แชร์ประสบการณ์!! ครรภ์เป็นพิษ คลอดก่อนกำหนด

แชร์ประสบการณ์ตรง-ครรภ์เป็นพิษ-คลอดก่อนกำหนด-ก่อนคลอดหมอบอกให้ทำใจ 1_2
การคลอดและหลังคลอด

Last Updated on 2023 06 16

“การคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากครรภ์เป็นพิษ” ส่วนตัวแล้วพอรู้มาว่ามีหลายสาเหตุ มาถึงคราวของตัวเอง พอรู้ว่าท้องก็เคยคิดเหมือนกันว่าตัวเองอาจต้องคลอดก่อนกำหนด เพราะมีโรคความดันโลหิตสูงเป็นทุน (ซึ่งตอนนี้หายแล้วนะคะ เพราะผ่าตัด) แต่…ความคิดนี้ก็ถูกปล่อยวางไป เพราะระหว่างที่ท้องนั้นต้องการให้ตัวเองมีแต่ความสุข ลูกจะได้มีความสุขไปด้วย จนเวลาล่วงเลยมาเดือนที่ 7 ทุกอย่างก็ดูเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากที่เคยให้กำลังใจตัวเองว่าเราสามารถเดินไปได้สุดทาง 9 เดือนก็มีแววว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะ “ครรภ์เป็นพิษ” มาค่ะ โน้ตจะเล่าประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับเรื่องครรภ์เป็นพิษและต้องคลอดก่อนกำหนดให้ฟัง เผื่อคุณแม่คนไหนที่เข้าข่ายอาจต้องดูแลตัวเองมากขึ้น ใกล้ชิดคุณหมอมากกว่าเดิม

สุขภาพก่อนการตั้งครรภ์

ก่อนหน้านี้โน้ตเคยทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งย่านรัชดา แล้วย้ายไปทำอีกที่หนึ่งแต่เป็นเครือเดียวกัน มาวันหนึ่งพี่ที่บริษัทชวนมาบริจาคเลือดที่ที่ทำงานเก่า พอเลิกงานช่วงเย็นจึงเดินทางไปที่นั่น พอไปถึงก็นั่งพักประมาณ 10 นาที แล้วไปวัดความดัน พยาบาลที่วัดความดันเห็นตัวเลขแล้วมีสีหน้าเหมือนตกใจแต่พยายามไม่แสดงอาการมาก (แต่โน้ตรู้สึกว่าแปลก ๆ) เค้าวัดให้อีกครั้ง ความดันก็ดูไม่ลดลงเลย เค้าหันหน้าจอไปทางคุณหมอที่รอตรวจสุขภาพด้านอื่นด้วย คุณหมอส่ายหน้า เอาล่ะสิ คุณหมอเดินมาแนะนำว่าให้พรุ่งนี้ให้ไปโรงพยาบาลเพื่อเช็คอาการอีกที

เช้าวันรุ่งขึ้น ไปหาคุณหมอที่โรงพยาบาล ด้วยอาการความดันสูงเท่าเมื่อวานคือ 185/100 คุณหมอให้อัลตร้าซาวน์ที่ไต ผลออกมาไม่พบเนื้องอกแต่อย่างใด สรุปคือ เราเป็นโรคความดันสูงตั้งแต่อายุ 34 ปี แบบกรรมพันธุ์ (แต่เรื่องความดันสูง สรุปแล้วไม่ใช่กรรมพันธุ์นะคะ เพราะตอนนี้ผ่าตัด และหายเป็นปกติแล้ว)

สุขภาพช่วงตั้งครรภ์

เวลาล่วงเลยมากับการกินยาลดความดันโลหิตสูงมาตลอด โน้ตมาท้องน้องมินก็อายุ 35 ปี แต่ตอนฝากครรภ์ก็แจ้งคุณหมอสูตินรีเวชไว้ด้วยว่าเรามีโรคประจำตัว คุณหมอจะได้มอร์นิเตอร์เราได้

ฝากครรภ์

วันที่ฝากครรภ์คุณหมอจะมียามาให้ทานค่ะ เท่าที่จำได้จะมีโฟเลต และแคลเซียม (จริง ๆ มีอีกค่ะแต่จำไม่ได้แล้ว) ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี โน้ตไม่มีอาการแพ้ท้องเลย กลับกันจะหิวทุก 2 ชั่วโมง นั่งทำงานไปกินไป เพราะฉะนั้น ช่วงเช้าก่อนเข้าออฟฟิศจะตุนของกินไว้เยอะมาก คือ ถ้าเป็นคนทั่วไปสามารถกินได้ทั้งวัน แต่ของโน้ตแค่ครึ่งวัน 555

