คนท้องศัลยกรรมได้ไหม ปลอดภัยรึเปล่า ควรไปต่อ หรือรอก่อน
ศัลยแพทย์ที่เก่ง และฝีมือดีนั้นมักมีคิวยาว นัดยาก และรอนาน หากระหว่างนั้นเกิดการตั้งครรภ์ก่อนถึงคิวเข้ารับการผ่าตัดล่ะ จะตัดสินใจอย่างไรดี การมีบุตรสำหรับบางคู่ก็เป็นเรื่องยาก ลุ้นอยู่หลายปีกว่าที่เบบี๋จะยอมมา ช่างประจวบเหมาะกับที่คุณแม่กำลังรอทำสวยอยู่พอดี แล้วอย่างนี้คนท้องศัลยกรรมได้ไหม ควรไปต่อหรือควรเลื่อนนัดศัลยแพทย์ไปก่อน แล้วต้องรอนานเท่าไหร่ถึงเข้ารับการผ่าตัดได้อีกครั้ง วันนี้กิฟท์มีคำตอบมาให้ค่ะ
ศัลยกรรมขณะตั้งครรภ์ ทำได้ไหม
ศัลยกรรมพลาสติก (Plastic Surgery) ถือเป็นกระบวนการทางการแพทย์ทางเลือก เป็นการผ่าตัดที่ไม่ได้มีความจำเป็นต่อการรักษาโรค หรือเพื่อการรักษาชีวิตของผู้ป่วย และมีความเสี่ยงเหมือนกับการผ่าตัดประเภทอื่นๆ คือมีการใช้ยาชาร่วมด้วย หากพบว่าผู้ป่วยตั้งครรภ์เมื่อใช้ยาชาทั่วไปโอกาสที่จะเกิดการแท้งมีสูงมากอย่างไม่น่าเชื่อ ดังนั้น แพทย์จะยอมให้มีการผ่าตัดเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเป็นหัตถการฉุกเฉินที่จำเป็นต่อการช่วยชีวิตของมารดา เช่น การตัดไส้ติ่ง และแพทย์ส่วนใหญ่จะไม่ยอมให้มีการผ่าตัด หากมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอันตรายต่อแม่ท้อง โดยแพทย์จะพิจารณาโดยอาศัยความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์เป็นหลักค่ะ เนื่องจากไม่ใช่ความจำเป็นทางการแพทย์ การทำผ่าตัดเพื่อความงามในขณะตั้งครรภ์จึงถูกมองว่า เป็นเรื่อง “ฟุ่มเฟือย”
ความเสี่ยงของการทำศัลยกรรมขณะตั้งครรภ์
ศัลยกรรมพลาสติกขณะตั้งครรภ์เพื่อความงาม เป็นการผ่าตัดที่ควรรอเวลาที่เหมาะสม เหตุผลสำคัญนั้นเป็นเพราะการผ่าตัดมีความเสี่ยงมากเกินไปสำหรับตัวแม่ และทารกในครรภ์ ดังนี้
- ยาที่ใช้ในกระบวนการผ่าตัด และพักฟื้น
ยาชาบางประเภทที่ใช้ในกระบวนการผ่าตัด มีฤทธิ์กล่อมประสาท หากใช้ยานานเกิน 3 ชั่วโมง อาจทำให้สมองตาย และในระยะยาวอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ ทำให้มีปัญหาทางระบบประสาท พัฒนาการทางสมอง จนเป็นสมาธิสั้นได้ นอกจากนี้ การทานยาแก้ปวดอย่าง แอสไพริน และไอบูโรเฟน ก็ส่งผลให้เลือดแข็งตัว จนอาจทำให้เกิดการแท้งบุตร หรือคลอดเกินกำหนดได้
- ร่างกายของหญิงตั้งครรภ์มีความแปรปรวน
เมื่อมีการตั้งครรภ์ร่างกายของผู้หญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ไม่สามารถวัดค่าทางการแพทย์ หรือคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำเหมือนคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น ระดับฮอร์โมน องค์ประกอบของไขมัน หรือแม้แต่การไหลเวียนโลหิตก็มีความแปรปรวน จึงเป็นปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดข้อผิดพลาดได้มากขึ้นหากมีการผ่าตัด
- สรีระร่างกายหญิงตั้งครรภ์
