10 วิธีแก้ เต้านมคัด เวิร์กสุด ๆ
ในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด คุณแม่จะต้องเจออาการเต้านมคัด ไม่ว่าคุณแม่วางแผนจะให้นมลูก หรือไม่ก็ตาม ร่างกายของคุณแม่ก็จะเริ่มผลิตน้ำนม และเต้านมจะมีอาการบวม แข็ง เต้านมจะร้อน ผิวบวมแดงเป็นมัน เจ็บ ลานนมตึงแข็ง เป็นสาเหตุให้ลูกดูดนมได้ยากขึ้นด้วย สิ่งที่คุณแม่กำลังประสบนี้ คือการคัดตึงเต้านมหลังคลอดค่ะ และเป็นเรื่องปกติสำหรับคุณแม่ทุกคนนะคะ แต่ทำไมมันถึงเกิดขึ้น และจะทำอะไรได้บ้างเพื่อบรรเทาอาการเหล่านี้? วันนี้เรามีข้อมูลมาฝากค่ะ
สาเหตุของเต้านมคัด
มีหลายสาเหตุที่ทำให้คุณแม่มีอาการเต้านมคัดตึง ตั้งแต่ภายหลังคลอดลูก จนกระทั้งสิ้นสุดการให้นมลูก จึงรวบรวมสาเหตุได้ดังนี้ค่ะ
- ร่างกายคุณแม่สร้างน้ำนมได้มากกว่าปริมาณที่ลูกกิน
- แม่ทิ้งช่วงการให้นมลูกนานเกินไป ให้นมลูกไม่บ่อยพอ จำกัดเวลาการให้นมลูก หรือไม่ได้บีบออกในช่วงที่ลูกไม่ได้ดูด ทำให้มีน้ำนมสะสมในเต้ามาก อย่างน้อยควรมีการให้นม 8 ครั้ง ในหนึ่งวัน
- ลูกดูดนมผิดวิธี หรือท่าอุ้มให้นมไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ลูกดูดนมได้น้อย และทำให้การระบายไม่ดีเท่าที่ควร
- คุณแม่เปลี่ยนกิจวัตรประจำวันกระทันหัน เพราะต้องกลับไปทำงานส่งผลให้ไม่สามารถให้นมลูก หรือปั๊มนมน้อยลง
- ลูกมีความสนใจดูดนมน้อยลง อาจเพราะลูกป่วย หรือเริ่มกินอาหารเสริมมากขึ้น
- ลูกของคุณแม่เริ่มนอนหลับเป็นเวลานานขึ้นในเวลากลางคืน
- คุณแม่หยุดให้นมลูกอย่างกะทันหัน หรือหย่านม
อาการเต้านมคัด เป็นอย่างไร
เต้านมตึงแข็ง
หน้าอกที่คัดตึงเมื่อจับจะรู้สึกแข็งมากกว่านุ่มหรือเด้ง รู้สึกร้อนๆผิวบริเวณนั้น และผิวหนังจะดูตึงหรือเป็นมันเงา
เต้านมบวมและเจ็บ
ภายหลังคลอด ฮอร์โมนการตั้งครรภ์จะลดลง ฮอร์โมนโปรแลคตินเข้ามาทำงานแทนที่เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายคุณแม่ผลิตน้ำนม ขณะเดียวกัน เลือดและของเหลวต่างๆ ก็ถูกส่งมาเลี้ยงที่เต้านมมากขึ้น
ลานนมแข็งและหัวนมสั้นลง
ผิวหนังบริเวณลานนมของคุณแม่จะรู้สึกตึงเจ็บ จึงดึงหัวนมให้สั้นลง ทำให้เวลาลูกดูดนมจะงับถึงลานนมได้ยากขึ้น
มีไข้
บางคนมีไข้ต่ำแต่จะไม่เกิน 24 ชม. หรือต่อมน้ำเหลืองบวมโดยเฉพาะบริเวณรักแร้
วิธีบรรเทาอาการคัดเต้านม
ประคบเต้านมด้วยผ้าอุ่นจัด
อย่างน้อย 10 นาทีก่อนที่จะให้นมลูก ควรใช้ผ้าขนหนูผืนใหญ่พอที่จะหุ้มเต้านมได้โดยรอบ หรือที่ประคบนมที่ปัจจุบันมีผู้ผลิตออกมาวางจำหน่ายก็สะดวกมากยิ่งขึ้น ตามด้วยการนวดและคลึงเต้านมเบาๆ จากฐานลงไปที่หัวนม
ใช้ใบกะหล่ำปลีประคบ
เลือกกะหล่ำปลีที่สามารถคลุมเต้านมของคุณแม่ นำมาล้างน้ำหรือแช่ในน้ำส้มสายชู เพื่อล้างสารพิษตกค้างออก นำไปแช่แข็ง จากนั้นนำมาประคบเต้าประมาณ 15 – 20 นาที
บีบน้ำนมออก
ให้บีบน้ำนมออกจนลานหัวนมนุ่มลง จะช่วยให้ลูกงับลานหัวนมง่ายขึ้น
ให้ลูกดูดน้ำนมบ่อยมากขึ้น
