Site icon simplymommynote

5 วิธีจับลูกเรอ ได้ผลแน่ คุณแม่ยิ้มได้

5 วิธีจับลูกเรอ ได้ผลแน่ คุณแม่ยิ้มได้

วิธีจับลูกเรอ

สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ต้องไม่ลืมในระหว่างและหลังจากการให้นมลูกไม่ว่าจะด้วยวิธีเข้าเต้าหรือป้อนด้วยขวดนม คือ การจับลูกเรอ เพื่อช่วยไล่อากาศที่ลูกกลืนเข้าไปในระหว่างดูดนมออกมา หากทารกไม่ได้เรอบ่อยๆ หรือกลืนอากาศเข้าไปจำนวนมากจะทำให้มีแก๊สเกินในกระเพาะจำนวนมาก จนเกิดอาการท้องอืดได้ ทารกก็จะร้องไห้งอแง และหงุดหงิดง่าย วันนี้กิฟท์จึงมี “วิธีจับลูกเรอ” มาฝากกันค่ะ

ทำไมต้องจับลูกเรอ?

เพราะพัฒนาการทางร่างกายของทารกยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ กล้ามเนื้อหูรูดในหลอดอาหารยังไม่แข็งแรงพอ ทำให้ไม่สามารถเรอได้เอง และหากพ่อแม่ไม่ช่วยจับเรอ ในกระเพาะของทารกจะมีแก๊สเดินทางเข้าไปเป็นจำนวนมากทำให้รู้สึกไม่สบายท้อง แน่น และอึดอัด ดังนั้น พ่อแม่ควรจับลูกเรอทั้งระหว่างการกินนมอละหลังการให้นมทุกครั้ง

ควรจับลูกเรอเมื่อไหร่?

สรุปแล้วเราควรจับลูกเรอเมื่อไหร่ดี วันนี้เรามีมาให้ดูในกรณี ดังนี้ ค่ะ

ดูดจากเต้า

หากให้นมจากเต้าระหว่างที่เปลี่ยนข้างให้จับลูกเรอ สัก 3-5 นาที และจับเรอหลังให้นมเสร็จ จากข้อมูลของ American Academy of Pediatrics ระบุว่าทารกที่กินนมแม่มักจะต้องการให้จับเรอน้อยกว่าเพราะระหว่างดูดนมจากเต้านั้น จะกลืนอากาศเข้าไปไน้อยกว่าการดูดจากขวด

ดูดจากขวด

หากให้นมจากขวด ก็ควรจับเรอทุก 1 ออนซ์ สัก 3-5 นาที หลังจากมื้อนมก็จับเรออีกครั้งจนกว่าลูกจะเรอ อาจนานถึง 30-60 นาที

หากไม่จับลูกเรอ จะส่งผลอะไรบ้าง?

ทารกบางคนผล็อยหลับในระหว่างกินนมก่อนที่พ่อแม่จะจับเรอ ซึ่งทารกที่ดูดนมจากเต้าจะกลืนอากาศเข้าท้องได้น้อยกว่าอยู่แล้วค่ะ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องจับเรอทุก เพราะแสดงว่าลูกยังสบายตัว สบายท้องดีอยู่

จากผลการศึกษาในปี 2015 ที่ตีพิมพ์ใน Child: Care, Health and Development อธิบายว่าจริงๆ แล้วทารกอาจไม่จำเป็นต้องเรอทุกครั้งและอาจเสี่ยงต่อการแหวะนมมากขึ้นด้วย  แต่หากลูกเกิดอาการกระสับกระส่าย งอแง แอ่นตัวร้องมากเป็นพิเศษหลังจากให้นม นั่นอาจเป็นสัญญาณหนึ่งที่แสดงว่าลูกมีแก๊สในกระเพาะเป็นจำนวนมาก พ่อแม่ควรจับลูกเรอเพื่อช่วยระบายแก๊สค่ะ

สาเหตุที่ทำให้ลูกมีแก๊สในกระเพาะ

แก๊สในกระเพาะที่สะสมมากเกินไปทำให้ลูกอึดอัดไม่สบายตัว เป็นเหตุให้พ่อแม่ต้องใช้วิธีจับลูกเรออยู่เสมอ ซึ่งแก๊สเหล่านี้เกิดจาก 3 สาเหตุหลักค่ะ

ลูกหิว กลืนอากาศเข้าไปเยอะ

การกลืนอากาศเข้าไปจำนวนมากเกิดจากการดูดนมที่เร็วเกินไป ไม่ว่าจะด้วยนมที่ไหลแรงผ่านจุกของขวดนม เพราะลูกหิว หรือแม่มีน้ำนมเยอะไหลเร็ว ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ลูกต้องดูดนมเร็วขึ้นและกลืนอากาศเข้าไปเยอะขึ้นทำให้เกิดแก๊สในกระเพราะจำนวนมาก พ่อแม่สามารถแก้ไขด้วยการปรับท่าให้นมเพื่อช่วยให้ลูกได้ดูดนมช้าลง ลองให้นมน้อยลงแล้วจับเรอบ่อยขึ้น เลือกจุกนมที่ช่วยป้องกันอากาศส่วนเกินในขณะดูด หรือถือขวดนมในลักษณะที่อากาศเข้าไปในจุกนมน้อยลงค่ะ

การย่อยอาหาร

อาหารที่แม่กินจะถูกส่งต่อไปยังน้ำนมแม่ ดังนั้นลูกจึงได้รับสารอาหารชนิดเดียวกันกับแม่ ซึ่งแบคทีเรียในลำไส้ของลูกจะเปลี่ยนอาหารบางส่วนให้เป็นแก๊ส อาหารที่มักทำให้เกิดแก๊สในผู้ใหญ่ก็จะทำให้เกิดแก๊สในทารกด้วยเช่นกัน ได้แก่ บรอกโคลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี กะหล่ำดาว ถั่ว น้ำอัดลม ลูกอมปราศจากน้ำตาล และหมากฝรั่ง เหล่านี้สามารถทำให้ทารกมีแก๊สในกระเพาะได้

