Photo created by freepik.com
มีคุณแม่มือใหม่หลายคนทีเดียวค่ะ ที่ลูกเข้าเต้าไม่เป็น คือ ไม่ยอมอ้าปาก ในขณะที่ก็มีคุณแม่บางรายที่พอให้ลูกดูดเต้าไปได้ซักระยะแล้วบ่นว่าเจ็บหัวนม ซึ่งเป็นอาการของหัวนมแตก ว่าแต่จะมีวิธีให้ลูกดูดเต้าอย่างถูกวิธีไหม ทำอย่างไรให้ลูกเปิดปาก ไปติดตามกันเลยค่ะ
วิธีให้ลูกดูดเต้า เข้าเต้าอย่างถูกวิธี
เพราะทารกไม่สามารถเข้าเต้าได้อย่างถูกวิธีทุกคน ถ้าไม่ได้ฝึกมาก่อน เพราะฉะนั้นถ้าขึ้นชื่อว่า “การฝึก” แล้ว คุณแม่ต้องใจเย็น ๆ ค่ะ ต้องใช้เวลา ก่อนที่แม่โน้ตจะเอาลูกออกจากโรงพยาบาล พยาบาลเค้าก็ยังต้องฝึกทั้งแม่ ฝึกทั้งลูกในการเข้าเต้าที่ถูกต้องเลยค่ะ ว่าแต่จะเป็นอย่างไร ไปเริ่มกันเลย
วิธีให้ลูกดูดเต้า ขั้นตอนที่ 1
- ให้คุณแม่นั่งในท่าที่สบาย เหมาะสำหรับการให้ลูกดูดเต้า อุ้มลูกให้ใกล้กับลำตัวของคุณแม่ โดยให้ตำแหน่งหัวลูกตรงกับลำตัว ให้หน้าท้องสัมผัสกับลูกน้อย อาจให้ลูกนอนบนหมอนรองให้นมก็ได้ค่ะ
- ประคองหัวลูกให้แหงนไปด้านหลังเล็กน้อย แต่พยายามให้คางชิดเต้านมคุณแม่ไว้ มืออีกข้างหนึ่งจับเต้านมไว้ (ให้ใกล้กับลานนม) แล้วใช้นิ้วบีบเต้านมเล็กน้อย เพื่อให้นมเข้าปากลูกได้ง่ายขึ้น
วิธีให้ลูกดูดเต้า ขั้นตอนที่ 2
- ให้อาศัยจังหวะเมื่อลูกอ้าปากกว้าง ให้คุณแม่แม่เคลื่อนเต้านมเข้าหาลูกทันที และนุ่มนวลนะคะ พยายามให้ลูกงับไปถึงลานนม โดยระหว่างที่ลูกดูดนมนั้น คุณแม่อาจสังเกตดูก็ได้ค่ะว่าลิ้นของลูกเข้าถึงที่ลานนมหรือไม่ ถ้าไม่ถึงแสดงว่าผิดค่ะ
- แต่ถ้าปากของลูกน้อยไม่ยอมเปิดสักที ให้คุณแม่กระตุ้นลูกด้วยการนำหัวนมลูบที่ริมฝีปากบนของลูกเบา ๆ จากนั้นค่อย ๆ เคลื่อนตัวเข้าไปเรื่อย ๆ จนลึกถึงลานนม
วิธีให้ลูกดูดเต้า ขั้นตอนที่ 3
- หลังจากที่ลูกอมเต้านมคุณแม่ไปถึงลานนมแล้ว ให้คุณแม่กดลานนมแล้วค่อย ๆ รีดน้ำนมออกมา วิธีจะช่วยให้ลูกดูดน้ำนมแม่ได้ดีขึ้น และหัวนมของคุณแม่ก็จะไม่แตกอีกด้วยค่ะ
- สรุปแล้ว วิธีให้ลูกดูดเต้าอย่างถูกต้อง คือ ลิ้นของลูกต้องสัมผัสถึงลานนม
ข้อมูลอ้างอิง breastfedbabies.org
หัวนมแตก จะให้นมลูกได้อย่างไร?
