Site icon simplymommynote

8 อาหารแม่ให้นมลูก ควรเลี่ยง!

8 อาหารที่แม่ให้นมควรเลี่ยง

หลังจากการคลอดลูกแล้ว สิ่งสำคัญที่คุณแม่ต้องดูแลให้มากๆ ไม่ใช่แค่ลูกน้อยคนเดียว แต่คุณแม่ต้องดูแลตัวเอง เพื่อลูกน้อยด้วยนะคะ โดยเฉพาะคุณแม่ที่อยู่ในระยะให้นมลูก มีอาหารหลายๆ อย่างที่คุณแม่ควรเลี่ยง เพราะสารอาหารจากอาหารที่คุณแม่ทานไปจะส่งถึงลูกน้อยผ่านน้ำนมแม่ค่ะ

8 อาหารที่แม่ให้นมควรเลี่ยง

อาหารและผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวของหมักดอง

อาทิ เลมอน ส้ม สับปะรด หรืออาหารที่มีส่วนผสมของน้ำส้มสายชู เมื่อทารกทานนมแม่เข้าไป อาจทำให้ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร เพราะอวัยวะของเค้ายังไม่พร้อมที่จะรับรสชาติอาหารหรือผลไม้เหล่านี้ หากทารกได้รับเข้าไป จะส่งผลให้ทารกมีอาการปวดท้องหรือท้องเสียได้

อาหารยา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

ต้องบอกว่าในอาหารบางชนิดใช้แอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมหรือแม้แต่ยาบางชนิดก็มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมเช่นกัน เพราะหากคุณแม่ทานแอลกอฮอล์เข้าไป แล้วต้องไปให้นมลูกต่อ จะส่งผลเสียต่อระบบประสาท ทำลายเซลล์สมอง รวมไปถึงพัฒนาการต่างๆ ที่อาจหยุดชะงักได้

ผักที่มีแก๊สมาก

โดยทั่วไปแล้ว เราจะเข้าใจว่าผักคือ อาหารที่มีประโยชน์ใช่ไหมค่ะ? แต่…ผักแต่ละชนิดก็จะดีและมีคุณสมบัติที่ต่างกันอยู่ สำหรับคุณแม่ที่อยู่ในระยะให้นม ผักที่ควรเลี่ยงก็คือ ผักที่มีแก๊สมาก อาทิ บรอกโคลี กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ รวมไปถึงผักสดบางชนิด เพราะถ้าลูกได้รับนมแม่ที่ทานผักดังกล่าวก็จะทำให้ลูกท้องอืด ร้องไห้งอแงได้ แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ให้ทานแบบสุกดีกว่าค่ะ

อาหารที่มีกลิ่นแรง

อาหารที่มีกลิ่นแรงจะส่งผลให้น้ำนมมีกลิ่นที่เปลี่ยนไปด้วย ทำให้ลูกไม่ยอมทานนม แม่อาจงานเข้าได้ เพราะลูกจะร้องไห้หิวอีกนานเลย อาหารที่มีกลิ่นแรง อาทิ ผักชี กระเทียม ยี่หร่า ผักกระเฉด หรือจะเป็นผลไม้อย่างทุเรียนก็มีกลิ่นแรงเช่นกัน

ขนมและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

สำหรับในหมวดคาเฟอีนนี้ ขนมหรือเครื่องดื่มที่เรารู้จักกันดี ได้แก่ ชา กาแฟ ช้อกโกแลต และน้ำอัดลม สำหรับคุณแม่ที่มีลูกน้อยอายุสัก 1-2 เดือน ร่างกายและระบบการย่อยอาหารของลูกนั้นยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ร่างกายจึงยังไม่สามารถกำจัดสารคาเฟอีนออกมาได้ ก็จะส่งผลให้สารคาเฟอีนตกค้างในร่างกายลูกได้ค่ะ แต่หากลูกอายุเกิน 3 เดือนไปแล้ว ก็พอทานได้ค่ะ แต่ก็ไม่ควรทานเยอะน้า เพราะคาเฟอีนสามารถส่งผ่านทางน้ำนมได้ จะกลายเป็นการกระตุ้นให้ลูกนอนไม่หลับ และร้องไห้งอแงได้ค่ะ

อาหารเสี่ยงแพ้

ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่มีสารอาหารประเภทโปรตีนเชิงซ้อน ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในนมวัว ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ปลา ข้าวโพด ไข่ และถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ นอกจากนี้ ยังรวมถึงอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ ด้วยค่ะ เช่น ขนมเค้ก ขนมปังอบ คุกกี้ เป็นต้น เหล่านี้อาจทำให้ลูกแพ้โปรตีนได้ เช่น โปรตีนจากนมวัว เป็นต้นค่ะ

อาหารที่มีรสจัด

ข้อนี้รวมถึงอาหารที่มีรสเผ็ดด้วยนะคะ เพราะรสชาติอาหารที่เผ็ดจะทำให้ลูกปวดท้องหรือท้องอืดได้ เมื่อลูกน้อยทานนมแม่เข้าไป แต่อาหารที่มีรสเผ็ดแบบสมุนไพร คุณแม่ทานได้นะคะ เช่น กะเพรา พริกไทย หรือขิง เป็นต้นค่ะ ที่สำคัญ สมุนไพรเหล่านี้ยังช่วยกระตุ้นในเรื่องการช่วยผลิตน้ำได้อีกต่างหากค่ะ

ปลาทะเลน้ำลึก

ปลา…เป็นอาหารที่มีประโยชน์ค่ะ เพราะมีสารอาหารสำคัญอย่างโอเมก้า 3 ที่มีส่วนช่วยในการบำรุงเซลล์สมองของลูกน้อยได้เป็นอย่างดี แต่…สิ่งที่น่ากังวล และคุณพ่อคุณแม่ควรคำนึงก่อนที่จะให้ลูกน้อยได้กินปลานั่นก็คือ “สารปรอท” ที่อยู่ในตัวปลาค่ะ เพราะสารปรอทในปลาสามารถส่งผ่านเข้าสู่น้ำนมแม่ได้ อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ได้ออกมาให้คำแนะนำไว้ ดังนี้

“คุณแม่ที่อยู่ในระยะให้นมลูกควรทานปลาอย่างน้อย 2 มื้อต่ออาทิตย์โดยประมาณ แต่ควรเลือกทานปลาและอาหารทะเลชนิดอื่น ๆ ที่มีสารปรอทเจือปนน้อย อาทิ กุ้ง ปลาดุก แซลม่อน เป็นต้น”

**ปลาที่คุณแม่ควรเลี่ยง เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง ปลาฉลาม ปลากระโทง ปลาอินทรีย์ เป็นต้น”

           คุณแม่หลังคลอดมีอะไรที่ต้องดูแลมากมาย หลัก ๆ ก็คือ ดูแลเรื่องแผลคลอด และดูแลลูกน้อย ซึ่งการดูแลลูกน้อยในส่วนที่สำคัญคือ การให้นมแม่ เพราะในนมแม่มีสารอาหารสำคัญที่ร่างกายทารกต้องการมากมาย ดังนั้น อาหารที่คุณแม่หลังคลอดจะกินนั้นก็ควรพิจารณาให้รอบคอบสักหน่อย เพราะสารอาหารจากอาหารที่คุณแม่กินเข้าไปนั้น สามารถส่งผ่านไปยังลูกได้ค่ะ สู้ ๆ ค่ะคุณแม่

Exit mobile version