Site icon simplymommynote

เร่งคลอดธรรมชาติ คุณแม่ใกล้คลอดควรรู้

เร่งคลอดธรรมชาติ คุณแม่ใกล้คลอดควรรู้

การคลอดที่คนส่วนใหญ่แนะนำและคุณแม่ส่วนใหญ่อยากทำก็คือ การคลอดธรรมชาติ ซึ่งลูกจะเป็นผู้กำหนดเวลาที่จะคลอดด้วยตัวเองและมีผลดีอย่างมากต่อสุขภาพของคุณแม่และลูก เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 ซึ่งถือว่าครบกำหนดตั้งแต่อายุครรภ์ 37 สัปดาห์เป็นต้นไป คุณแม่อาจมีอาการเจ็บท้องคลอดเกิดขึ้นได้ตลอดเวลานับจากนี้ หลายบ้านเตรียมจัดกระเป๋าสแตนบายรอเดินทางไปโรงพยาบาล แต่คุณแม่บางคนก็ใช้เวลาในการตั้งครรภ์ทั้งหมด 40 สัปดาห์ นับจากประจำเดือนครั้งสุดท้าย แต่หากเลยระยะเวลาครบกำหนดคลอดไปแล้วยังไม่มีอาการเจ็บท้องเตือน หรืออาการใด ๆ คุณแม่มักจะรู้สึกกังวล เพราะหากปล่อยให้อายุครรภ์นานเกินไป อาจเกิดภาวะรกเสื่อมส่งผลต่อความปลอดภัยของลูกในครรภ์ได้ วันนี้แม่กิฟท์จึงมีวิธีเร่งคลอดธรรมชาติมาฝากกันค่ะ

การเร่งคลอด คืออะไร

“การเร่งคลอด การชักนำการคลอด หรือ การกระตุ้นคลอด (Induction of labor)” คือ การทำให้เกิดอาการเจ็บท้องคลอดโดยอาศัยเทคนิคหรือวิธีการต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้วคุณหมอจะแนะนำวิธีธรรมชาติก่อน วิธีเร่งคลอด ถ้าแบ่งตามการใช้ยาสามารถแบ่งการเร่งคลอดเป็น 2 วิธี คือ

หากคุณแม่ยังไม่มีอาการเจ็บท้องคลอดเองตามธรรมชาติ คุณหมอก็จะทำการช่วยเร่งคลอดให้ แต่จะต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ในบางกรณีอาจมีเหตุผลที่ไม่สามารถรอธรรมชาติเป็นตัวกำหนดให้เจ็บครรภ์คลอดได้ แพทย์จึงจำเป็นต้องให้มีการเร่งคลอดเกิดขึ้นเพื่อช่วยชีวิตคุณแม่และทารกในครรภ์เอาไว้ค่ะ

กรณีที่ควรเร่งคลอด

กรณีเร่งคลอดที่คุณหมอจะสามารถทำให้ได้ ต้องมีข้อบ่งชี้ ดังนี้ค่ะ

คุณแม่ตั้งครรภ์เกิน 40 สัปดาห์

หรือ Postterm pregnancy พบได้บ่อยที่สุด เพราะถ้าปล่อยไว้รกจะเสื่อมทำให้ทารกขาดออกซิเจนและอาหารที่จะส่งไปเลี้ยงได้

คุณแม่อยู่ห่างไกลโรงพยาบาลมาก

ถ้ารอให้เจ็บครรภ์คลอดก่อนอาจทำให้มีการคลอดระหว่างทางได้

ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด

หรือ Premature rupture of membranes หรือก่อนที่อายุครรภ์จะครบ 37 สัปดาห์ หากปล่อยไว้นานเกินไป อาจเกิดการติดเชื้อหรือเสี่ยงที่ลูกในครรภ์มีความพิการแต่กำเนิดได้

ทารกในครรภ์เติบโตช้าหรือมีน้ำหนักตัวน้อย

หรือ Severe fetal growth restriction เนื่องจากคุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเลือด โรคติดเชื้อต่าง ๆ หรือสภาพมดลูกไม่สมบูรณ์, คุณแม่ที่สูบบุหรี่จัด และคุณแม่รับประทานอาหารที่ไม่เพียงพอและเหมาะสมในขณะตั้งครรภ์ ในกรณีนี้คุณหมออาจตัดสินใจเร่งคลอดเพื่อนำเด็กออกมาเลี้ยงข้างนอกจะปลอดภัยกว่า

ความดันโลหิตสูง หรือ ครรภ์เป็นพิษ

ความดันโลหิตสูง (Gestational hypertension) หรือ ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia, Eclampsia) เป็นภาวะที่ทำให้เส้นเลือดทั่วร่างกายหดรัดตัว ทำให้ปริมาณของเลือดที่ส่งไปเลี้ยงจึงลดน้อยลง ถ้าปล่อยไว้อาจทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตได้ หรือถ้าหากคุณแม่มีอาการชัก คุณแม่ก็เสี่ยงเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้เช่นกัน

การตั้งครรภ์แฝดที่มีภาวะแทรกซ้อน

ที่อาจทำให้ทารกในครรภ์ไม่แข็งแรง หรือเสี่ยงต่อชีวิตของคุณแม่และทารก

ทารกเสียชีวิตในครรภ์ (Fetal death)

หากปล่อยให้ทารกที่เสียชีวิตแล้วยังอยู่ในครรภ์และยังไม่หลุดออกมาเองนานไป จะทำให้คุณแม่เกิดภาวะลิ่มเลือดไม่แข็งตัวได้ และอาจมีส่วนเสื่อมสลายของลูกหลุดเข้าไปในกระแสเลือดได้

