ตั้งครรภ์ เกิดขึ้นได้อย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับครอบครัวที่มีบุตรยาก เพราะอย่างน้อยถ้าได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการการตั้งครรภ์ก็จะทำให้วางแผนในการมีบุตรนั้นง่ายขึ้น และอาการของคนท้องในระยะแรกจะเป็นอย่างไร เรื่องนี้ต้องบอกเลยค่ะว่า ว่าที่คุณแม่แต่ละคนจะมีอาการต่างกันไป บางคนมีอาการแพ้ท้องมาก บางคนแพ้น้อย แต่ในขณะที่บางคนก็ไม่แพ้เลย แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการนี้ใช้อาการของท้องหรือเปล่า ไปดูกันเลยค่ะ
ตั้งครรภ์ คือ?
Photo by freestocks.org from Pexels
การตั้งครรภ์ คือ การฝังตัวของไข่ที่ถูกปฏิสนธิแล้วในมดลูกจนกระทั่งถึงการคลอด ปกติแล้วระยะของการตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะอาศัยระยะเวลาประมาณ 280 วัน หรือ 40 สัปดาห์ นับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย แต่ทั้งนี้ก็อาจมีความแตกต่างกันไปสำหรับคุณแม่แต่ละคนนะคะ ถ้าหากคุณแม่ท่านไหนที่ออกกำลังกายเป็นประจำก็อาจคลอดลูกได้เร็วกว่าคุณแม่ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายค่ะ ทารกหญิงอาจคลอดเร็วกว่าทารกชาย เพราะน้ำหนักโดยเฉลี่ยน้อยกว่า
ในบางครั้ง บางรายการตั้งครรภ์อาจเกินกำหนดไปโดยเฉพสาะในครรภ์แรก ซึ่งความจริงแล้วเป็นเรื่องเสี่ยงนะคะ เพราะรกอาจเสื่อม หมดอายุ ส่งผลให้การทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพ เสี่ยงต่อการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ได้ ส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะไม่แนะนำให้คุณแม่อุ้มท้องผ่านวันครบกำหนดเกิน 10 วันค่ะ
ขอบคุณข้อมูล : healthserv.net
อาการคนท้องระยะแรก
ประจำเดือนขาด
ปกติแล้วประจำเดือนจะมีระยะเวลา 21 – 30 วัน โดยประมาณ หรือจะคลาดเคลื่อนจากเดิมก็ไม่เกิน 10 วัน ถ้ามากกว่านี้ก็เป็นได้สูงค่ะ ว่าอาจจะ “กำลังตั้งครรภ์” แล้ว เหตุที่ประจำเดือนขาดนั้นเกิดจากไข่เริ่มมีการปฏิสนธิกับอสุจิ ร่างกายก็จะผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ออกมาเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการยับยั้งไม่ให้ผนังมดลูกหลุดลอกออกมากับประจำเดือนเหมือนที่เคยเป็นมาทุกเดือน
อารมณ์แปรปรวน ขี้หงุดหงิด
เมื่อ 5 นาทีที่แล้วหากคุณเพิ่งมีอารมณ์หงุดหงิด เหวี่ยงใส่คนข้าง ๆ มาตอนนี้นั่งหัวเราะอย่างอารมณ์ดี แถมมีอารมณ์อ่อนไหวง่าย ขี้น้อยใจ ร้องไห้เก่ง ฯลฯ ซึ่งเป็นอะไรที่คุณไม่เคยเป็นมาก่อน อาการเหล่านี้ก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้เลยค่ะว่านี่คือ “อาการของคนท้องระยะแรก” แต่อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ในช่วง 2 – 3 เดือนแรกค่ะ (บางคนหายเร็วกว่านั้น) แล้วก็จะหายได้เอง ถ้าว่าที่คุณแม่รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง ลองหาหนังสือมาอ่าน ฟังเพลง หรือหางานอดิเรกที่ชอบมาลองทำดู เพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลายมากขึ้น และเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจ เปลี่ยนจุดโฟกัสค่ะ
