สำหรับคุณแม่ท้อง ที่ต้องอุ้มท้องโตๆ เป็นระยะเวลานานกว่า 9 เดือน คงจะมีคำถามมากมายในใจเกี่ยวกับลูกน้อยใช่มั้ยคะ อาทิ เค้าอยู่ในท้อง วันๆ เค้าจะทำอะไรบ้างนะ? จะเบื่อมั้ย? หรือแม้แต่แม่ทานไอศกรีมช็อคโกแลตลูกจะชอบมั้ย? อะไรอย่างนี้เป็นต้น
แต่สิ่งที่ผู้เขียนกำลังจะบอกต่อไปนี้ รับรองคุณพ่อคุณแม่คาดไม่ถึงแน่นอน จะมีอะไรบ้าง ไปกันเลยค่ะ
อาหารคนท้อง
แม่ชอบทานอะไร ลูกก็ชอบอย่างนั้น
เคยมั้ยคะ? ตอนท้องคุณแม่อยากทานอาหารชนิดเดียวกันซ้ำ ๆ แบบไม่รู้จักเบื่อ เช่น กินแต่ก๋วยเตี๋ยวและต้องเป็นบะหมี่เท่านั้น ซึ่งสารอาหารดังกล่าวจะลงไปปะปนกับน้ำคร่ำ ลูกจึงจะสามารถกินได้ และภายในระยะเวลา 20 สัปดาห์ที่ลูกอยู่ในท้อง ลูกน้อยจะรับรู้ได้ว่าอาหารชนิดไหนที่คุณแม่ชอบทานบ่อย ๆ และเมื่อคลอดออกมาลูกน้อยก็มักจะชอบทานในสิ่งที่คุณแม่ทานขณะท้องด้วย เพราะเค้าคุ้นเคยนั่นเองค่ะ
พัฒนาการทารก ด้านอารมณ์
แม่เครียด ลูกก็รู้นะ
จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ พบว่า ลูกน้อยที่อยู่ในท้องมักเอามือซ้ายสัมผัสใบหน้าตัวเองอยู่บ่อย ๆ การแสดงออกของลูกน้อยในท้องนี้สามารถบอกได้ว่าอารมณ์เครียดของคุณแม่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์ ดังนั้น ถ้าไม่อยากให้ลูกเครียดตาม คุณแม่ก็พยายามไม่เครียดนะคะ ทำใจให้สบาย ๆ เข้าไว้
แสดงออกทางสีหน้าได้
มีนักวิทยาศาสตร์จาก Durham and Lancaster University ได้ทำการทดลองสแกนภาพถ่าย 4D ของทารกในครรภ์เมื่ออายุครรภ์ได้ 24 สัปดาห์ พบว่าทารกน้อยสามารถแสดงออกทางสีหน้าได้แบบไม่ซับซ้อน เช่น มีการยิ้มที่มุมปาก และเมื่ออายุครรภ์ได้ 38 สัปดาห์พบว่า ทารกน้อยในครรภ์ สามารถแสดงออกทางสีหน้าที่ซับซ้อนได้มากขึ้น เช่น การขมวดคิ้ว ทำจมูกย่น หรือแม้แต่การเบะปาก
ร้องไห้ได้
เดี๋ยวค่ะ อย่าเพิ่งอึ้งกันไป เพราะจากการศึกษาชิ้นหนึ่ง หลังจากที่ได้ทำการอัลตร้าซาวน์ทารกในครรภ์ช่วงไตรมาสที่สาม พบว่า เด็กทารกสามารถทำเสียงต่ำ ๆ อ้าปาก เกร็งลิ้น และกระเพื่อมขึ้นลงไม่สม่ำเสมอ เหมือนเด็กที่กำลังร้องไห้อยู่นั่นเองค่ะ
พัฒนาการทารก ด้านการฟัง
ลูกรู้จักที่ฟัง
อีกหนึ่งงานศึกษาจาก University of Florida พบว่าหลังจากที่นักวิจัยบอกให้คุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรามาสที่สาม อ่านบทกลอนคลาสสิกให้ทารกในครรภ์ฟัง 2 ครั้งต่อวัน และทุกวัน พบว่า ทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจช้าลง นั่นหมายความว่า ลูกน้อยรู้จักนิ่งและฟังในสิ่งที่คุณแม่กำลังอ่านให้ฟัง
ลูกจำเพลงที่เคยฟังได้