กรณีอื่น ๆ

เช่น ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด (Abruptio placenta), ภาวะน้ำคร่ำน้อย (Oligohydramnios) และ คุณแม่เกิดการอักเสบติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ (Chorioamnionitis)

วิธีเร่งคลอดธรรมชาติ

สำหรับคุณแม่ที่อายุครรภ์ 40 สัปดาห์แล้วแต่ยังไม่มีอาการเจ็บท้องคลอด คุณแม่สามารถใช้วิธีต่อไปนี้ช่วยกระตุ้นได้ แต่คุณแม่ต้องใช้ความระมัดระวัง และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของสูตินรีแพทย์ เพื่อให้วินิจฉัยสภาวะครรภ์ของคุณแม่ว่ามีภาวะแทรกซ้อน และเหมาะสมกับวิธีต่าง ๆ เหล่านี้ด้วยไหมนะคะ

ออกกำลังกาย

คุณแม่สามารถออกกำลังกายเบา ๆ ด้วยการนั่งบนลูกบอลโยกตัวไปมา การยืนหรือเดินให้เยอะขึ้น เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายแบบนี้ทำให้มีแรงโน้มถ่วงไปช่วยเพิ่มแรงดันที่ปากมดลูก และส่งผลให้ตำแหน่งของทารกเคลื่อนต่ำลงมาอยู่ในตำแหน่งการคลอด และควรมีคุณพ่อดูแลการออกกำลังกายอย่างใกล้ชิดเผื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นค่ะ

การมีเพศสัมพันธ์

การมีเพศสัมพันธ์อย่างนุ่มนวลในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการคลอดมีผลดีหลายอย่างนะคะ เช่น การถึงจุดสุดยอดในขณะร่วมเพศ ทำให้ร่างกายคุณแม่ปล่อยฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ออกมามีผลช่วยให้มดลูกมีการหดตัวได้ดีขึ้น และในน้ำอสุจิของคุณพ่อก็มีฮอร์โมนพรอสตาแกลนดิน(Prostaglandins) ที่ช่วยให้ปากมดลูกคุณแม่นิ่มขึ้นทำให้มดลูกขยายตัวได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์หลังจากที่น้ำคร่ำแตก เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ค่ะ

การกระตุ้นบริเวณเต้านม

การกระตุ้นเต้านมโดยเฉพาะบริเวณหัวนม (Breast stimulation) ด้วยการนวดคลึงหรือดูดจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนออกซีโตซินออกมา คุณแม่สามารถใช้ฝ่ามือนวดบริเวณลานนมอย่างอ่อนโยนครั้งละ 15-20 นาทีทุก ๆ ชั่วโมง วันละหลาย ๆ ครั้ง จะช่วยมดลูกมีการบีบรัดตัวเพิ่มมากขึ้น และยังช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมของคุณแม่ได้ด้วยค่ะ

การฝังเข็ม

ในการฝังเข็มควรได้รับการดูแลจากผู้แพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลป์ การฝังเข็มสามารถช่วยปรับสมดุลของอวัยวะภายใน และยังไปกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหรือระบบต่อมไร้ท่อ ไปเร่งให้เกิดการหดตัวของมดลูกมากขึ้นด้วยค่ะ

การกดจุด

การกดจุดเป็นศาสตร์ของแพทย์แผนจีนเช่นกันทำเพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังมดลูกทำให้ตอบสนองต่อฮอร์โมนได้ดีขึ้น และกระตุ้นการหดตัวของมดลูก ดังนั้นควรใช้วิธีนี้เมื่อได้รับอนุญาตจากสูตินรีแพทย์เท่านั้นนะคะ

ดื่มน้ำมันละหุ่ง (Castor oil)

การดื่มน้ำมันละหุ่งเพียงเล็กน้อย 1-2 ออนซ์ ( 30 – 60 มล.) จะช่วยกระตุ้นการหลั่งพรอสตาแกลนดิน ซึ่งจะช่วยทำให้ปากมดลูกนิ่มมดลูกขยายตัวได้ดีขึ้น แต่ต้องปรึกษาคุณหมอก่อนการดื่มนะคะ

กินอินทผลัม

มีงานวิจัยบอกไว้ว่าในสัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์ หากคุณแม่กินอินทผลัมจะช่วยทำให้มดลูกนิ่มขึ้น การขยายตัวของมดลูกทำได้ดีขึ้น และยังสามารถลดการเร่งคลอดด้วยการใช้ยาได้ค่ะ

หากคุณแม่มีอายุครรภ์ยังไม่ครบ 37 สัปดาห์การทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวมาก็ต้องระมัดระวังเช่นกันนะคะเพราะอาจไปเร่งการบีบตัวของมดลูกมากเกินไปอาจทำให้คลอดก่อนกำหนดได้ และอารมณ์ของคุณแม่เองก็มีส่วนสำคัญต่อคุณภาพการคลอดค่ะ ดังนั้นคุณแม่ควรทำจิตใจให้ผ่อนคลาย พยายามพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เป็นกังวลในการคลอดมากจนเกินไป แม่กิฟท์เองก็คลอดด้วยวิธีธรรมชาติ เตรียมตัวด้วยการอ่านข้อมูลขั้นตอนการคลอดเอาไว้จะได้รู้ว่าต้องเจออะไรบ้างในห้องคลอด ทำให้ลดความตื่นเต้นและความกังวลลงได้เยอะทีเดียวค่ะ จึงรู้ว่าการคลอดธรรมชาติไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด กลไกร่างกายของผู้หญิงสามารถปรับตัวรับความเจ็บปวดได้ดีมากเลยค่ะ

อ้างอิง medthai.com, healthline.com

Exit mobile version