ตกขาวมากจนผิดปกติ
โดยลักษณะของตกขาวจะเป็นมูกเหลวสีขาวขุ่นหรือสีครีม แต่ไม่ต้องตกใจนะคะ ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด เหตุเกิดจากบริเวณที่ปากมดลูกและช่องคลอดมีการสร้างของเหลวออกมา เพื่อหล่อลื่นบริเวณปากช่องคลอดอยู่แล้ว แต่ที่ว่าที่คุณแม่ควรทำคือ หมั่นทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความอับชื้น ลดโอกาสการเกิดเชื้อรา แต่…ถ้าหากสีของตกขาวมีลักษณะที่ผิดปกติ เช่น มีสีเหลือง สีเขียว และมีอาการคันร่วมด้วย อาจสันนิษฐานได้ว่ามีการติดเชื้อบางอย่าง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องค่ะ
การเปลี่ยนแปลงของเต้านม เจ็บหัวนม
เนื่องจากฮอร์โมนของรก และรังไข่ที่มีการผลิตเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้หัวนม และลานนมมีสีคล้ำขึ้น มีการขยายขนาดของเต้านม จึงทำให้ว่าที่คุณแม่มีอาการเจ็บบริเวณที่เต้านมมากขึ้นนั่นเองค่ะ
เวียนศีรษะ
Photo by Andrea Piacquadio from Pexels
บางรายอาจมีอาการปวดหัวในช่วงเช้าร่วมด้วย แต่จะเป็นมากในช่วงสัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ดังนั้น ว่าที่คุณแม่ต้องดูแลตัวเองให้มากขึ้นด้วยการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำเปล่าสะอาดอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน พักผ่อนให้เพียงพอ เรียกว่าอ่อนเพลียตอนไหน ถ้าโอกาสและสถานที่อำนวยก็งีบพักได้เลยค่ะ ของแม่โน้ตได้หลับพักประมาณ 15 – 20 นาทีก็สดชื่นแล้วค่ะ
มีอาการล้าบริเวณหลัง
บางรายมีอาการเจ็บหลังช่วงล่างแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บางรายอาจมีอาการตะคริวร่วมด้วย เหตุมาจากกล้ามเนื้อส่วนล่างมีการขยายตัว เป็นผลทำให้มดลูกมีการขยายตัว เพื่อรองรับทารกที่จะเติบโตอยู่ภายในมดลูกของคุณแม่ ซึ่งอาการปวดหลังหรือล้าที่หลังนี้จะเป็นอาการที่เกิดขึ้นตลอดการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น
เพื่อบรรเทาอาการปวดหลัง เวลานอนให้คุณแม่นอนตะแคง และหาหมอนรองนอนมาวางที่ระหว่างขา ที่นอนก็ไม่ควรนิ่มหรือแข็งเกินไปนะคะ แต่ถ้าหากปวดหลังมากควรปรึกษาแพทย์นะคะ ไม่ควรซื้อยามาทานเองค่ะ
ปัสสาวะบ่อย
เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกได้ว่าคุณอาจเข้าสู่อาการของคนท้องระยะแรกแล้วล่ะค่ะ เพราะในช่วง 3 เดือนแรก ร่างกายจะผลิตของเหลวมากขึ้น กอปรกับมดลูกมีการขยายตัวมากขึ้นจึงทำให้ร่างกายมีความต้องการเลือดไปเลี้ยงมดลูกมากกว่าปกติ ไตจึงต้องทำงานหนักมากกว่าปกติเช่นกัน ขณะเดียวกันมดลูกที่อยู่ติดกับด้านหลังของกระเพาะปัสสาวะ เมื่อมดลูกขยายตัวขึ้นก็ทำให้ไปเบียดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้คุณแม่ปัสสาวะบ่อยขึ้นนั้นเอง
