PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือฝุ่นละเอียด (fine particulate matter) ที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า เนื่องจากมีอนุภาคที่เล็กมากๆ คือ 2.5 ไมโครเมตร (2.5 ไมครอน) ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และเพราะเหตุนี้เองจึงสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ปาก หรือแม้แต่ผิวหนัง ทั้งยังสามารถส่งผ่านความร้ายกาจไปยังอวัยวะภายในร่างกายได้อย่างรวดเร็ว และเนื่องจากฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่แค่ฝุ่นธรรมดา แต่เต็มไปด้วยสารเคมีที่มีอันตรายต่อสุขภาพมากมาย อาทิ สารปรอท แคดเมี่ยม สารหนู สารไฮโดรคาร์บอน ฯลฯ รวมถึงสารก่อมะเร็ง และโลหะหนักอื่นๆ อีกด้วย
คนท้องกับผลกระทบปัญหาฝุ่น PM 2.5
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 กับทารกในครรภ์ และคนท้อง ถือเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน และเป็นอันตรายใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้ามโดยเด็ดขาด ทั้งนี้เพราะทารกในครรภ์ ทารกหลังคลอด เด็กอ่อน สตรีมีครรภ์ รวมถึงคนชรา และผู้มีโรคประจำตัว ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง ที่จะได้รับผลกระทบกับร่างกายรุนแรงกว่าในคนปกติ ที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงถึง 2 เท่าทีเดียว ซึ่งผลกระทบที่ตามมาหลังจากได้รับ PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายแล้ว ได้แก่
แสบจมูก
อาจเกิดอาการแสบจมูก หอบหืด หายใจไม่สะดวก หลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง แน่นหน้าอก ระบบทางเดินหายใจติดขัด ตลอดจนเกิดอาการปอดติดเชื้อ และปอดอักเสบได้ด้วยเช่นกัน
เนื้อเยื่อของร่างกายอักเสบ
คนท้องที่ได้รับฝุ่น PM 2.5 จะเกิดภาวะเครียดออกซิเดชั่น (Oxidative stress) มีความเสี่ยงที่จะเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกาย นอกจากนี้ยังอาจเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ คลอดก่อนกำหนด และแท้งได้
สารพันธุกรรมถูกทำลาย
เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของทารกในครรภ์
น้ำหนักทารกต่ำกว่าเกณฑ์
หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับฝุ่น PM 2.5 เข่าสู่ร่างกาย จะส่งผลทำให้ทารกที่คลอดออกมามีน้ำหนักตัวน้อย และเจริญเติบโตช้า รวมถึงอาจพบอาการผิดปกติของทารกแรกเกิดในด้านต่างๆ อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น อาจพบอาการผิดปกติทางสมอง มีภาวะออทิสติก พัฒนาการทางสมองช้ากว่าเกณฑ์ปกติของทารกตามวัย หรืออาจพบความพิการของอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย เป็นต้น
เสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ในเด็ก
สำหรับทารก และเด็กเล็ก หากได้รับฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ร่างกาย จะก่อให้เกิดการระคายเคืองโพรงจมูก เยื่อจมูกอักเสบ เกิดเป็นโรคภูมิแพ้ได้ รวมไปถึงอันตรายที่ร้ายแรงยิ่งกว่า นั่นคือการที่สารเคมีในฝุ่น PM 2.5 เข้าไปทำลายเซลล์สมอง ทำให้เซลล์สมองอักเสบ หรือเกิดภาวะความพิการทางสมอง รวมไปถึงก่อให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจพิการแต่กำเนิดได้ด้วยเช่นกัน
สตรีตั้งครรภ์จึงควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการออกไปสัมผัสฝุ่นละเอียดเหล่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ และควรสวมหน้ากากอนามัย ป้องกันไว้เสมอหากจำเป็นต้องออกไปสัมผัสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อ้างอิง: โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
การรับมือผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ที่มีต่อทารกและคนท้อง
