พอเป็นคุณแม่ตั้งท้องเรื่องของฮอร์โมนคนท้องเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คุณแม่ควรรู้ ตัวไหนมีการเปลี่ยนแปลงบ้างหรือฮอร์ไหนเพิ่มลดแล้วส่งผลอย่างไรกับร่างกาย เพราะฮอร์โมนบางตัวบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายได้ การรู้จักการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนต่างๆระหว่างตั้งครรภ์จะช่วยให้คุณแม่หรือคุณพ่อสังเกตสุขภาพครรภ์ และเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกในครรภ์ได้ ดังนั้นมาทำความรู้จักกับฮอร์โมนต่างๆกันดีกว่า
ฮอร์โมนคนท้อง ที่สำคัญ มีอะไรบ้าง?
ฮอร์โมนคนท้อง หรือฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์นั้นมีหลายตัว ดังนี้ค่ะ
ฮอร์โมนฮิวแมนคอริโอนิกโกนาโดโทรฟิน (Human Chorionic Gonadotropin: HCG)
เป็นฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นจากรก และเป็นฮอร์โมนที่บ่งบอกถึงภาวะการตั้งครรภ์เพราะฮอร์โมน HCG จะตรวจพบในเลือดและปัสสาวะของคุณแม่ที่มีการตั้งครรภ์เท่านั้น และจะตรวจพบในช่วงการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก ดังนั้นเมื่อคุณแม่ตรวจสอบการตั้งครรภ์ด้วยที่ตรวจตั้งครรภ์หรือตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและได้ผลเป็น 2 ขีดในชุดตรวจ จึงบ่งบอกว่ามีการตั้งครรภ์หรือตรวจพบฮอร์โมน HCG นั่นเอง นอกจากนี้ฮอร์โมนตัวชนิดยังส่งผลข้างเคียงให้คุณแม่บางท่านเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนในขณะตั้งครรภ์อีกด้วย หรือที่เราเรียกกันว่า “อาการแพ้ท้อง” นั่นเอง
ฮอร์โมนฮิวแมนพลาเซ็นตัลแลคโทเจน (Human Placental Lactogen: HPL)
ฮอร์โมนชนิดดนี้ผลิตขึ้นจากรกระหว่างคุณแม่ตั้งครรภ์ หน้าที่สำคัญของฮอร์โมนชนิดนี้คือ นำสารอาหารจากคุณแม่ไปหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ และยังเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ในการกระตุ้นต่อมน้ำนมให้มีการผลิตน้ำนมสำหรับเลี้ยงทารกอีกด้วย
ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen)
เป็นฮอร์โมนที่ถูกกระตุ้นโดยฮอร์โมน HCG ในขณะคุณแม่ตั้งครรภ์ ฮอร์โมนชนิดนี้ผลิตขึ้นที่รังไข่ ทำหน้าที่เสริมสร้างการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ให้มีความยืดหยุดหรือขยายตัวในช่วงคุณแม่ใกล้คลอดโดยเฉพาะการขยายตัวของเชิงกราน และยังช่วยยืดขยายเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกให้ยืดขยายง่ายขึ้นพร้อมหดรัดตัวเมื่อคุณแม่เจ็บท้องคลอด ยังช่วยให้ช่องคลอดคุณแม่มีความเป็นกรดมากขึ้นทำให้ยากต่อการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี ทำให้สารอาหารไปเลี้ยงทารกได้อย่างเพียงพอ กระตุ้นให้ทารกมีพัฒนาการและการเจริญเติบโตเต็มที่
ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone)
ฮอร์โมนที่สร้างขึ้นที่รังไข่หลังจากไข่ตกหรือฮอร์โมนสำหรับการตั้งครรภ์ และฮอร์โมนชนิดนี้จะเพิ่มสูงกว่าคนปกติในขณะตั้งครรภ์ หน้าที่สำคัญของฮอร์โมนชนิดนี้นอกจากทำหน้าที่เดี่ยว ๆ แล้วยังทำหน้าที่ร่วมกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ในการยับยั้งฮอร์โมนตัวอื่นไม่ให้ออกฤทธิ์อีกด้วย โดยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนทำหน้าที่ควบคุมการขยายตัวและการเปลี่ยนแปลงของมดลูก กระตุ้นให้เยื่อบุผนังมดลูกพร้อมต่อการฝังตัวของไข่ กระตุ้นให้เกิดเมือกบริเวณปากมดลูกเพื่อป้องกันไม่ให้สเปิร์มอื่นมาผสมกับไข่ ป้องกันการหดตัวของมดลูกขณะตั้งครรภ์ และยังทำงานร่วมกับฮอร์โมนเอสโตรเจนกระตุ้นการทำงานของท่อน้ำนมอีกด้วย
ฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin)
ทำหน้าที่ควบคุมการผลิตน้ำนมของคุณแม่ ฮอร์โมนชนิดนี้จะเพิ่มสูงกว่าในคนปกติประมาณ 10-20 เท่าในคุณแม่ที่มีการตั้งครรภ์
เพราะอะไรฮอร์โมนคนท้องถึงสูง?
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เรื่องของฮอร์โมนที่พบในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ ซึ่งก็มีฮอร์โมนบางชนิดได้แก่ เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนที่สามารถพบได้ในคนปกติที่ไม่มีภาวะตั้งครรภ์การที่เราพบฮอร์โมนบางชนิดสูงในคุณแม่ที่มีภาวะตั้งครรภ์สูงกว่าคนทั่วไป จึงเป็นตัวบ่งบอกว่าคุณแม่นั้นอยู่ในภาวะตั้งครรภ์เพราะแน่นอนว่าการที่ฮอร์โมนอย่าง HCG และ HPL สูงในผู้หญิงแสดงว่าในช่วงนั้นมีการปฏิสนธิของไข่และสเปิร์มและเข้าสู่การตั้งครรภ์นั่นเอง
นอกจากนี้ การที่ฮอร์โมนบางชนิดสูงในขณะตั้งครรภ์ยังช่วยควบคุมการทำงานของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ให้ทำงานปกติ ควบคุมการบีบตัวของมดลูก อีกทั้งยังกระตุ้นให้มีการนำสารอาหารไปเลี้ยงทารกในครรภ์ได้เพียงพอต่อการเจริญเติบโตในแต่ละช่วงวัย และกระตุ้นการทำงานของต่อมน้ำนมให้มีการผลิตน้ำนมสำหรับเลี้ยงทารก
เห็นหรือไม่คะว่าฮอร์โมนแต่ละตัวมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะคุณแม่ที่อยู่ในช่วงการตั้งครรภ์จึงควรรู้จักการทำงานของฮอร์โมนเหล่านี้ เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนที่สูงหรือต่ำเกินไปอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้อันตรายระหว่างการตั้งครรภ์ได้ ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงของออร์โมนต่าง ๆ ยังบ่งบอกถึงสุขภาพของครรภ์ และการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้อีกด้วย คุณแม่สามารถทราบระดับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเหล่านี้ได้จากแพทย์ที่ดูแลครรภ์หรือสถานพยาบาลที่คุณแม่ไปฝากครรภ์ได้ การรู้หน้าที่และระดับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคุณแม่และคุณพ่อที่กำลังจะมีลูกน้อย เพื่อการวางแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงหรือเหตุการณ์ต่างที่อาจเกิดขึ้น หากเกิดความผิดปกติในระหว่างตั้งครรภ์และในอนาคต