โดยธรรมชาติของร่างกายผู้หญิงหากรู้ว่ากำลังมีทารกปฏิสนธิขึ้นในครรภ์ ร่างกายจะย้ายโฟกัสไปที่ทารกเป็นอันดับแรก สารอาหารที่จำเป็นในร่างกายแม่จะถูกดึงและส่งไปให้ทารกใช้ในการพัฒนาส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยเฉพาะในไตรมาสแรก ดังนั้น หากมีการผ่าตัดเกิดขึ้น เซลล์เม็ดเลือดแดง และสารอาหารบางส่วนก็จะต้องถูกแบ่งไปช่วยซ่อมแซม และฟื้นฟูบาดแผล จึงไม่ควรสร้างบาดแผลให้เกิดขึ้นในร่างกายในขณะตั้งครรภ์ เพราะไม่มีใครยืนยันได้ว่าร่างกายจะสามารถดูแลการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้ดีไหมเมื่อต้องแบ่งหน้าที่ไปซ่อมแซมบาดแผลด้วย
- ระบบภูมิคุ้มกันลดลง
การตั้งครรภ์จะส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง และเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อหลังผ่าตัดได้ นอกจากนี้ในการพักฟื้นร่างกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์จะทำได้ช้า ใช้เวลานานกว่าปกติด้วยค่ะ
ก่อนทำศัลยกรรม
ก่อนการผ่าตัดทุกครั้งในโรงพยาบาลใหญ่แพทย์จะสั่งให้ตรวจเลือดของผู้ป่วยก่อนเสมอ เพื่อให้ทราบถึงกรุ๊ปเลือดของผู้ป่วย จะได้สำรองเลือดไว้ใช้ในกรณีจำเป็นต้องถ่ายเลือด และตรวจหาการตั้งครรภ์ด้วย ดังนั้น ไม่ช้าก็เร็วหากแพทย์ทราบข้อมูลว่าผู้ป่วยตั้งครรภ์ ก็จะไม่นำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดแน่นอนค่ะ
เมื่อไหร่จะทำศัลยกรรมได้
หลังคลอดกว่าร่างกายของคุณแม่จะฟื้นตัวจากบาดแผลการคลอด อาจใช้เวลากว่า 1-2 สัปดาห์ สำหรับการคลอดธรรมชาติ หรือกว่า 2 เดือน สำหรับการผ่าท้องคลอด และยังรวมไปถึงเรื่องของฮอร์โมน รูปร่าง น้ำหนักตัว และโครงหน้าต่างๆ ก็จะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนสู่สภาพปกติโดยธรรมชาติ ในช่วง 2-3 เดือนหลังคลอดด้วยค่ะ ดังนั้นหากคุณแม่ต้องการเข้ารับการผ่าตัดอาจต้องรอ 3 เดือนเป็นอย่างต่ำ หรือให้ดีที่สุดก็ทิ้งช่วงสัก 1 ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมทางร่างกายของแต่ละคน และเป็นการผ่าตัดส่วนไหนของร่างกายด้วยค่ะ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
หลังคลอดกี่เดือน ทำศัลยกรรมได้ กับ 6 ส่วนของร่างกาย
กรณีทำศัลยกรรมไปแล้ว รู้ภายหลังว่าตั้งครรภ์ ทำอย่างไรดี
- รีบเข้าไปรับคำปรึกษา และแนวทางการปฏิบัติติตัวกับศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัด และสูตินารีแพทย์ทันที
- งดทานยาลดบวม แต่สามารถทานยาแก้ปวดเวลาที่ปวด และทานยาฆ่าเชื้อจนกว่าจะหมด แพทย์แนะนำมานะคะ
- ดูแลตัวเอง และทำความสะอาดแผลตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้แผลผ่าตัดแห้งช้า เช่น อาหารหมักดอง ต่าง ๆ อาหารรสจัด ทำให้แผลติดเชื้อได้
- ดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ ใช้วิธีจิบน้ำตลอดวัน หรืออาจจะดื่มมากกว่าปกติ เพื่อให้ร่างกายขับยาออกทางเหงื่อ
- ดื่มน้ำสมุนไพร เช่น น้ำใบบัวบกและน้ำมะพร้าว แต่สำหรับน้ำมะพร้าวคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ต้องจำกัดปริมาณดื่มให้เหมาะสมไม่ดื่มมากจนเกินไปด้วยนะคะ
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ก็คงได้คำตอบว่า ความสวยของเรานั้นรอได้ แต่การตั้งครรภ์สำหรับผู้หญิงที่มีบุตรยากนั้นรอไม่ได้ ดังนั้น ไม่ควรทำศัลยกรรมต่างๆ ระหว่างการตั้งครรภ์จะดีกว่า เพื่อความปลอดภัยของทั้งทารก และตัวคุณแม่เองนะคะ
อ้างอิง babymed.com, wfrancklemd.com, theasianparent.com