารที่เพียงพอ เพื่อที่จะได้มีสุขภาพช่องปากและฟันที่ดีทั่งคุณแม่และลูกเลยค่ะ