แม่โน้ตเชื่อว่าไม่มีคุณแม่คนไหนที่อยู่ในระยะให้นมลูกแล้วไม่เคยมีอาการ “เต้านมคัด” เต้านมของคุณแม่ก็จะใหญ่ขึ้น บางรายอาจมีอาการบวมร่วมด้วย ดังนั้น อาการเต้านมคัดจึงเป็นเรื่องปกติของคุณแม่ให้นม แต่…ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องปกติ คุณแม่ก็ไม่ควรละเลยหรือปล่อยทิ้งไว้นะคะ เพราะมันอาจเป็นสาเหตุให้ท่อน้ำนมอุดตัน และเต้านมอักเสบได้
สาเหตุที่เต้านมคัด
เต้านมคัดเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้ค่ะ
ร่างกายสร้างน้ำนมมากกว่าที่ลูกต้องการ
ร่างกายคุณแม่สร้างน้ำนมในปริมาณที่มากกว่าปริมาณที่ลูกกิน
เว้นระยะนานเกินไป
เว้นระยะการให้นมลูกนานเกินไป ทำให้มีการสะสมของน้ำนมมาก
ท่าอุ้มให้นมที่ผิดวิธี
ลูกจึงดูดนมผิดวิธี ส่งผลให้น้ำนมระบายออกได้ไม่ดีเท่าที่ควร
ลูกมีแรงดูดน้อย
จึงทำให้ดูดนมได้ไม่เต็มที่ เพราะการดูดนมจากเต้าจะใช้แรงดูดมากกว่าขวด
ความเครียด วิตกกังวล
คุณแม่มีความเครียด พักผ่อนไม่พอ และอ่อนเพลีย
มีความผิดปกติของเต้านม
แม้ว่าคุณแม่จะอยู่ในระยะให้นมบุตร แต่ก็สามารถคลำหาความผิดปกติของเต้านมได้ หรือให้สังเกตว่าหากมีน้ำใส ๆ ไหลออกจากหัวนม แบบนี้ควรพบแพทย์ทันที
หัวนมแตก
เจ็บหัวนม จึงทำให้ไม่สามารถให้ลูกกินนมหรือปั๊มออกได้
อาการเต้านมคัด
โดยทั่วไปแล้วฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่หลังคลอดจะมีการเปลี่ยนแปลงอีก ซึ่งอยู่ในระยะที่ต้องให้นมลูก ดังนั้น จึงมีเลือดไปเลี้ยงบริเวณเต้านมมากขึ้นในช่วง 2 – 5 วันหลังคลอด เต้านมจะมีการสร้างน้ำนมเพิ่มมากขึ้น คุณแม่ก็จะมีอาการดังนี้
- เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น
- มีอาการบวม เนื่องจากมีน้ำนมคั่งเป็นจำนวนมาก
- เต้านมจะแข็ง ตึง เจ็บ และร้อนมากขึ้น
- บริเวณลานนมและหัวนมจะแข็ง ทำให้ลูกน้อยดูดได้ลำบาก การระบายน้ำนมก็ไม่ดีเท่าที่ควร
- หัวนมจะสั้นลง ลูกน้อยจะดูดได้ยาก หรือจะงับได้ก็แต่หัวนมไม่ถึงลานนม ระยะยาวจะส่งผลให้คุณแม่หัวนมแตกได้
- บางรายอาจมีไข้ แต่จะไม่เกิน 24 ชั่วโมง
- อาการคัดเต้านมมักเกิดขึ้นทั้ง 2 ข้าง
- ถ้ามีปริมาณน้ำนมค้างอยู่ในเต้านมนาน ร่างกายจะหยุดผลิตน้ำนมชั่วคราวจนกว่าน้ำนมที่มีอยู่จะระบายออก
วิธีแก้ปัญหาเต้านมคัด
หากคุณแม่เจอกับปัญหาเต้านมคัดเป็นก้อนสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเองเบื้องต้น ดังนี้
- นำผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นแล้วนำมาประคบที่เต้านมทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีเป็นอย่างน้อยก่อนที่จะให้นมลูก
- จากนั้นค่อย ๆ คลึงและนวดเบา ๆ จากฐานเข้าไปที่หัวนม
- บีบน้ำนมออกเล็กน้อย เพื่อให้ลูกน้อยดูดได้ง่ายขึ้น
- พยายามให้ลูกน้อยเข้าเต้าบ่อยมากขึ้น อย่างน้อยทุก ๆ 2 – 2 ½ ชั่วโมง อย่าลืมท่าอุ้มลูกเข้าเต้าให้ถูกวิธีนะคะ เพื่อที่น้ำนมจะได้ระบายออกมาได้มากที่สุด ส่วนกลางคืนก็ให้เข้าเต้าเช่นกันค่ะ แต่ถ้าระหว่างกลางดึกคุณแม่รู้สึกคัดเต้าก็สามารถปั๊มออกแล้วเก็บไว้ก่อนก็ได้ค่ะ แม่โน้ตก็ทำแบบนี้ค่ะ ตี 2 ตี 3 เลย ปั๊มไปตาจะปิดไป 555
- หากมีอาการเจ็บมากจนให้นมลูกไม่ไหว อาจต้องงดให้นมลูกสักระยะ และระบายน้ำนมออกเรื่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เต้านมคัดซ้ำ ๆ ส่วนน้ำนมที่ได้ก็อาจเปลี่ยนมาเป็นป้อนในรูปแบบถ้วยแทน
- ควรใส่เสื้อชั้นในที่พยุงเต้านมไว้ โดยหลีกเลี่ยงเสื้อในที่มีขอบลวดหรือเสื้อในที่คับแน่นเกินไป
- ภายใน 2 วัน หากอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงขึ้นควรปรึกษาแพทย์
วิธีคิดสำหรับคุณแม่ที่ไม่อยากให้เต้านมคัดเจ็บ บวม และอักเสบนะคะ คือถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณแม่รู้สึกว่าเต้านมคัดตึง แล้วแต่ลูกน้อยยังไม่กิน ก็ให้ปั๊มออกก่อน แล้วเก็บน้ำนมน้ำป้อนลูกด้วยถ้วยนะคะ เพราะหากให้ลูกกินด้วยขวดนม ลูกจะติดขวดแทนไม่ยอมเข้าเต้าคุณแม่ เพราะขวดนมดูดง่ายกว่าเต้าคุณแม่ค่ะ