น้ำนมแม่มีสารอาหารอะไรบ้าง? แต่ละตัวมีประโยชน์อย่างไร?
“น้ำนมแม่” นับเป็นอาหารลำดับแรกที่มีประโยชน์มากที่สุดต่อทารก ทำให้ทารกเติบโตได้อย่างสมบูรณ์แข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่เจ็บป่วยง่าย ไม่ป่วยบ่อย องค์การอนามัยโลก (WHO) และยูนิเซฟยังออกมาแนะนำเลยค่ะว่าทารกควรได้ดื่มน้ำนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน
ในน้ำนมแม่ประกอบไปด้วยแร่ธาตุสำคัญหลายตัวเลยทีเดียว มีสารที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพหลายชนิด เช่น แอนติบอดีและโปรตีนต่างๆ ที่ช่วยสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกัน สารต่อต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน โปรตีน ไขมัน ฯลฯ วันนี้เราไปดูกันในแต่ละส่วนเลยค่ะ ที่ว่าในน้ำนมแม่นั้นมีสารอาหารอะไร? และแต่ละตัวมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
ระยะของน้ำนมแม่
น้ำนมแม่ แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะด้วยกัน และในแต่ละระยะ ลูกน้อยจะได้รับสารอาหารที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วยค่ะ
ระยะน้ำนมเหลือง หรือ โคลอสตรุ้ม (Colostrum)
เป็นน้ำนมที่อยู่ในระยะ 1-3 วันแรกหลังคลอดเท่านั้นและอุดมไปด้วยสารอาหารที่จะช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมากมาย เช่น Secretory IgA แลคโตเฟอริน เซลล์เม็ดเลือดขาว โปรตีนต่างๆ น้ำนมระยะนี้จะเน้นเรื่องการสร้างความแข็งแรงมากกว่าการเจริญเติบโต
ระยะน้ำนมปรับเปลี่ยน (Transitional Milk)
คือ ระยะการเปลี่ยนจากหัวน้ำนมแม่เป็น “น้ำนมแม่” สารอาหารในระยะนี้จะเริ่มเน้นเรื่องการเจริญเติบโตมากกว่าระยะแรก จะหลั่งในช่วง 5 วัน ไปจนถึง 2 สัปดาห์ หลังคลอด
ระยะน้ำนมแม่(Mature Milk)
ระยะนี้น้ำนมแม่จะมีสีขาว มีไขมันมากขึ้น สารอาหารที่ได้จะเน้นเรื่องการเจริญเติบโตเช่นเดียวกันกับระยะที่ 2
สารอาหารในน้ำนมแม่
เพื่อให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างสบายใจและมั่นใจได้ว่านมแม่มีประโยชน์จริงๆ เรามาดูกันเลยค่ะ ว่าสารอาหารในนมแม่นั้นมีอะไรบ้างและช่วยพัฒนาลูกทางด้านไหนบ้าง
โปรตีน
ปกติแล้วโปรตีนในน้ำนมแม่จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เวย์โปรตีน 60% และเคซีนโปรตีน 40% ซึ่งตัวเคซีนนี้เป็นตัวสำคัญทีจะช่วยปรับสมดุลให้ร่างกายลูกสามารถย่อยได้ง่ายและเร็วขึ้น กลับกัน…ถ้ามีโปรตีนชนิดนี้มากไปในน้ำนมเทียมจะกลายเป็นว่าทำให้ทารกย่อยยากขึ้นแทน แต่โปรตีนทั้ง 2 อย่างนี้เป็นตัวที่ช่วยป้องกันในเรื่องการติดเชื้อได้อย่างดี นอกจากนี้ยังมีโปรตีนอื่น ๆ อีก อาทิ
แลคโตเฟอริน (Lactoferrin)
ตัวนี้เมื่อจับกับธาตุเหล็กจะช่วยในเรื่องการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ทำลายแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา ในทางเดินอาหาร โดยจะผลิตขึ้นประมาณ 7 ครั้ง