อย่างน้อยทุก 2 – 2 ½ ชั่วโมง ดูดให้ถูกวิธี เพื่อระบายน้ำนมออกจากเต้าให้ได้มากที่สุด และต้องให้ดูดในเวลากลางคืนด้วย หรือตั้งนาฬิกาปลุกเพื่อปั๊มระบายน้ำนมออก มิฉะนั้นเต้านมจะคัดในเช้าวันรุ่งขึ้นอีก ถ้าไม่สามารถให้นมลูกได้ตามเวลา ควรบีบน้ำนมออกเก็บไว้
ประคบเย็น
หลังให้นมลูกเสร็จ เพื่อลดความเจ็บปวด แต่ไม่ควรทำก่อนการให้นม เพราะอาจขัดขวางการไหลของน้ำนมได้
ปั๊มนมออก หากเจ็บมาก
ถ้าคุณแม่เจ็บมากจนให้ลูกดูดนมไม่ได้ อาจต้องพัก ระบายน้ำนมออกโดยบีบหรือปั๊มออก และป้อนนมแม่จากถ้วยให้ลูกแทน หากป้อนด้วยขวดนมลูกอาจติดขวดนมได้ง่าย เพราะน้ำนมไหลง่าย และออกแรงดูดน้อยกว่าการดูดเต้า
รับประทานยาแก้ปวด
ตามความจำเป็นเช่น พาราเซทตามอล
- ไม่ควรใส่เสื้อชั้นในที่รัดแน่นจนเกินไป
เพราะจะยิ่งทำให้เกิดการกดทับบริเวณหน้าอก และจะทำให้เจ็บเต้านมมากขึ้น
ทำ PP หรือ Power pumping
บีบเอาน้ำนมออกได้เรื่อย ๆ ถ้าจำเป็น หรือควรทำ PP หรือ Power pumping เพื่อคลายความเจ็บปวด ป้องกันการเกิดท่อน้ำนมอุดตัน และเป็นการช่วยกระตุ้นน้ำนม
ปรึกษาแพทย์ หรือคลินิกนมแม่
หากอาการคัดเป็นรุนแรงมาก พยายามแก้ไขด้วยตัวเองทุกวิธีแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ หรือคลินิกนมแม่
เต้านมคัดแบบไหน ที่ควรพบแพทย์
มีไข้ต่ำ ๆ
คุณแม่ที่มีอาการเต้านมคัดบางครั้งจะมีไข้ต่ำ ๆร่วมด้วย แต่จะเป็นเวลาแค่ 12 – 24 ชั่วโมง ซึ่งอาการนี้เรียกว่า ไข้จากน้ำนม (Milk Fever) สาเหตุอาจเกิดจากสารในน้ำนมซึมผ่านเข้าไปในกระแสเลือดแม่ โดยปกติอาการไข้ที่เกิดขึ้นจะหายได้เอง แต่ถ้ามีไข้สูง และนานกว่า 48 ชั่วโมง แสดงว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
ลูกไม่สามารถดูดนมแม่ได้ดี
แม้ว่าคุณแม่จะพยายามลดอาการคัดตึงของเต้า หรือลดการพุ่งแรงของน้ำนมแล้วก็ตาม เช่นนี้ลูกอาจมีปัญหาการดูดนมจากสาเหตุอื่นร่วมด้วย ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ค่ะ
เจ็บทุกครั้งที่ให้ลูกดูดเต้า
คุณแม่รู้สึกเจ็บมากทุกครั้งที่ให้ลูกดูดเต้า จนรู้สึกว่าทนไม่ไหว
เต้านมบวม
รวมถึงมีอาการคัดตึงยังไม่หายหลังจากผ่านไปหนึ่งอาทิตย์
มีไข้สูงกว่า 38 องศา
ร่วมกับมีอาการอ่อนเพลีย อ่อนแรง และหนาวสั่น อาจเกิดจากเต้านมอักเสบ ต้องพบแพทย์ค่ะ
การมีอาการเต้านมคัดตึงคงไม่ใช่เรื่องสนุกแน่นอนสำหรับคุณแม่ ดังนั้นคุณแม่ก็ควรป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอาการเหล่าบ่อยๆค่ะ ควรให้นมลูกอย่างน้อย 8 ครั้งต่อวัน ไม่เสริมของเหลวให้ลูกในช่ว 4 สัปดาห์แรก หากลูกกินนมน้อยลงก็ควรระบายน้ำนมออกจากเต้าอย่างสม่ำเสมอ ถ้าแม่จำเป็นต้องหย่านมลูกควรทำทีละน้อย และอย่าตกรอบการให้นมช่วงกลางคืนนานเกินไป รวมไปถึงการให้นมท่าห้อยหัวก็มักช่วยป้องกันท่อนมอุดตัน และป้องกันการคัดตึงของเต้านมได้ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- วิธีนวดกระตุ้นน้ำนม ที่ช่วยเพิ่มน้ำนม สยบปัญหาท่อน้ำนมอุดตัน
- คัดเต้า เป็นก้อน ท่อน้ำนมอุดตัน ทำอย่างไรดี