ท้องผูกหรือท้องอืดมากกว่าปกติ
เนื่องมาจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นจึงมีผลต่อระบบย่อยอาหาร ผนวกกับมีการขยายตัวของมดลูกที่ไปเบียดทับลำไส้ ทำให้ลำไส้มีการบีบตัวน้อยลง ทำให้การย่อยจึงทำได้ยากขึ้น ย่อยได้ช้าลง เกิดแก๊สในกระเพาะมาก ดังนั้น คุณแม่จึงควรทานอาหารที่มีกากใยอาหารให้มากขึ้น ดื่มน้ำเปล่าสะอาดให้มากขึ้น เพื่อลดอาการท้องผูกค่ะ
อ่อนเพลียง่าย อยากนอน
เหตุเพราะร่างกายมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ความดันเลือด รวมถึงระบบไหวเวียนในเลือด ทำให้กล้ามเนื้อในร่างกายมีการคลายตัว ร่างกายมีการเผาผลาญที่มากขึ้น ร่างกายจึงมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น สูญเสียพลังงานมากขึ้น ส่งผลให้คุณแม่อ่อนเพลียนั่นเองค่ะ เพราะฉะนั้นระยะนี้คุณแม่ควรดูแลตัวเองด้วยการทานอาหารจำพวกโปรตีนและอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กเพิ่มมากขึ้นนะคะ ลดกิจกรรมต่าง ๆ ลง และพักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะทำให้คุณแม่อารมณ์ดีขึ้น ซึ่งจะส่งต่อถึงลูกน้อยได้อีกด้วยค่ะ
อยากกินของเปรี้ยวหรือของแปลก
เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้การรับรสของคุณแม่เปลี่ยนแปลงตาม ส่งผลให้อยากกินของเปรี้ยว หรือของแปลกค่ะ
จมูกรับกลิ่นได้ไวกว่าเดิม
เป็นหนึ่งในอาการเริ่มแรกของคุณแม่ อาการนี้เรียกว่า Super Smell อาทิ กลิ่นตัวของสามี เดิมที่เคยว่าหอม แต่มาช่วงนี้อาจเหม็นจนบางรายถึงขั้นอาเจียนเลยก็มี หรือบางรายเหม็นกลิ่นอาหารที่เคยชอบ เป็นต้น
ความต้องการทางเพศลดลง
เป็นเพราะร่างกายของคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ต้องรับมือกับการเวียนศีรษะ ปวดหัว ปวดหลัง หรืออาเจียน จึงทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ความต้องการทางเพศจึงลดลงค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ มีตรงกันไปกี่ข้อ ถ้าตรงเกินครึ่ง เตรียมซื้อเครื่องทดสอบการตั้งครรภ์มาทดสอบได้เลยค่ะ ถ้าจะให้ชัวร์ ควรซื้อมาซัก 3 ยี่ห้อนะคะ แล้วเตรียมเฮกันได้เลย
Feature Image Deigned by freepik.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
-
- อาการคนท้อง 1 เดือน พร้อมวิธีแก้อาการแพ้ท้อง
- อาการคนท้อง 2 เดือน อาหารบำรุงครรภ์ และพัฒนาการทารกในครรภ์
- อาการคนท้อง 3 เดือน อาหารบำรุงครรภ์ และพัฒนาการทารกในครรภ์
- อาการคนท้อง 4 เดือน อาหารบำรุงครรภ์ และพัฒนาการทารกในครรภ์
- อาการคนท้อง 5 เดือน อาหารบำรุงครรภ์ และพัฒนาการทารกในครรภ์
- อาการคนท้อง 6 เดือน อาหารบำรุงครรภ์ และพัฒนาการทารกในครรภ์
- อาการคนท้อง 7 เดือน อาหารบำรุงครรภ์ และพัฒนาการทารกในครรภ์
- อาการคนท้อง 8 เดือน อาหารบำรุงครรภ์ และพัฒนาการทารกในครรภ์
- อาการคนท้อง 9 เดือน อาหารบำรุงครรภ์ และพัฒนาการทารกในครรภ์