อัลฟาแลคตาบูมิน (Alfa-Lactalbulmin)
สารอาหารนี้มีความสำคัญต่อการสร้างสารสื่อประสาทในสมองของทารกและสร้างภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ในร่างกายค่ะ
Secretory IgA
ช่วยปกป้องเยื่อบุต่าง ๆ ไม่ให้เชื้อโรคแทรกผ่านเข้าไปได้ อาทิ เยื่อบุผนังลำไส้ และเยื่อบุทางเดินหายใจ เป็นต้น
ไลโซไซม์ (Lyzozyme)
สารอาหารนี้จะเป็นตัวช่วยย่อยโปรตีนที่มาจากธรรมชาติ และจะทำลายผนังเซลของแบคทีเรีย
ไบฟิดัส แฟคเตอร์ (Bifidus factor)
เป็นโปรไบติกส์ที่ช่วยในการเพิ่มแลคโตบาซิลัส ไบฟิดัส หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เป็นสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของแลคโตบาซิลัส ซึ่งจะทำให้แบคทีเรีย ไม่สามารถอาศัยอยู่ในลำไส้ได้
ไขมัน
ในน้ำนมแม่ประกอบไปด้วยไขมันหลายชนิด อาทิ ฟอสโฟไลปิดส์ ไตรกลีเซอไรด์ ไดกลีเซอไรด์ โคเลสเตอรอล และโมโนกลีเซอไรด์ นอกจากนี้ ยังมีกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายของทารกต้องการอีกด้วย เพื่อช่วยในการพัฒนาระบบการทำงานของประสาท และการมองเห็น ซึ่งได้แก่ DHA (docosahexaenoic acid) และ AA (Arachidonic acid)
คาร์โบไฮเดรต หรือ น้ำตาลแลคโตส (Lactose)
แลคโตสเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เชื้อแบคทีเรียมีความเข็งแรง เพื่อช่วยในการดูดซึมฟอสฟอรัส แคลเซียม และแมกนีเซียม พบมากในน้ำนมแม่ระยะที่ 3 หรือระยะน้ำนมแม่นั่นเองค่ะ ระยะนี้ในน้ำนมแม่จะมีปริมาณโปรตีนและไขมันที่น้อยกว่าปริมาณน้ำตาลแลคโตส ทั้งนี้ ขึ้นอยูกับอาหารที่คุณแม่ทานด้วยนะคะ เรียกได้ว่า ไม่ควรเน้นของหวานมากนั่นเองค่ะ แนะนำว่าเน้นเป็นอาหารกลุ่มที่ให้โปรตีนสูงจะดีที่สุดค่ะ
วิตามิน
วิตามินที่สำคัญที่ร่างกายทารกต้องการ ได้แก่ วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามินบี6 วิตามินบี12 วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค
แร่ธาตุ และส่วนประกอบอื่น ๆ
แร่ธาตุที่ว่านี้ได้แก่ แคลเซียม เหล็ก และไอโอดีน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญอีกด้วย เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สารอาหารของนมแม่…เยอะกว่าที่คิดใช่มั้ย เพราะฉะนั้น แม่โน้ตว่าถ้าคุณแม่คนไหนสามารถให้นมลูกได้นานที่สุดเท่าที่ทำได้ แนะนำว่าทำไปเลยค่ะ นอกจากลูกจะแข็งแรงแล้ว ยังเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกได้ดีจริง ๆ นะคะ ว่าแล้วแม่โน้ตยังอยากจะกลับไปให้เข้าเต้าอีกเลย…ตอนนี้แค่ถามว่ากินนมมั้ย? ก็วิ่งหนีแล้ว แถมบอกนมแม่เป็นนมเปรี้ยวอีก เพราะหมดอายุแล้ว 555
อ้างอิง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, americanpregnancy.org