คุณแม่บางท่านบอกว่าไม่ทันแล้วค่ะ เพราะตอนนี้หัวนมแตกไปแล้ว เจ็บมาก ต่อจากนี้จะให้นมลูกได้อย่างไร เราไปดูคำแนะนำจาก พญ.ปิยาภรณ์ บวรกีรติขจร จากเพจนมแม่ กันค่ะ
หัวนมแตก-ก่อนให้นมลูก
- ทำใจให้สบาย อย่าเพิ่งเครียดค่ะ เพราะการไม่เครียดจะทำให้น้ำนมหลั่งออกมาได้ดีขึ้น
- ควรแก้ไขวิธีการให้ลูกดูดเต้าให้ถูกต้องโดยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งถ้าหากลูกมีพังผืดใต้ลิ้น หรือหัวนมติดเชื้อ ควรให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำการรักษา
- เริ่มให้นมลูกจากข้างที่ไม่เจ็บก่อนเสมอ เพราะเริ่มแรกที่ลูกดูดเต้า เขาจะดูดแรงเสมอ
- เปลี่ยนท่าที่ให้นมลูก เช่น เป็นท่าฟุตบอล ท่านอน เมื่อลูกเปลี่ยนท่า มุมที่เข้าเต้าก็จะเปลี่ยนไปด้วย ส่งผลให้ไม่ดูดทับแผลที่ลูกเคยดูด
- รอจังหวะให้ลูกอ้าปากกว้าง (คล้ายหาว) ก่อน แล้วค่อยเคลื่อนเต้าเข้าปากลูกโดยเร็วแต่นุ่มนวล เพื่อให้ลูกงับได้ถึงลานนม
- เมื่อลูกดูดนมแม่อิ่มแล้ว ส่วนใหญ่ก็มักจะหลับ และคายปากออกจากเต้าเอง แต่ถ้าคุณแม่ต้งอการถอนนมออกจากปากลูกขณะที่ลูกยังงับเต้าอยู่ ให้คุณแม่ค่อย ๆ ใช้นิ้วมือสอดที่มุมปาก โดยให้นิ้วอยู่ระหว่างเหงือกของลูก เพื่อช่วยลดแรงดูดของลูกลง สุดท้ายค่อย ๆ ถอนเต้าออกจากปากลูก
หัวนมแตก-หลังจากให้นม
- ให้คุณแม่บีบน้ำนมออกมา 2 – 3 หยดทาบริเวณหัวนม ทิ้งไว้ให้แห้ง วิธีนี้จะช่วยสมานแผลที่หัวนมได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ครีมทาหรือยาทาอื่น ๆ
- อาจใช้ปทุมแก้วครอบที่หัวนม เพื่อป้องกันการเสียดสีและระคายเคืองที่หัวนม เนื่องจากต้องสัมผัสกับเสื้อชั้นใน ใช้ในกรณีที่คุณแม่มีอาการเจ็บที่หัวนมมากขณะให้นมลูก
- ควรงดให้นมในข้างที่เจ็บไว้ก่อนประมาณ 1 – 2 วัน หรือจนกว่าแผลจะหาย
- บีบน้ำนมออกทุก ๆ 2 – 3 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการคัดเต้าและเจ็บ แล้วนำนมที่ปั๊มออกมานั้นป้อนลูกก่อน (จากถ้วย)
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับวิธีให้ลูกดูดเต้า เข้าเต้าอย่างถูกวิธี พอจะเห็นภาพกันไหมคะ เพราะต้องบอกว่าทารกแรกเกิดยังไม่รู้จักวิธีการเข้าเต้าที่ถูกต้อง ทั้งนี้ จะต้องอยู่ที่คุณแม่ด้วยค่ะ ว่าจะฝึกลูกน้อยให้เข้าเต้าได้ถูกวิธีได้อย่างไร ซึ่งถ้าทำถูกแล้ว การให้ลูกดูดนมจากเต้าจะเป็นอะไรที่สุขสมบูรณ์มากทีเดียว
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- กระบวนการผลิตน้ำนม เป็นมาอย่างไร?
- วิธีให้ลูกเลิกเต้า ทำอย่างไรถึงจะนุ่มนวล ไม่ให้ลูกเสียใจ
- 6 วิธีอุ้มลูกเข้าเต้า และท่าอุ้มเรอ แม่ควรรู้