ทุกครั้งที่คุณหมอนัดตรวจ โน้ตก็จะไปทุกครั้ง จนมาวันหนึ่งโน้ตไปหาคุณหมอตามปกติ คุณหมอก็วัดความดัน แต่คราวนี้ไม่เหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมาที่ตรวจเสร็จจะกลับบ้านได้ เพราะสีหน้าคุณหมอที่พยายามนิ่งสุดแล้ว แต่โน้ตก็สัมผัสได้ เพราะคุณหมอขอวัดซ้ำ ผลคือ ความดัน 190/110 คุณหมอพูดด้วยเสียงที่นุ่มนวลว่า

“วันนี้จะไปทำธุระที่ไหนมั้ย? ไปนอนแอดมิทดูอาการเล่น ๆ ก่อนมั้ยครับที่โรงพยาบาล?”

ห้องคลอดฉุกเฉิน นอนรอดูอาการ

แอดมิทครั้งแรก

หลังจากเปลี่ยนเสื้อผ้าเข้าแอดมิทที่ห้องคลอดฉุกเฉิน การเข้าเยี่ยมคือได้วันละ 1 ชั่วโมง คือ ประมาณ 18:00-19:00 น. พอเข้าไปถึงปุ๊บพยาบาลวิชาชีพ 2 คน พยาบาลฝึกหัด 3 คนมาช่วยกันปิดม่าน ฉีดยากันชักให้แม่ ยากระตุ้นปอดเด็ก เช็ดตัว เปิดเส้นให้น้ำเกลือ ใส่สายสวน และต้องมอร์นิเตอร์ความดันทุกชั่วโมง คือทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากภายในไม่เกิน 15 นาที พอสามีเดินเข้ามาหาสภาพจากที่ดูไม่ป่วยก็ดูป่วยทันที

คืนนั้นเวลาผ่านไปประมาณ 1 ทุ่ม คุณหมอให้กลับบ้านได้แต่ต้องไปดูอาการที่บ้านต่อ วัดความดันตลอด พอมาถึงบ้านก็นอนพักต่อ แต่เวลาผ่านไปประมาณเกือบเที่ยงคืน ต้องกลับเข้าแอดมิทอีกรอบเพราะความดันยังสูงอยู่ 190/110

แอดมิทครั้งที่สอง

กลับมาที่ห้องฉุกเฉิน ภาพทุกอย่างมันเหมือนเดจาวู (Dejavu = ระลึกภาพซ้ำที่เคยเกิดแล้ว) ทุกอย่างกลับไปทำเหมือนครั้งแรกที่เพิ่งแอดมิท คือ

“ปิดม่าน ฉีดยากันชักให้แม่ ยากระตุ้นปอดเด็ก เช็ดตัว เปิดเส้นให้น้ำเกลือ ใส่สายสวน และต้องมอร์นิเตอร์ความดันทุกชั่วโมง”

แต่คราวนี้ไม่เหมือนคราวแรกตรงที่อยู่ยาว พยาบาลกำชับว่า ถ้ามีอาการดังนี้ให้เรียกพยาบาลทันที..

“แน่นหน้าอก จุกที่ลิ้นปี่ ตาพร่ามัว มองเห็นแสงเป็นเส้น ๆ และปวดหัว”

 
…เพราะเหล่านี้คือ “อาการนำชัก” คือ อาการที่จะนำไปสู่การชักนั่นเอง ซึ่งถ้าแม่ชักอาจทำให้เสียชีวิตทั้งแม่และลูกได้

เวลาล่วงเลยเข้าวันที่ 4 ของการแอดมิท คุณหมอให้ถอดสายสวนได้ เวลาจะไปห้องน้ำให้เดินไปเข้าห้องน้ำได้ ซึ่งพอโน้ตเดินเข้าห้องน้ำปุ๊บกลับมาที่เตียงความดันก็ขึ้น ต้องโดนให้ยาลดความดันผ่านสายน้ำเกลือ เป็นแบบนี้อยู่หลายครั้ง ร่างกายก็บวมมาก มองหาเส้นเลือดไม่เจอ จนเข้าวันที่ 7 ของการแอดมิท หมอมาดูอาการ สรุปว่าต้องผ่าคลอดก่อนกำหนด เพราะ 2-3 วันหลังมานี่ อาหารที่แม่กินเข้าไปมันไม่ถึงลูกแล้ว แต่คุณหมอพูดด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลเหมือนเคยว่า

