พ่อแม่ที่เห็นลูกของตนเองมีอาการชักเกร็งหรือชักกระตุกทั้งตัวคงรู้สึกตกใจ และเป็นกังวลอาการที่ตามมาภายหลังจากการชัก ส่วนพ่อแม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ก็ควรศึกษาวิธีรับมือเอาไว้ด้วยนะคะ เพราะการชักไม่ใช่เรื่องไกลตัว โดยเฉพาะเด็กในวัย 6 เดือน – 5 ปี ที่มีอัตราการการชักมากกว่าวัยอื่น ๆ ดังนั้น เมื่อลูกเกิดอาการชัก พ่อแม่จะได้รับมือกันอย่างถูกวิธีค่ะ
ลูกชัก สาเหตุมาจากอะไร?
สาเหตุที่ลูกมีอาการชักเกร็งมีหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น
- มีไข้
- อดนอน
- มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือ
- ระดับเกลือแร่ไม่สมดุล ที่เกิดจากอาการท้องเสีย
ล้วนแต่เป็นสาเหตุทำให้ลูกชักได้ทั้งสิ้น แต่ที่จะกล่าวถึงในที่นี้คือ “ภาวะชักจากไข้” ซึ่งเป็นภาวะชักที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก มักมีลักษะเกร็งหรือกระตุกทั้งตัวในขณะที่มีไข้ จะมีอุณหภูมิมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ภาวะนี้พบในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี และพบได้บ่อยที่สุดในเด็กอายุประมาณ 1 ขวบครึ่ง ถึง 2 ปี ภาวะนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการที่สมองของเด็กเล็กนั้นยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการชักมากกว่าในเด็กโต
ทำไมลูกชักเมื่อมีไข้สูง?
สาเหตุที่ลูกชักเมื่อมีไข้สูงมาจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ปอดอักเสบ ไข้ออกผื่น หรือการติดเชื้อไวรัสต่าง ๆ ซึ่งจะเจอในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปีค่ะ
วิธีสังเกตอาการลูกชัก
โดยทั่วไปเด็กที่ไม่สบาย มักมีอาการเริ่มจากมีน้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อาเจียน ถ่ายบ่อย มีอาการซึม มีไข้สูง จนนำไปสู่อาการชัก ซึ่งพ่อแม่สามารถสังเกตอาการลูกชักได้ ดังนี้
- จะมีการแข็งเกร็งที่ตัว
- มือเท้ากระตุก
- ตาเหลือก
- กัดฟันแน่น
- น้ำลายฟูมปาก
- ไม่รู้สึกตัว
- บางรายอาจมีอาเจียน หรือถ่ายร่วมด้วย
โดยระยะเวลาที่ชักจะไม่เกิน 15 นาที แต่ถ้านานกว่านั้น บริเวณใบหน้า ริมฝีปาก มือและเท้าของเด็กจะเริ่มเขียวจากการขาดออกซิเจน
ลูกชักจากไข้สูงส่งผลต่อสมองหรือไม่
ลูกชักจากไข้สูง การชักลักษณะนี้ไม่ได้ส่งผลต่อระดับสติปัญญาและพัฒนาการของลูกค่ะ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ชักนานกว่า 15 นาที และมีการชักหลายครั้งใน 24 ชั่วโมง ให้สงสัยว่าลูกอาจจะเป็นโรคลมชัก ซึ่งควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและการรักษาต่อไป
สิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อลูกมีไข้สูง
หากสาเหตุของการชักมาจากไข้สูงแล้ว พ่อแม่สามารถป้องกันเบื้องต้นได้ด้วยการหมั่นวัดอุณหภูมิลูกอยู่เสมอ หากพบว่ามีไข้อุณหภูมิมากกว่า 37.2 องศา ให้ลดไข้ด้วยการ…
- นำผ้าขนหนู ชุบน้ำให้ชุ่มพอประมาณ
- แล้วเช็ดไล่ตั้งแต่ใบหน้า ลำคอ ลงมาที่ตัว แผ่นหลัง แขนและขา
- ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งจนรู้สึกว่าไข้เริ่มลง เวลาเช็ดให้เช็ดผิวแรง ๆ เพื่อเป็นการเปิดรูขุมขนให้กว้างขึ้น ให้เส้นเลือดขยายตัว เพื่อคลายความร้อน
- ทานยาลดไข้ร่วมด้วยทุก 4-6 ชั่วโมง
เมื่อลูกชัก สิ่งที่ต้องทำ
ตั้งสติ
พ่อแม่อย่าตกใจ พยายามตั้งสติให้เร็ว เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือลูกได้อย่างถูกต้อง
จับลูกนอนตะแคง
พ่อแม่ค่อย ๆ จับลูกนอนลง ตะแคงตัว และจับศีรษะให้อยู่ต่ำกว่าลำตัวเล็กน้อย เพื่อป้องกันการสำลัก
คลายเสื้อให้หลวม
เพื่อระบายความร้อน หายใจสะดวก และง่ายต่อการปฐมพยาบาล
ห้ามใช้ของงัดปาก
หรือให้ลูกกัดสิ่งใด ถ้าในปากลูกมีน้ำลายหรือเศษอาหารที่เห็นได้ชัด ควรเช็ดออก สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างเด็ดขาดก็คือ การล้วงหรืองัดปากด้วยวัสดุใด ๆ เพราะอาจทำให้เกิดบาดแผลที่ปาก เหงือก หรืออาจทำให้ฟันหักก็ได้
เช็ดตัวลูกด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง
เมื่อลูกชักจากอาการไข้ตัวร้อน ควรเลี่ยงการเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น เพราะจะทำให้เส้นเลือดที่ผิวหนังหดตัว และไม่เกิดการถ่ายเทความร้อนออกภายนอก ควรเช็ดตัวด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง เช็ดแรง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ไข้ลดได้
รีบนำส่งโรงพยาบาล
ถ้าชักเกิน 10 นาที หรือชักซ้ำ ขณะที่ลูกยังไม่ฟื้นเป็นปกติ ควรรีบนำลูกส่งโรงพยาบาลทันที เพื่อให้แพทย์ประเมินว่าสาเหตุของการชักเกิดจากไข้สูง หรือเกิดจากสาเหตุอื่น เพราะจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
สิ่งที่ไม่ควรทำในระหว่างที่ลูกชักคือการเขย่าตัวให้ตื่น ยิ่งเขย่าจะยิ่งทำให้ลูกมีอาการมากขึ้น ไม่ควรงัดแขนลูกระหว่างที่ชัก อาจทำให้กระดูกแขนหักและข้อหลุดได้ และไม่ควรป้อนยาระหว่างที่ชัก อาจทำให้เสี่ยงต่อการสำลัก เพราะโดยปกติแล้วอาการชักจะหายได้เองภายในระยะเวลา 5 นาที แต่ถ้าชักนานเกิน 10 นาที ลูกไม่รู้สึกตัว หรือมีอาการชักซ้ำ ให้พ่อแม่รีบนำลูกส่งโรงพยาบาลนะคะ