นักวิจัยจาก University of Helsinki ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับความจำของทารกในครรภ์ของคุณแม่มีที่อยู่ในไตรมาสที่สาม โดยเล่นเพลง Twinkle Twinkle Little Star ตลอดทั้งไตรมาส และเมื่อหลังจากที่คลอดลูกแล้ว พวกเค้าก็เล่นเพลงนี้ให้ฟังอีกครั้ง พบว่าค่า EEG ค่อยๆ สูงขึ้น ซึ่งแสดงว่าทารกในครรภ์สามารถจำเพลงที่ฟังได้ แม้อยู่ในท้องก็ตาม
พัฒนาการทารก ด้านร่างกาย
ลูกเริ่มดูดนิ้วตัวเองได้
ข้อมูลจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเดอร์แฮม จากการตรวจอัลตร้าซาวน์ทารกในครรภ์ที่มีอายุ ใกล้ 9 เดือน พบว่า ทารกจะเริ่มเปิดปากเพื่อที่จะดูดนิ้ว แต่อาจจะยังมีการบังคับกล้ามเนื้อได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงลุ้นทุกครั้งว่า “ปาก” กับ “มือ” จะสัมพันธ์กันมั้ย ถ้าสมมุติว่ามือเป็นตัวการ์ตูนคงพูดว่า “เฮ้! ปาก ปาก ปาก เปิดปากซะทีสิ ชั้นจะได้เอานิ้วสวยๆ ของชั้นเข้าปากเธอไง เร็วเข้าๆ จะถึงแล้ว”
พัฒนาการทารกที่ดี วิธีชวนทารกในครรภ์คุย
ชวนลูกคุยเรื่องทั่วไป
คุณแม่สามารถชวนลูกคุยได้ในทุกเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องเครียดนะคะ หรืออาจเป็นเล่านิทานให้ลูกฟัง ร้องเพลง หรือเล่าเรื่องสวย ๆ งาม ๆ ให้ลูกฟังก็ได้เช่นกันค่ะ
เรียกชื่อลูกซ้ำ ๆ บ่อย ๆ
คุณแม่คิดชื่อลูกน้อยไว้แล้วหรือยังคะ ถ้ายังลองแวะที่บทความนี้ดูค่ะ “ตั้งชื่อลูกก่อนคลอด สิ่งที่ควรคำนึงถึง ตัวอักษรที่เป็นมงคล และไอเดียตั้งชื่อแบบอินเตอร์”
หลังจากนั้นก็ให้เรียกชื่อลูกบ่อย ๆ เช่น “น้องมิน…หนูทำอะไรอยู่คะ? วันนี้แม่จะพาหนูไปซื้อของที่ห้างนะลูก” ประมาณนี้ค่ะ
ชวนคุณพ่อมาคุยกับลูกด้วย
เช่นเคยค่ะ ไม่จำกัดว่าต้องคุยเรื่องอะไร ยกเว้นเรื่องเดียวคือ เรื่องเครียด^^ อาจจะเล่าให้ลูกฟังก็ได้ค่ะว่าวันนี้ที่ทำงานคุณพ่อทำงานอะไรสำเร็จแล้วบ้าง หรือไปเจอกับเรื่องสนุก ๆ อะไรมา เพื่อให้ลูกได้จดจำเสียงคุณพ่อได้อีกด้วยค่ะ
บอกรักลูก
ให้คุณพ่อคุณแม่บอกรักลูกในทุกวันด้วยทีท่าและน้ำเสียงที่อ่อนโยน แม้ลูกอยู่ในท้องก็สามารถรับรู้ความรู้สึกนี้ได้นะคะ
เลือกคุยในเวลาที่เหมาะสม
ที่ว่าเหมาะสมคือ มักจะเป็นช่วงเวลาหลังอาหาร เพราะลูกในท้องจะมีการตื่นตัวมากที่สุด และอีกช่วงคือ ช่วงก่อนนอนค่ะ
คุยไป ลูบท้องไป
ภาษากายก็สำคัญไม่แพ้ภาษาพูดค่ะ เพราะการลูบท้องจะเป็นการช่วยกระตุ้นระบบประสาทและสมองส่วนการรับรู้ความรู้สึกของทารกให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ โดยให้หมุนเป็นวงกลมช้า ๆ
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว วันนี้อย่าลืมชวนลูกคุย พร้อมกับเรียกชื่อลูกบ่อย ๆ นะคะ^^
อ้างอิง cafemom