ท้องแข็งสามารถเกิดขึ้นได้เสมอในระหว่างการตั้งครรภ์ เกิดจากการบีบตัวของมดลูก หรือบางครั้งก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ด้วย แต่สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ครั้งแรก อาจจะยังจินตนาการไม่ออกว่าอาการท้องแข็งเป็นอย่างไร แล้วท้องแข็งบ่อยแค่ไหนที่อันตรายควรพบแพทย์ มีวิธีสังเกตอย่างไร และต้องปฎิบัติตัวอย่างไรบ้าง วันนี้เรามีข้อมูลมาฝากค่ะ
ท้องแข็ง คืออะไร?
ท้องแข็งส่วนใหญ่จะเกิดช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าใกล้คลอดแล้ว โดยคุณแม่อาจรู้สึกแน่นท้อง หน้าท้องแข็งเป็นก้อน เมื่อกดดูแล้วไม่มีด้านใดนิ่ม ร่วมกับมีอาการปวดท้องคล้ายปวดประจำเดือนหรือปวดหน่วงคล้ายปวดอุจจาระ คุณแม่ควรสังเกตอาการท้องแข็งให้ออก เพื่อจะได้ช่วยลดความกังวลระหว่างตั้งครรภ์
ท้องแข็งเกิดจากอะไร?
ทารกในครรภ์ดิ้นแรงหรือโก่งตัว
เป็นอาการท้องแข็งที่พบบ่อยที่สุด คุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะรู้สึกท้องแข็งเป็นบางส่วนของท้อง บางส่วนกดแล้วจะนิ่ม ๆ ซึ่งเกิดจากทารกดิ้นหรือโก่งตัวไปชนกับผนังมดลูก จนทำให้มดลูกเกิดการบีบตัว ส่วนที่นูนขึ้นมาเมื่อกดแล้วแข็งคือ ส่วนหลังและก้นของทารก ส่วนที่กดแล้วนิ่ม เป็นส่วนแขนและขาที่ขดตัวอยู่หรือ กระดุกกระดิกอยู่เป็นปุ่มนูนเล็กๆ ภาวะแบบนี้มักไม่เป็นอันตราย เป็นการดิ้นตามปกติของทารกในครรภ์
มดลูกเกิดการบีบรัดตัว
อาการนี้ท้องคุณแม่จะแข็งทั้งหมด จะไม่แข็งเป็นบางจุดเหมือนอาการท้องแข็งเพราะทารกโก่งตัว ซึ่งจะมีอาการปวดท้องเหมือนปวดประจำเดือนร่วมด้วย
ท้องแข็ง มีกี่แบบ
อาการท้องแข็ง แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ ดังนี้
ท้องแข็งหลอก
อาการนี้มักเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 28-40 ของการตั้งครรภ์ จนหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าจะคลอด แต่อาการนี้อาจเกิดจากการที่คุณแม่มีความเหนื่อยล้ามาก ๆ หรืออยู่ในภาวะขาดน้ำ
อาการท้องแข็งหลอก
- ไม่สบายท้อง แน่นท้องเป็นช่วง ๆ
- ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการปวดท้องร่วมด้วย
- อาการจะดีขึ้นหรือหายไป เมื่อปัสสาวะออก หรือมีการเปลี่ยนท่านั่งและท่านอน
- ท้องแข็งจริง
ท้องแข็งที่เป็นสัญญาณใกล้คลอดมักเริ่มเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ 40 ของการตั้งครรภ์ โดยเกิดจากร่างกายหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ที่ไปกระตุ้นให้มดลูกส่วนต้นหดรัดตัว ทำให้ผนังมดลูกบางลงและขยายปากมดลูกให้กว้างขึ้น เพื่อส่งทารกไปยังช่องคลอด ซึ่งจะทำให้คลอดง่ายขึ้น
อาการท้องแข็งจริง
- รู้แน่นท้อง และท้องจะแข็งเมื่อสัมผัส
- ปวดหน่วง ๆ หรือปวดท้องคล้ายปวดประจำเดือน
- จะปวดเป็นจังหวะ เริ่มจากน้อย ๆ ไปถึงรุนแรงขึ้น สักพักอาการปวดจะหายไป และจะวนกลับมาแบบนี้ซ้ำ ๆ
- มีมูกเลือดออกมาจากช่องคลอด
- น้ำคร่ำไหลอกมาจากช่องคลอด
ทั่วไปแล้วอาการท้องแข็งมักเกิดขึ้นทุก ๆ 15-20 นาทีแต่ถ้ามีอาการถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ ภายในไม่ถึง 5 นาที ควรพบแพทย์ทันที
ท้องแข็งแบบไหนควรไปหาหมอ
หากคุณแม่ดูแล้วว่ายังไม่ถึงกำหนดคลอด แต่มีอาการดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ ควรพบแพทย์ให้เร็วที่สุดค่ะ เพราะอาจเป็นสัญญาณที่คลอดก่อนกำหนดได้
- ท้องที่แข็งนั้น จะแข็งอยู่ประมาณ 10 นาที โดยติดต่อกัน 4-5 ครั้ง เป็นชุด ๆ
- เกิดถี่ขึ้นเรื่อย ๆ
- หายใจไม่สะดวก และอาการไม่หายไป
สิ่งที่ห้ามทำเมื่อท้องแข็ง
งดกิจกรรมที่ทำให้คุณแม่เหนื่อยเกินไป
ลดกิจกรรมทั้งในและนอกบ้านโดยเฉพาะงานหนัก ที่ทำให้เหนื่อยและเกิดความเครียดได้ง่าย
เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่กระตุ้นมดลูกให้บีบรัดตัว
เช่น การจับ-ลูบท้อง การเหวี่ยงหรือขยับตัวแรง ๆ และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงใกล้คลอด การบิดขี้เกียจ เป็นต้น
ไม่ทานเยอะจนเกินไป
หลังมื้ออาหารควรเดินเล่นหรือนั่งพักสักครู่ก่อน ไม่ควรนอนหลับทันที เพื่อช่วยในการย่อยอาหารและไม่ทำให้เกิดอาการจุกเสียดจนท้องแข็งได้
ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ
เพราะการกลั้นปัสสาวะทำให้กระเพาะปัสสาวะโตขึ้น จนไปเบียดกับมดลูก กระตุ้นให้มดลูกบีบตัว ทำให้เกิดอาการท้องแข็งตึงได้
ห้ามเครียดและพักผ่อนไม่เพียงพอ
หาเวลาพักผ่อนให้มากยิ่งขึ้น โดยการนั่งอ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือนอนหลับให้เพียงพอต่อความต้องการ เพื่อลดความเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดอาการท้องแข็ง
คุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่ควรศึกษาอาการท้องแข็งให้เข้าใจ เพื่อที่จะได้สำรวจอาการ และทราบถึงสาเหตุที่สามารถไปกระตุ้นให้เกิดอาการท้องแข็งได้เองเบื้องต้น และสามารถแยกอาการท้องแข็งได้ว่าแบบไหนคือ ท้องแข็งจริงหรือท้องแข็งหลอก เพื่อจะได้คลายความกังวลของตัวเองลงได้ตลอดระยะการตั้งครรภ์ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- น้ำเดิน หรือ น้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด อาการเป็นอย่างไร?