“คนท้องกินกล้วยหอมได้ไหม จะส่งผลต่อลูกน้อยหรือเปล่า?”
เป็นคำถามที่คุณแม่หลายคนคงนึกสงสัย และต้องการหาคำตอบอยู่เช่นกัน ซึ่งวันนี้เรามีข้อมูลดี ๆ เรื่อง กล้วย ๆ มาฝาก ทั้งกล้วยนานาชนิด และกล้วยหอม รวมถึงคุณแม่ตั้งครรภ์ที่อยากรู้ว่าคนท้องกินกล้วยหอมได้ไหม จะส่งผลเสียต่อลูกน้อยอย่างไร? ไปค่ะ เราไปไล่เรียงกันทีละข้อเลย
ประโยชน์ของกล้วยนานาชนิด
ประโยชน์ของกล้วยนานาชนิด ที่เป็นผลดีกับคุณแม่ และทารกในครรภ์ มีดังนี้ คือ
ช่วยเพิ่มพลังงาน
ทำให้อิ่มนาน เพราะกล้วยอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต และเส้นใยไฟเบอร์ ทั้งยังมีน้ำตาลที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที อาทิ น้ำตาลกลูโคส น้ำตาลซูโคส และน้ำตาลฟรุกโตส
ช่วยพัฒนาสมอง
รวมถึงระบบประสาทส่วนกลางของทารกในครรภ์ เพราะกล้วยอุดมไปด้วยวิตามินบี โดยเฉพาะวิตามินบี 6 ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างเสริม และพัฒนาระบบประสาทของทารกโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
ช่วยลดอาการคลื่นไส้
และยังช่วยอาการอาเจียนของคุณแม่ ในช่วงแพ้ท้องในระยะไตรมาสแรกได้เป็นอย่างดี
ช่วยปรับความดันโลหิต
กล้วยหอมมีสรรพคุณที่ช่วยปรับความดันโลหิตของคุณแม่ตั้งครรภ์ให้อยู่ในภาวะปกติ และช่วยลดอาการปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อ แขน ขา ในช่วงตั้งครรภ์ได้อีกด้วย
ช่วยลดอาการท้องผูก
ช่วยในการขับถ่าย ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ การรับประทานกล้วยซึ่งมีเส้นใยไฟเบอร์สูงจะช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนของเสียออกจากลำไส้ ซึ่งตามปกติขนาดของหน้าท้องที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะไปกดทับบริเวณลำไส้ใหญ่ ทำให้กากใยอาหารเคลื่อนที่ไม่สะดวก จึงทำให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์มักมีอาการท้องผูก นั่นเอง
ช่วยลดความเครียด
โปรตีนเซโลโทนินในผลกล้วย จะช่วยให้แม่ตั้งครรภ์อารมณ์ดีขึ้นได้ ช่วยลดความเครียดที่สามารถส่งผลต่ออารมณ์ของลูกน้อยได้
ช่วยพัฒนาสมอง และกระดูกไขสันหลังของทารก
เนื่องจากในผลกล้วยจะมีกรดโฟลิก ที่มีประสิทธิภาพในการช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของลูกในครรภ์ให้แข็งแรง
ประโยชน์ของกล้วยหอม
ประโยชน์ของกล้วยหอมมีดังนี้
อุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย
ได้แก่ โพแทสเซียม แมกนีเซียม วิตามินบี 6 และวิตามินบี 12 ช่วยเสริมสร้างระบบประสาท และสมอง
ช่วยในการขับถ่าย
ในกล้วยหอมมีเส้นใยไฟเบอร์ในปริมาณที่สูง จึงสามารถกระตุ้นระบบการขับถ่ายให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ
ช่วยคลายเครียด
ลดอาการหงุดหงิด เนื่องจากในกล้วยหอมจะมีกรดอะมิโน Tryptophan ซึ่งร่างกายสามารถเปลี่ยนเป็นโปรตีนเซโรโทนิน (Serotonin) ได้ ช่วยให้รู้สึกสดชื่น แจ่มใส และผ่อนคลาย
บรรเทาอาการปวดหัว
รวมถึงอาการปวดท้อง ในสตรีที่มีรอบเดือนได้
ช่วยลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
และป้องกันโรคกระเพาะได้ เนื่องจากกล้วยหอมมีเส้นใยไฟเบอร์ในปริมาณที่สูง ส่งผลให้ลำไส้เล็กทำงานได้ดีขึ้นหรือย่อยอาหารได้ดีขึ้นนั่นเอง
ช่วยกระตุ้นการทำงานของฮอร์โมน
และฮีโมโกบิน ในการผลิตเม็ดเลือดแดง เพราะในผลกล้วยหอมอุดมไปด้วยธาตุเหล็ก ซึ่งมีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดโรคโลหิตจางได้อีกด้วย
ช่วยลดการเกิดตะคริว
การรับประทานกล้วยหอมเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 1 ผล จะช่วยลดการเกิดตะคริวได้ เนื่องจากในผลกล้วยหอมจะมีโพแทสเซียมสูง ช่วยในการป้องกันโรคเหน็บชา และอาการตะคริวได้
ข้อควรระวังในการกินกล้วยหอม
การรับประทานกล้วยหอมในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์รู้สึกอึดอัด แน่นท้อง และอาจเกิดอาการจุกแน่นที่หน้าอกได้ ซึ่งอาจส่งผลทำให้ทารกหายใจลำบาก หรือขาดอากาศหายใจได้ชั่วขณะ ดังนั้นคุณแม่ควรรับประทานกล้วยหอมอย่างระมัดระวัง ไม่รับประทานมากจนเกินไป เพียงแค่วันละ 1 – 2 ผล ก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับความต้องการของร่างกาย และทางที่ดีไม่ควรรับประทานกล้วยหอมพร้อมกับอาหาร หรือรับประทานต่อเนื่องทีละหลายผล เพราะจะทำให้รู้สึกอึดอัด แน่นท้องได้ นั่นเอง
กล้วยเป็นผลไม้ที่ทรงคุณค่าทางโภชนาการ ทั้งในรูปของอาหาร และยา ซึ่งปัจจุบันจะพบว่ามีการนำกล้วยไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และของขบเคี้ยวยามว่าง ในหลากหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น กล้วยตาก กล้วยฉาบ กล้วยกวน รวมถึงกล้วยบด ป่นเป็นผงรับประทานกับนม หรือน้ำต้มสุกอุ่นๆ เป็นเครื่องดื่มก็ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งนอกจากคุณค่าทางอาหารแล้ว กล้วยยังสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านได้อีกด้วย เช่น กล้วยดิบ นำมาป่นเป็นผงละเอียด ใช้ชงน้ำดื่ม แก้อาการท้องเสีย ท้องร่วง แถมยังใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ ได้อีกด้วย
ทว่า อย่างไรก็ตาม การรับประทานกล้วยก็มีข้อจำกัด และข้อควรระวังอยู่หลายประการเช่นกัน โดยเฉพาะ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคไต โรคความดันโลหิตสูง การรับประทานกล้วยควรรับประทานแต่น้อย หรือทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทาน จึงจะเป็นการดีที่สุด
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- คนท้องกินกาแฟได้ไหม ส่งผลอะไรกับลูกในครรภ์บ้าง