“คุณแม่ต้องทำใจนะครับ เพราะลูกครรภ์ของลูก 7 เดือน 4 วัน”

           หลังจากนั้น พยาบาลจะเปิดเส้นใหม่เพื่อเตรียมผ่าคลอด แต่หาเส้นเลือดไม่เจอ ร่างกายมีแต่น้ำ สุดท้ายต้องเปิดเส้นที่ข้อเท้าแทน

ภาพประกอบ แชร์ประสบการณ์ตรง ครรภ์เป็นพิษ คลอดก่อนกำหนด 1_1

ครรภ์เป็นพิษ เข้าห้องผ่าคลอดฉุกเฉิน

ทันทีที่คุณหมอตัดสินใจที่จะผ่าคลอดก่อนกำหนด ทีมพยาบาล และทีมวิสัญญีก็เตรียมพร้อมความพร้อมให้คุณหมอ เตรียมห้อง ในขณะที่คุณหมอก็โทรบอกสามีและอธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมต้องผ่าตัด สามีก็เดินทางมาที่โรงพยาบาลทันที

ความกังวลของโน้ตก็เกิดขึ้นอีกแล้ว คิดไปว่า

“ถ้าผ่าคลอดแล้ว ลูกมีอายุ 7 เดือน 4 วัน เค้าจะร้องเหมือนเด็กที่คลอดปกติทั่วไปมั้ยนะ?”

           การผ่าคลอดเป็นไปด้วยดี ไม่กี่นาทีก็ได้ยินเสียง…

“อุแว๊ อุแว๊” (นั่นเสียงลูกเราอะ ดีใจสุด ๆ)

ICU เด็กทารกแรกเกิด

น้องมิน คลอดออกมาด้วยน้ำหนัก 1,240 กรัม ทันทีที่คลอดออกมาต้องพาน้องมินเข้าห้อง ICU เด็กเลย เพื่อทำการดูแลรักษากันต่อไป

หลังจากผ่าคลอดแล้ววันที่ 2 โน้ตก็ลงไปหาลูกที่ห้อง ICU เด็ก น้ำหนักก่อนเข้าตู้อบอยู่ที่ 1,240 กรัม แต่พอหลังจากเข้าตู้อบแล้วน้ำหนักลดลงเหลือ 1,100 กรัม มีสาย feed อาหารส่งยาวไปถึงกระเพาะอาหาร คำถามคือ

“แล้วเมื่อไหร่ลูกถึงจะออกจากห้อง ICU เด็ก แล้วไปอยู่ที่ห้องทารกแรกเกิดปกติได้?”

1,800 กรัม คือ เป้าหมายค่ะ

เวลาผ่านไปประมาณ 1 เดือนในห้อง ICU เด็ก โน้ตไปหาลูกทุกวัน ดูแลลูกทุกวัน พูดคุยกับลูกทุกวัน
…และแล้ววันนั้นก็มาถึง น้องมินน้ำหนักถึงเกณฑ์ ได้ย้ายไปอยู่ห้องเด็กแรกเกิดปกติ

ผู้ที่มีความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ

ผู้ที่มีความเสี่ยงจะเกิดอาการครรภ์เป็นพิษ ได้แก่

  • ผู้ที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุเกินกว่า 35 ปี ขึ้นไป
  • ผู้ที่มีโรคอ้วน หรือมีหลอดเลือดที่ไม่ค่อยดี อาจเกิดโอกาสตีบได้ง่าย
  • ผู้ที่มีบุตรยาก
  • ผู้ที่มีกรรมพันธุ์หรือในครอบครัวมีประวัติการเกิดครรภ์เป็นพิษมาก่อน
  • คุณแม่ที่เคยมีลูกมาแล้วกว่า 1 คน
  • คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ลูกแฝด
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนการตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวาน, โรคไต, โรคไทรอยด์, โรคภูมิแพ้ตัวเอง ฯลฯ

สัญญาณเตือนครรภ์เป็นพิษ: อาการนำชัก

ในช่วงที่แม่โน้ตเข้าโรงพยาบาล นอนรอดูอาการในห้องฉุกเฉิน คุณหมอและพยาบาลแจ้งโน้ตไว้ก่อนแล้วค่ะว่าถ้าหากมีอาการเหล่านี้เมื่อไหร่ เช่น จาก 3 ในทั้งหมดนี้ ให้เรียกพยาบาลทันที เพราะนั่นคือ อาการนำชัก