แพ้โปรตีนจากนมวัว

หากแม่ที่ให้นมลูกทานอาหารบางชนิด แล้วลูกมีความไวต่ออาหารชนิดนั้นก็อาจส่งผลให้ลูกมีอาการปวดท้องได้ ปฏิกิริยาอาหารที่พบบ่อยที่สุดในทารกคือ การแพ้โปรตีนจากนมวัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากไอศกรีม ชีส หรือโยเกิร์ตที่แม่กินค่ะ ดังนั้นแม่ต้องคอยสังเกตและจดจำอาหารที่แม่ทานทุกวันเพื่อที่จะได้วิเคราะห์ได้ว่าเกิดจากอาหารชนิดใดในกรณีที่ลูกมีอาการแพ้เกิดขึ้นค่ะ

5 วิธีจับลูกเรอ

เมื่อรู้ถึงความสำคัญของการจับลูกเรอ และสาเหตุของการเกิดแก๊สในกระเพาะของลูกแล้ว ก็มาถึงวิธีปฏิบัติจริงกันบ้าง ซึ่งวิธีจับลูกเรอ มีดังนี้ค่ะ

อุ้มพาดบ่า

ท่านี้เป็นท่าที่นิยมกันอย่างมาก เริ่มจากให้พ่อหรือแม่จับลูกอุ้มพาดบ่า หันหน้าเข้าหาตัว ควรอุ้มให้ช่วงตัวของลูกแนบกับช่วงหน้าอกของผู้อุ้ม ประคองศีรษะของลูกและวางคางของลูกไว้บนไหล่ ร่วมกับใช้มืออีกข้างลูบหลังนวดเป้นวงกลมเบาๆ หรือตบหลังของลูกเบาๆ จนกว่าลูกจะเรอ อาจใช้วิธีอุ้มเดิน หรืออุ้มนั่งบนเก้าอี้โยกก็ได้ค่ะ อย่าลืมเอาผ้าอ้อมมารองบ่าพ่อแม่ด้วยนะคะ เพราะบางครั้งขณะที่ลูกเรออาจมีนมบางส่วนไหลย้อนออกมาด้วย

อุ้มพาดอก

ในกรณีที่ลูกผล็อยหลับขณะให้นม และพ่อแม่ไม่อยากปลุกให้ตื่นสามารถใช้ท่านี้ได้ค่ะ โดยค่อยๆ อุ้มลูกขึ้นไปที่หน้าอก พาดลูกที่หน้าอกแทนการพาดไหล่ วางมือข้างหนึ่งไว้บนหลังและอีกข้างหนึ่งอยู่ใต้ก้น หลีกเลี่ยงการเหยียดขาออก ปล่อยให้ลูกได้งอตัวซึ่งจะทำให้ลูกยังหลับอยู่ได้ค่ะ แล้วใช้มือที่ประคองหลังมาตบหรือนวดหมุนเป็นวงกลมเบาๆ จนกว่าลูกจะเรอค่ะ

จับลูกนั่งบนตัก

จับลูกนั่งบนตัก และเอนตัวลูกไปด้านหน้าเล็กน้อย โดยใช้มือข้างหนึ่งประคองศีรษะและคอของลูกเอาไว้โดยให้นิ้วชี้และนิ้วโป้งอยู่ที่คางและหน้าอกของลูก ร่วมกับใช้มืออีกข้างลูบหลัง หรือนวดหลังของลูกเบาๆ จนกว่าลูกจะเรอ ท่านี้ก็เป็นท่าที่สะดวกสำหรับการจับเรอระหว่างการให้นม หรือระหว่างเปลี่ยนเต้าเพราะแม่จะได้ไม่ต้องลุกนั่งหลายครั้งค่ะ

จับลูกนอนคว่ำลงบนตัก

จับลูกนอนคล่ำลงบนตัก ใช้มือข้างที่ถนัดประคองไว้ที่อกและไหล่ของลูกไว้ ให้ศีรษะสูงกว่าลำตัว แต่ต้องสังเกตไม่ให้ลูกนอนทับแขนตัวเอง ร่วมกับใช้มืออีกข้างตบหลังหรือนวดหลังของลูกเบาๆ จนกว่าลูกจะเรอ

งอขาขึ้นที่หน้าอก

ท่านี้ใช้กรณีที่ลูกไม่ยอมเรอในท่าอื่นๆ ให้พ่อหรือแม่จับลูกนอนหงายและจับขาลูกงอขึ้นไปที่หน้าอก เป็นวิธีที่อาจช่วยระบายลมออกจากกระเพาะได้ ทั้งนี้ขณะที่งอขาพ่อแม่สามารถเลือกท่าอุ้มเรอท่าใดก็ได้ที่ตัวเองถนัดค่ะ

วิธีจับลูกเรอเหล่านี้เลือกใช้ได้ตามที่พ่อแม่ถนัด ซึ่งต้องขยันจับลูกเรอในช่วงแรกหน่อยนะคะ เพราะจะช่วยให้ลูกสบายตัว อารมณ์ดี และเป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายขึ้นเยอะเลยค่ะ รวมไปถึงสามารถป้องกันการร้องโคลิคในทารกได้ด้วย และอย่าลืมเตรียมผ้าพาดบ่า หรือผ้าอ้อมไว้ใกล้ตัวเสมอเพราะลูกอาจแหวะนมได้ค่ะ

Exit mobile version