โดยทั่วไปแล้ว ยาลดกรด ที่แพทย์สั่งหรือจำหน่ายตามร้านขายยา เป็นกลุ่มยาที่ช่วยปรับสภาพความเป็นกรดภายในกระเพาะอาหารให้มีความเป็นกลางมากขึ้น เพื่อลดปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหาร อาการเสียดท้อง แสบร้อนกลางอก และแผลในกระเพราะอาหาร ซึ่งผู้หญิงตั้งครรภ์ร้อยละ 80 มักมีอาการเสียดท้องในบางช่วงของการตั้งครรภ์ เนื่องจากรกปล่อยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนออกมา ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ช้าลง ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดบริเวณหลอดอาหารที่อยู่ติดกับกระเพาะคลายตัวบ่อยกว่าปกติจึงเกิดอาการของกรดไหลย้อน นอกจากนี้ ทารกในครรภ์ที่เติบโตตลอดเวลา ได้สร้างแรงกดดันให้กับอวัยวะภายใน เช่น กระเพาะอาหาร จึงทำให้กรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปทางหลอดอาหาร กล่องเสียง และช่องปากได้ แล้วเมื่อเกิดอาการเหล่านี้คุณแม่กินยาลดกรดได้ไหม เรามีคำตอบมาฝากค่ะ
ยาลดกรดทำงานอย่างไร
ยาลดกรดมีกลไกการทำงาน คือการนำความเป็นด่างของยาสะเทินกับกรดในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เพื่อลดความเป็นกรด เมื่อความเป็นกรดลดลง การกัดกร่อนของกรดที่จะทำให้เกิดแผลหรือการทำให้แผลที่มีอยู่ระคายเคืองลดลงตามไปด้วย ซึ่งยาลดกรดสามารถช่วยบรรเทาอาการผิดปกติต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วภายใน 2 – 3 ชั่วโมงหลังรับประทาน ซึ่งให้ผลในการบรรเทาอาการ ดังต่อไปนี้
- อาการอาหารไม่ย่อย
- อาการแสบร้อนกลางอก หรือที่เรียกว่า โรคกรดไหลย้อน Gastroesophageal Reflux Disease: (GERD)
- อาการแผลในกระเพาะอาหาร
- อาการโรคกระเพาะ (การอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร)
คนท้องกินยาลดกรดได้ไหม
ยาลดกรดส่วนใหญ่ที่มีอยู่ตามท้องตลาด ถือว่าปลอดภัยสามารถรับประทานได้ในขณะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรค่ะ แต่ยาไม่ได้รักษาในสาเหตุที่แท้จริงซึ่งได้แก่พฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันที่ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ นอกจากนี้ไม่แนะนำให้ใช้ยาลดกรดในระยะยาว และยาลดกรดบางตัวยาที่มีส่วนผสมของ Bismuth subsalicylate หรือ GASTRO-BISMOL มีข้อห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ที่กำลังตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 (อายุครรภ์ 7 – 9 เดือน) เพราะอาจทำให้ทารกในครรภ์เกิดภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ หรือเกิดความพิการที่ทำให้เสียชีวิตหลังคลอดได้ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์หากคุณแม่จำเป็นต้องทานยาลดกรดเป็นประจำ โดยเฉพาะในระหว่างการตั้งครรภ์
จะเกิดอะไรขึ้นหากใช้ยาลดกรดมากเกินไป
ยาลดกรดมีส่วนผสมของตัวยาแตกต่างกันแต่ละยี่ห้อ เช่น แมกนีเซียม แคลเซียมคาร์บอเนต โซเดียมไบคาร์บอเนต และอะลูมิเนียม ซึ่งอาจส่งผลที่แตกต่างกันต่อร่างกาย และหากรับประทานมากเกินไปอาจมีผลข้างเคียงเหล่านี้ เช่น อาเจียน ท้องร่วง โรคโลหิตจาง และนิ่วในไต เป็นต้น
ยาลดกรดที่ปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์
ยาลดกรดที่ปลอดภัยในระหว่างตั้งครรภ์ แต่ควรใช้บรรเทาอาการเมื่อมีอาการเท่านั้น ไม่ควรใช้ติดต่อกันในระยะยาวได้แก่ :
แมกนีเซียม
ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของแมกนีเซียมค่อนข้างปลอดภัยสำหรับสตรีมีครรภ์ และทำงานได้ดีเมื่อต้องจัดการกับอาหารไม่ย่อย
แคลเซียมคาร์บอเนต
ยาลดกรดประเภทนี้ยังไม่มีรายงานถึงผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์สำหรับหญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ และมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการ
ยาลดกรดที่ไม่ปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์
อลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์
ยาลดกรดประเภทนี้อาจทำให้เกิดอาการท้องผูก และส่งผลเสียต่อร่างกายคนท้องได้มากกว่าผลดีในแง่ของการบรรเทาอาการปวด นอกจากนี้การบริโภคอะลูมิเนียมอย่างต่อเนื่องยังเป็นพิษ และอาจนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ เช่น การแท้งบุตรได้
โซเดียมไบคาร์บอเนต
ปัญหาของยาลดกรดประเภทนี้ คือ นำไปสู่การกักเก็บน้ำของร่างกาย ซึ่งเป็นคุณสมบัติของโซเดียม ในระหว่างตั้งครรภ์คนท้องมักมีปัญหาที่ต้องเผชิญ เช่น ข้อเท้าบวม และข้อมือบวมเนื่องจากน้ำในร่างกายมีปริมาณมาก ซึ่งปริมาณโซเดียมในยาลดกรด จะทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ได้มากยิ่งขึ้น
โควิดนี้แม่ท้องไม่อยากออกจากบ้าน
แน่นอนว่าหากคุณแม่ยังมีความกังวลต่ออาการที่เป็น และตัวยาที่จะรับประทาน ในช่วงโควิด (COVID-19) แพร่ระบาดอย่างนี้การออกไปต่อคิวเพื่อรอพบคุณหมอเป็นเวลานานๆ หรือเดินทางไปร้านขายยาเพื่อเจอเภสัชกรก็ล้วนแต่เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื่อได้ทั้งนั้น คุณแม่อาจจะขอตัวช่วยในช่องทางต่อไปนี้ เพื่อปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง หรือพูดคุยสอบถามอาการรวมถึงส่งมอบยากับทางเภสัชกร
ระบบแพทย์ทางไกล : Telemedicine
เป็นช่องทางการให้บริการตรวจรักษาโดยบุคลากรทางการแพทย์ ผ่านการสื่อสารแบบ Video conference เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการวินิจฉัย รักษา และป้องกันโรค ปัจจุบันสามารถรับบริการได้หลากหลายมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นของเว็บไซด์โรงพยาบาลอย่างสมิติเวช หรือผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ อาทิ ChiiWii , See Doctor Now , Ooca , Raksa เป็นต้น
ระบบเภสัชกรรมทางไกล : Telephamacy
สามารถรับการดูแลรักษาทางเภสัชกรรม และให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับผู้ป่วย คุณแม่สามารถสอบถาม และรักษาอาการเจ็บป่วยทั่วไป ตลอดจนส่งยาให้ส่งถึงบ้านได้ อาทิ ผ่านไลน์แชท Fascino Thailand หรือ โทร 02-111-6999 ได้ทุกวัน 8.00 น.- 18.00 น. , แอพพลิเคชั่น Ocean Club ของไทยสมุทร เป็นต้น
นอกจากการรับประทานยาลดกรดที่ปลอดภัยซึ่งช่วยให้ง่ายและรวดเร็วต่อการลดอาการกรดไหลย้อน ข้อสำคัญคือ คุณแม่เองก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทาน และปรับการใช้ชีวิตประจำวันร่วมด้วยเช่นกัน แบ่งมื้ออาหารให้ถี่ขึ้น แต่ละมื้อลดปริมาณลง เลี่ยงอาหารรสจัด อาหารมันๆ เดินออกกำลังกายเบาๆเพื่อย่อยหลังมื้ออาหารเสมอ หรืออาจจะลองทานอาหารธรรมชาติที่ช่วยลดอาการได้ เช่น กล้วย โยเกิร์ต ที่มีประโยชน์เทียบเท่ากับยาลดกรด ซึ่งจะทำให้คุณแม่ไม่ต้องพึ่งยาลดกรดบ่อยๆด้วยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- กรดไหลย้อนในคนท้อง สาเหตุ พร้อม 8 วิธีรับมือ