  • มีอาการบวม ที่มือ, เท้า และหน้า
  • ปวดศีรษะมาก ทานยาแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้นเร็ว โดยที่ปกติแล้วน้ำหนักของแม่จะเพิ่มเดือนละประมาณ 5-2 กิโลกรัม
  • ทารกดิ้นน้อยลง
  • ความดันสูงที่ 140/90 มิลลิเมตรปรอท
  • ตาพร่ามัว มองเห็นแสงไฟเป็นแฉก ๆ
  • ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ
  • จุกเสียดที่หน้าอก บริเวณลิ้นปี่ หรือชายโครงด้านขวา

ระดับความรุนแรงของครรภ์เป็นพิษ

ครรภ์เป็นพิษ มีระดับความรุนแรงที่ 3 ระดับ ดังนี้

ครรภ์เป็นพิษ: ระดับที่ไม่รุนแรง (Non – Severe Pre – Eclampsia)

เมื่อวัดความดันของคุณแม่ตั้งครรภ์จะพบว่ามีความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท แต่ไม่เกิน 160/110 มิลลิเมตรปรอท ระดับนี้ยังไม่พบภาวะแทรกซ้อน

ครรภ์เป็นพิษ: ระดับรุนแรง (Severe Pre – Eclampsia)

ในระดับนี้คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีความดันโลหิตสูงกว่า 160/110 หรือตรวจพบความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ไตทำงานลดลง ตับอักเสบ เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดแดงแตก และอีกมากมาย

ครรภ์เป็นพิษ: ระดับรุนแรงและมีภาวะชัก (Eclampsia)

ระดับนี้คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีอาการชัก เกร็ง หมดสติ เสี่ยงต่อการมีเลือดออกในสมอง หากอยู่ในระยะนี้ต้องรีบรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะเสี่ยงต่อชีวิตทั้งคุณแม่และลูก

น้ำนมแม่ ทำให้ลูกรอดชีวิต

“อะไรคือ สิ่งที่ทำให้น้องมินรอดชีวิตได้?”

น้ำนมแม่ น้ำนมแม่เท่านั้นจริง ๆ

         หลังจากออกจากห้องคลอด สิ่งที่โน้ตต้องทำคือ ปั๊มนม ปั๊ม ๆ ๆ และก็ปั๊ม จำได้ว่าครั้งแรกที่ได้น้ำนมเป็นน้ำนมหัวเหลือง (มีประโยชน์มากที่สุด) ปริมาณ 2 cc. ให้สามีวิ่งลงไปให้ที่ห้อง ICU เด็ก พยาบาลบอกว่าได้เท่าไหร่ก็เอามาได้เลย หลังจากนั้น “วินัย” คือ ตัวสำคัญ คุณแม่ที่มีลูกน้อย การปั๊มนมทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง เป็นอะไรที่ควรทำอย่างยิ่งค่ะ

น้องมินกินแต่นมแม่อย่างเดียวตั้งแต่วันแรกที่เค้าออกจากท้องของโน้ตไปจนวันที่เค้าสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ ก่อนออกจากโรงพยาบาล พยาบาลย้ำว่า

“ถ้ากลับบ้านแล้ว ลูกมีน้ำหนักลดต่ำกว่า 1,800 กรัม ต้องกลับมาโรงพยาบาลนะคะ”

           ประโยคนี้ยังก้องอยู่ในหัว และนั่นคือสิ่งที่ โน้ตสัญญากับตัวเองและลูกว่า…

“แม่จะดูแลหนูให้ดีที่สุด จะไม่ให้หนูต้องกลับมาโรงพยาบาลเพราะน้ำหนักลดเด็ดขาด”

นับจากวันนั้นจนวันนี้ น้องมินมีอายุได้ 5 ขวบ น้องมินไม่เคยกลับไปโรงพยาบาลเพราะน้ำหนักตัวลดอีกเลย น้ำนมแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในโลกสำหรับทารกแล้วจริง ๆ

ขอบคุณ คุณหมอธีระพงศ์ เมฆสงค์ สูตินรีแพทย์ และทีมพยาบาล โรงพยาบาลราชบุรี ที่ให้การดูแลและรักษาเป็นอย่างดีค่ะ


Mommy Note

3,127,044 views

คุณแม่ลูกหนึ่ง ที่ใช้วิธีการเลี้ยงลูกแบบ "Tradigital" แบบดั้งเดิมผสมผสานกับความดิจิทัลในยุคปัจจุบัน เน้นเลี้ยงลูกให้เป็นคนธรรมดาที่มีสุข ติดต่องานได้ที่ e-mail : simplymommynote@gmail.com

Profile

Pickup posts

Related posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save