ถึงแม้ว่าการรับมือกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM 2.5 ที่มีต่อทารก และคุณแม่ตั้งครรภ์ทำได้ค่อนข้างยาก แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีวิธีที่พอจะช่วยลดผลกระทบ ที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายได้บ้าง ด้วยวิธีการง่ายๆ ดังนี้ คือ
เลี่ยงการออกนอกบ้าน
หากไม่มีธุระจำเป็น คนท้องควรเลี่ยงการออกไปเผชิญกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก อย่าง PM 2.5 โดยเฉพาะคุณแม่ที่ตั้งครรภ์อ่อนๆ ในช่วงระยะ 1-3 เดือนแรก ต้องระมัดระวังร่างกายเป็นพิเศษ แต่หากจำเป็นต้องออกไปนอกบ้าน ก็ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกันไว้เสมอ
สวมหน้ากากอนามัยที่กรองฝุ่นขนาดเล็ก
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ควรเลือกสวมหน้ากากที่มีตัวกรองฝุ่นขนาดเล็ก หรือหน้ากากที่มีคุณสมบัติช่วยในการ ป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ เช่น หน้ากากอนามัย N 95 เป็นต้น ทั้งนี้เพราะข้อมูลจาก WHO ระบุว่า การสวมหน้ากากอนามัยที่มีคุณสมบัติป้องกันฝุ่นที่มีอนุภาคขนาดเล็กอย่าง PM 2.5 และสวมใส่อย่างถูกวิธีจะสามารถช่วยป้องกันฝุ่นเข้าสู่ร่างกายได้ถึง 80% เลยทีเดียว
ไม่สวมหน้ากากอนามัยทารก
ไม่ควรสวมหน้ากากอนามัยให้กับทากรหรือเด็กอ่อนที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี เนื่องจากระบบหายใจยังทำงานได้ไม่เต็มที่ อาจเสี่ยงทำให้ทารกขาดอากาศได้ ซึ่งทางที่ดีที่สุดคือ ไม่ควรพาทารกแรกเกิด หรือเด็กอ่อนออกมาเผชิญฝุ่น PM 2.5 จึงจะเป็นการดีที่สุด
เลี่ยงการอยู่สถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น
ไม่ควรอยู่ใกล้ชิด หรือไปยังสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น สถานที่ที่มีผู้สูบบุหรี่ บริเวณที่มีการจุดธูป เผาขยะ เผาหญ้า หรือบริเวณที่ก่อให้เกิดฝุ่นควันใดๆ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มชั้นบรรยากาศให้หนาแน่นไปด้วยฝุ่น PM 2.5 มากยิ่งขึ้น และสำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรงดการประกอบอาหารจากเตาที่ก่อให้เกิดควันเป็นจำนวนมาก เช่น การใช้ไม้ หรือถ่านเป็นเชื้อเพลิง รวมถึงการปรุงอาหารจากเตาที่ปราศจากเครื่องดูดควันด้วยเช่นกัน
ติดตามข่าวสารอยู่เสมอ
พยายามติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคุณภาพของอากาศในพื้นที่ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ และปฎิบัติตนตามคำแนะนำนั้นๆ อย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับคุณภาพชีวิตของคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ดียิ่งขึ้น
หมั่นทำความสะอาดระบบทางเดินหายใจ
ควรหมั่นทำความสะอาดระบบทางเดินหายใจอย่างสม่ำเสมอ เช่น การใช้น้ำเปล่ากลั้วคอ แล้วบ้วนทิ้ง ประมาณ 3-4 ครั้ง หลังกลับจากการทำกิจกรรมกลางแจ้งทุกครั้ง รวมไปถึงการทำความสะอาดจมูก หรือการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือบริสุทธิ์ เป็นต้น
รีบพบแพทย์หากมีอาการผิดปกติ
หากพบว่าตนเองมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย หรือระบบทางเดินหายใจ เช่น รู้สึกแน่นหน้าอก หายใจติดขัด มีอาการท้องแข็ง มีเลือดออกทางช่องคลอด น้ำเดิน หรือรู้สึกว่าทารกในครรภ์มีการดิ้นน้อยล ให้รีบไปพบแพทย์ในทันที
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า ฝุ่น PM 2.5 นั้นไม่เพียงแต่จะเป็นอันตรายต่อคนท้อง ทารก เด็กเล็ก และคนชราเท่านั้น หากแต่ฝุ่น PM 2.5 ยังเป็นอันตรายต่อเราทุกคนอีกด้วย ดังนั้นจึงควรตระหนัก และหาทางดูแล ป้องกันสุขภาพร่างกายของเราให้ดีที่สุด เพราะทุกชีวิตยังคงต้องใช้อากาศหายใจร่วมกัน ฉะนั้นจึงไม่ควรละเลย หรือมองข้ามอันตรายที่มองไม่เห็น จากสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา…