คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่บางคนอาจจะกำลังเบื่ออาหารอยู่ กินไม่ลง แม้จะพยายามฝืนกินแล้วก็ตาม บางครั้งอาจรู้สึกว่าไม่อยากทานอะไร แม่กิฟท์เองหลังจากที่รู้ว่าตั้งครรภ์ ก็มีอาการเบื่ออาหารเช่นกันค่ะ แม้ว่าจะไม่มีอาการแพ้เลยแต่ก็ทำให้ไตรมาสแรกน้ำหนักตัวลดลงเยอะเลยค่ะ พอเข้าช่วงกลางไตรมาสที่ 2 อาการเบื่ออาหารเริ่มดีขึ้น เริ่มมีความรู้สึกอยากทานนั้นนี่ขึ้นมาบ้าง ซึ่งแม่กิฟท์เองก็ไปพบคุณหมอตามนัดในทุกครั้ง วันนี้ แม่กิฟท์จะมาแชร์ให้คุณแม่มือใหม่ได้ทราบกันค่ะว่า คนท้องเบื่ออาหารจะทำอย่างไรดีให้สามารถทานได้มากขึ้น แล้วถ้าทานน้อย ๆ แบบนี้จะส่งผลอะไรต่อทารกในครรภ์หรือไม่
คนท้องเบื่ออาหาร เกิดจากอะไร
การที่คนท้องเบื่ออาหาร สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุค่ะ
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย
ฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (เช่น HCG HPL เอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน เป็นต้น) นอกจากจะควบคุมกลไกของร่างกาย และการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์แล้ว ยังส่งผลต่ออารมณ์ และความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ของคุณแม่อีกด้วยค่ะ อย่างฮอร์โมน HCG (Human Chorionic Gonadotropin ) ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ส่งผลให้คุณแม่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศรีษะได้ค่ะ
กลัวคลื่นไส้ อาเจียน
จากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์กว่า 75% มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้คนท้องหลายคนไม่อยากทานอะไรเข้าไป แม้แต่น้ำเปล่า เพราะกลัวว่าทานอะไรเข้าไปแล้วก็จะอาเจียนออกมาอีก จะยิ่งทำให้รู้สึกเหนื่อย จึงปล่อยให้ท้องว่าง และอยากพักผ่อนมากกว่า
ความรู้สึกไวต่อกลิ่นและรสชาติของอาหาร
เวลาเราดูละครอาการที่คนมักจะสงสัยว่าท้องหรือเปล่า เมื่อคนนั้นอยู่ต่อหน้าอาหารที่คนทั่วไปคิดว่าหอม แต่คนท้องกลับรู้สึกเหม็นอยากอาเจียนซะอย่างนั้น นั่นเป็นเพราะฮอร์โมนการตั้งครรภ์ในข้อ1 ส่งผลทำให้คุณแม่มีความไวต่อกลิ่นและรสชาติของอาหารที่เปลี่ยนไปค่ะ แต่ก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นในช่วงไตรมาส 2
ประสาทรับรสที่เปลี่ยนไป
คุณแม่จะมีการรับรสของลิ้นที่แปลกไปจากเดิม โดยอาการเหล่านี้จะมีลักษณะขมในปาก หรือที่เรียกกันว่า Metallic Taste รู้สึกไม่โอเคกับรสชาติอาหารที่เข้าไปในปาก จึงเกิดความเบื่อ ไม่อยากอาหารค่ะ
กลไกป้องกันทารก
ว่ากันว่าเป็นสัญชาติญาณของร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อปกป้องทารกในครรภ์จากอาหารที่อาจเป็นอันตราย จึงทำให้คุณแม่ทานอาหารได้น้อยลง
วิธีรับมือ คนท้องเบื่ออาหาร
สิ่งสำคัญในระหว่างการตั้งครรภ์ คือคุณแม่ควรจะได้รับสารอาหารที่เพียงพอเข้าสู่ร่างกาย เพื่อที่ร่างกายของคุณแม่จะได้แข็งแรงสมบูรณ์ มีสารอาหารส่งไปเลี้ยงทารกในครรภ์ให้เติบโตและมีพัฒนาการอย่างเหมาะสม วันนี้เราจึงมีวิธีรับมือเพื่อต่อสู้กับอาการเบื่ออาหาร ดังนี้ค่ะ
ดื่มน้ำให้เพียงพอ
คุณแม่จะต้องทำให้ร่างกายชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา โดยการดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 2-3 ลิตร โดยอาจจะดื่มเป็นน้ำผลไม้ น้ำผัก หรือน้ำขิง น้ำมะนาวก็สามารถช่วยแก้อาการคลื่นไส้ได้ด้วยค่ะ
แบ่งเป็นหลายมื้อย่อย
เมื่อคุณแม่ยังไม่รู้สึกอยากทานอาหารในมื้อนั้น ๆ ก็ไม่ควรฝืน แต่คุณแม่สามารถแบ่งเป็นมื้อย่อย ๆ สัก 6 มื้อต่อวัน ทานครั้งละน้อย ๆ แต่ทานบ่อยขึ้น เพราะร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์จะส่งสัญญาณความหิวออกมาทุก ๆ 2 ชั่วโมงอยู่แล้วค่ะ
ทานเบา ๆ
ถ้าในระหว่างวันมีความรู้สึกหิวขึ้นมาบ้าง หรือไม่รู้สึกหิวแต่ต้องทาน คุณแม่อาจทานเป็นพวกโปรตีน และคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนแทน เพราะอาหารเหล่านี้จะค่อย ๆ ปล่อยพลังงานออกมา ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของคุณแม่คงที่และทำให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น ผลไม้ก็อาจเลือกทานกล้วย เบาท้องและย่อยง่าย จับคู่กับโยเกิร์ตเพื่อเพิ่มแคลเซียมและโปรตีนค่ะ
เลี่ยงอาหารรสจัด
เลี่ยงอาหารรสเค็มจัด หวานจัด เผ็ดจัด หรือไขมันสูง เพราะจะส่งผลให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายท้อง และเบื่ออาหารมากขึ้นกว่าเดิมได้ค่ะ ทั้งยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อาการบวม และเสี่ยงต่อกรดไหลย้อนได้อีกด้วย
เปลี่ยนอุณหภูมิ
คุณแม่หลายคนชอบอาหารและเครื่องดื่มเย็น ๆ ทำให้รู้สึกสดชื่น ในขณะที่คุณแม่จำนวนหนึ่งชอบอาหารร้อน ๆ เมื่อทานแล้วรู้สึกร่างกายอบอุ่น หากคุณแม่ชอบแบบไหน ก็เปลี่ยนอุณหภูมิอาหารตามความชอบได้ค่ะ เพื่อที่จะได้เพิ่มความอยากอาหารให้มากขึ้น
อย่างดอาหารเด็ดขาด
แม้ว่าคุณแม่จะเบื่ออาหาร แพ้ท้องอย่างหนัก คลื่นไส้อาเจียน แต่คุณแม่ต้องข่มใจตัวเองฝืนกินสักเล็กน้อยนะคะ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารบ้าง อย่างน้อย ๆ ควรมีแครกเกอร์ติดเอาไว้ใกล้ตัวเสมอ เมื่อรู้สึกหิวหรือรู้สึกอ่อนเพลียก็สามารถหยิบขึ้นมาทานสัก 2-3 ชิ้นได้ตลอดเวลาค่ะ
คนท้องเบื่ออาหาร จะมีผลกระทบต่อลูกในครรภ์ไหม
เมื่อมีการตั้งครรภ์ร่างกายของคุณแม่จะให้ความสำคัญกับทารกเป็นสิ่งแรก ไม่ว่าคุณแม่จะทานอาหารแบบไหน หรือแม้แต่เบื่ออาหาร ทานได้น้อย ทารกในครรภ์ก็ยังคงได้รับสารอาหารที่จำเป็นและเพียงพออยู่ดี โดยปกติแล้วอาการเบื่ออาหาร และอาการแพ้ท้องอื่น ๆ จะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรก และจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ค่ะ โดยในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ทารกยังไม่ต้องการสารอาหารในการสร้างกระดูก และเนื้อเยื่อมากนัก สารอาหารที่สะสมในร่างกายของคุณแม่จึงยังเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของทารกอยู่นั่นเองค่ะ แต่คนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือตัวคุณแม่เอง ที่เมื่อทานไม่ได้ หรือทานได้น้อย ก็จะรู้สึกอ่อยเพลีย และไม่มีแรง
คุณแม่ก็สบายใจได้แล้วนะคะว่าแม้มีอาการเบื่ออาหาร ทานได้น้อย หรืออาเจียนอย่างหนัก แต่ลูกของคุณแม่ก็จะยังได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต แต่ถึงอย่างไรคุณแม่ก็ต้องฝืนทานเพื่อสุขภาพของตัวคุณแม่เองด้วยค่ะ และหากในไตรมาสที่ 2 คุณแม่ยังอาการไม่ดีขึ้น ยังเบื่ออาหาร อาเจียนอย่างหนัก จนทานอาหารได้น้อยแนะนำให้คุณแม่ปรึกษาแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำและรับการดูแลอย่างถูกวิธีค่ะ