อาจได้ยินคนรอบกายบอกให้ทานเยอะ ๆ เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ แต่ในทางการแพทย์ ภาวะน้ำหนักเกินขณะตั้งครรภ์ สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายทั้งต่อแม่และทารกในครรภ์ได้ค่ะ หากแม่ทราบว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ สิ่งแรกที่ควรทำ คือ ฝากครรภ์ กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลตัวเองอย่างถูกต้องตลอดระยะการตั้งครรภ์ ตรวจสุขภาพ และคัดกรองภาวะเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตราย อีกสิ่งหนึ่งที่แพทย์ให้ความสนใจ คือเรื่องภาวะน้ำหนักตัวของแม่ โดยคุณแม่จำเป็นที่จำต้องควบคุมน้ำหนักไม่ให้อยู่ในภาวะน้ำหนักเกินเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ค่ะ
การควบคุมน้ำหนักของแม่ขณะตั้งครรภ์
ทางการแพทย์ส่วนใหญ่จะให้คำแนะนำภาวะน้ำหนักตัวของแม่ก่อนการตั้งครรภ์ ขณะตั้งครรภ์ และหลังการตั้งครรภ์ เพื่อลดโอกาสที่ทารกจะมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ (Low birth weight) เป็นหลักและค่าสถิติที่ใช้ในการให้คำแนะนำโดยมากอ้างอิงจากเอกสารต่างประเทศซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับรูปร่างของคนเอเชีย หรือคนไทย ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2547 องค์การอนามัยโลก ( WHO ) จึงได้แนะนําดัชนีมวลกายก่อนการตั้งครรภ์ที่เหมาะสมกับชาวเอเชียรวมทั้งชาวไทยด้วย
ตารางที่ 1 – ตารางเปรียบเทียบ ดัชนีมวลกายก่อนการตั้งครรภ์
อ้างอิงจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และน้ําหนักตัวที่แนะนําให้เพิ่มขึ้นทั้งหมดตลอดการตั้งครรภ์
ภาวะน้ำหนักตัว |
ดัชนีมวลกายก่อนตั้งครรภ์ WHO (กิโลกรัม / ตารางเมตร) |
น้ำหนักตัวที่เหมาะสม ตลอดการตั้งครรภ์ |
---|---|---|
น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ (Underweight) |
< 18.5 | 12.5 – 18 |
น้ำหนักปกติ (Normal) | 18.5 – 24.9 | 11.5 – 16 |
น้ำหนักเกิน (Overweight) | >= 25 – 29.9 | 7 – 11.5 |
อ้วน (Obesity) | >= 30 | – |
การเพิ่มน้ำหนักตัวขณะตั้งครรภ์ที่เหมาะสม
แม่ตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักก่อนการตั้งครรภ์ในเกณฑ์ปกติ แนะนําให้มีการเพิ่มน้ําหนักขณะตั้งครรภ์ในอัตรา 408 กรัมต่อสัปดาห์ ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์ สําหรับแม่ที่มีน้ําหนักเกินหรืออ้วน แนะนําให้เพิ่มขึ้นน้อยกว่าเล็กน้อย และแม่ที่มีน้ําหนักน้อยกว่าปกติ แนะนําให้เพิ่มขึ้นมากกว่านี้เล็กน้อย
น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร?
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักแม่ขณะตั้งครรภ์ เป็นผลมาจากองค์ประกอบเหล่านี้ที่เปลี่ยนแปลงไปภายในร่างกายของแม่
ผลผลิตจากการตั้งครรภ์
ได้แก่ ทารก รก และน้ําคร่ํา
เนื้อเยื่อของแม่
ได้แก่ มดลูก เต้านมที่ขยายใหญ่ขึ้น และปริมาตรเลือดที่เพิ่มมากขึ้น
ไขมันที่สะสมมากขึ้นในตัวของแม่
ขณะที่องค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้ยังสามารถ จําแนกออกเป็นองค์ประกอบย่อยได้อีก ดังนี้
น้ำ
คิดเป็นปริมาณ 60% ของน้ําหนักตัวที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด
ไขมัน
คิดเป็น 30% ของน้ําหนักตัวที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด เป็นองค์ประกอบที่มีความแปรผันมากที่สุด และมีความสําคัญมากที่สุดที่ทําให้เกิดความแตกต่างของการเพิ่มขึ้นของน้ําหนักตัวขณะตั้งครรภ์
โปรตีน
คิดเป็น 5% ของน้ําหนักตัวที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด
อาการแทรกซ้อน จากภาวะน้ำหนักเกิน
ภาวะน้ำหนักเกินของแม่ตั้งครรภ์ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของแม่และทารก มีผลกระทบที่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนี้
ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
หากน้ำหนักแม่ขณะตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นมากกว่า 15 – 16 กิโลกรัม ก็อาจมีภาวะความเสี่ยงนี้
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
แม่มีภาวะน้ำหนักเกินขณะตั้งครรภ์ มีแนวโน้มสูงมากที่จะตรวจพบ Impaired Glucose Tolerance
ผ่าคลอดแทนคลอดธรรมชาติ
ความเสี่ยงในการผ่าตัดคลอดจะพบมากขึ้นในแม่ที่มีภาวะอ้วนก่อนการตั้งครรภ์หรือมีภาวะน้ำหนักเกินขณะตั้งครรภ์มากกว่า 15-16 กิโลกรัม
แท้งบุตร
แม่ที่มีภาวะน้ำหนักเกินมีความเสี่ยงต่ออาการครรภ์เป็นพิษ ซึ่งเป็นเหตุให้คลอดก่อนกำหนด แท้งบุตร หรือต้องยุติการตั้งครรภ์ได้
โรคเรื้อรังต่าง ๆ
ไม่พบว่าภาวะน้ำหนักเกินขณะตั้งครรภ์จะมีความสัมพันธ์กับโรคเรื้อรังต่าง ๆ แต่พบว่า แม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเกิด Type 2 Diabetes ในอนาคตได้
คลอดก่อนกำหนด
แม้จะมีหลายปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการคลอดก่อนกำหนด แต่ภาวะน้ำหนักเกินของแม่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเช่นกัน โดยพบว่าแม่ที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด คือแม่ที่มีน้ําหนักตัวเพิ่มขึ้น 0.27 – 0.44 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ และกลุ่มที่เสี่ยงมากที่สุดคือ แม่ที่มีน้ําหนักตัวก่อนตั้งครรภ์น้อยกว่าปกติและแม่ที่มีน้ําหนักเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 0.1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์
คลอดยาก
เมื่อแม่น้ำหนักมาก ลูกในท้องก็จะตัวหนักและโตตามไป แม่จึงคลอดยาก บาดเจ็บ หรือถึงขั้นเสียชีวิตจากความบอบช้ำระหว่างคลอดได้
ปากแหว่งเพดานโหว่
ปริมาณไขมันและน้ำตาลในร่างกายแม่ที่สูงเกินไป อาจส่งผลให้ทารกในครรภ์พิการ โดยอาการที่พบมากสุด คือ ปากแหว่งเพดานโหว่
ตกเลือดตอนคลอด
ภาวะน้ำหนักเกินนอกจากจะทำให้ทารกในครรภ์มีขนาดตัวใหญ่คลอดออกมายาก ยังทำให้มดลูกของแม่หดตัวไม่ดีหลังคลอด จนมีเลือดคั่งค้างในมดลูกหรือเกิดการตกเลือดได้
เทคนิคการดูแลน้ำหนักตัวขณะตั้งครรภ์
กุญแจสำคัญของการเพิ่มน้ำหนักอย่างมีคุณภาพและสุขภาพดีขณะตั้งครรภ์คือ การรับประทานอาหารที่สมดุล ซึ่งรวมถึงการประเมินแคลอรีในแต่ละวันของแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ด้วย
น้ำหนักตัว – ไตรมาสแรก
แม่ยังไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารที่มีแคลอรีเพิ่มขึ้นจากเดิม เว้นแต่ว่าแม่มีเกณฑ์น้ำหนักน้อยก่อนการตั้งครรภ์
ไตรมาสที่สอง
แม่ควรรับประทานเพิ่มขึ้นประมาณ 300 ถึง 350 แคลอรี่ต่อวันจากเดิมก่อนการตั้งครรภ์
ไตรมาสที่สาม
แม่มีต้องการรับประทานอาหารเพิ่มขึ้นประมาณ 500 แคลอรี่ต่อวันมากกว่าตอนก่อนตั้งครรภ์
น้ําหนักตัวของแม่ทั้งก่อนตั้งครรภ์ ขณะตั้งครรภ์ และหลังคลอดมีความสําคัญต่อการทํานายสุขภาพของแม่ และทารกในอนาคตด้วย แม้ว่าจะมีอีกหลาย ๆ ปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็ตาม แต่ถึงอย่างนั้นแม่ก็ไม่ควรเป็นกังวลและจับจ้องน้ำหนักที่ขึ้นหรือลงตลอดการตั้งครรภ์มากเกินไป ควรดูภาพรวมตราบใดที่แม่ยังรับประทานอาหารที่ถูกต้องตามโภชนาการ ไปตามนัดหมายของการฝากครรภ์ และยังไม่มีคำแนะนำใดที่น่ากังวลจากแพทย์ผู้รับฝากครรภ์ ก็ขอให้แม่ดำเนินการตั้งครรภ์อย่างผ่อนคลายเพื่อทารกในครรภ์ที่แข็งแรงสมบูรณ์
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- สมุนไพรที่ทำให้ตกเลือด แม่ท้องควรเลี่ยง