“หมดไฟ” เป็นภาวะอย่างหนึ่งที่ดูเหมือนจะกลายเป็นอาการป่วยชนิดหนึ่งไปแล้ว เมื่อองค์การอนามัยโลก หรือ WHO จัดให้โรคเบิร์นเอาต์ (Burnout) เป็นโรคประเภทหนึ่งที่ต้องรับการรักษาทางการแพทย์ โดยสาเหตุมักจะเกิดจากการสั่งสมความเครียดจากการทำงานมาเป็นระยะเวลานาน
หมดไฟ คืออะไร
โดยรวมมักเกิดจากความเครียดเรื้อรังในเรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ หาทางแก้ไม่ได้ เมื่อสะสมนาน ๆ เข้า ก็จะกลายเป็นมองทุกอย่างในแง่ลบ ซึ่งจะเห็นอาการเหล่านี้ได้ชัดจากการทำงาน หากคุณเกิดหมดไฟในการทำงาน เป็นเรื่องง่ายที่คุณจะลาออก เปลี่ยนที่ทำงาน หรือมองหาสภาพแวดล้อมใหม่
เลี้ยงลูกจนหมดไฟ (Parental Burnout) คืออะไร
คือความรู้สึกท้อแท้หมดแรงกับการเลี้ยงลูก ซึ่งคุณไม่สามารถทิ้งภาระทุกอย่างแล้วหนีหายไปได้ และคนส่วนใหญ่คิดว่ามันเป็นเรื่องปกติของการเป็นพ่อแม่ที่ทุกคนก็ต้องเหนื่อยหนักกันทั้งนั้น แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ตัวพ่อแม่เองก็รู้สึกผิดที่ตัวเองเกิดภาวะนี้ หรือละอายใจที่ตัวเองเหนื่อย จึงทำให้เกิดการซ่อนความรู้สึกของตัวเองเอาไว้ และไม่กล้าพูดคุยขอความช่วยเหลือจากใครจนกระทั่งสะสมเป็นความเครียดและเกิดภาวะหมดไฟในที่สุด
ดังนั้นพ่อแม่ทุกคนควรต้องรู้จักสังเกตตัวเอง คนรอบข้าง และมองหาสัญญาณเตือน เพื่อที่จะขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างให้ช่วยได้ทันเวลา ก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาบานปลายอย่างโรคซึมเศร้า และส่งผลต่อความสัมพันธ์ทำให้ห่างเหินจากลูกไปเรื่อย ๆ หากไม่ได้รับการรักษาก็จะเกิดการเพิกเฉยต่อลูกจนทำให้ลูกไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมเท่าที่ควร นอกจากนั้นในบางรายอาจมีการกระทำพฤติกรรมที่รุนแรงกับลูกได้ ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงของภาวะนี้ แต่ก็ยังมีผลกระทบทางอ้อมด้วย คือ มักส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคู่ชีวิต และบุคคลอื่นภายในครอบครัวด้วยนั่นเองค่ะ
ใครที่เข้าข่ายหมดไฟ
ภาวะนี้ถือเป็นต้นทางของโรคซึมเศร้า หากพ่อแม่หรือคนรอบข้างใส่ใจคอยสังเกตกันและกัน ก็จะสามารถช่วยให้ผู้ที่มีอาการเลี้ยงลูกจนหมดไฟหลุดออกจากสภาวะนี้ได้ค่ะ โดยกลุ่มพ่อแม่ที่มีความเสี่ยงสูง มีดังนี้ค่ะ
พ่อแม่ที่ตีกรอบให้ลูกทุกด้าน
การตีกรอบให้ลูกทุกด้านนอกจากลูกจะเกิดความเครียดแล้ว พ่อแม่เองก็เกิดความเครียดเช่นกัน เมื่อลูกไม่สามารถทำตามที่คาดหวังเอาไว้ได้ ก็จะเกิดความผิดหวังซ้ำ ๆ ต่อตัวเองและตัวลูก
พ่อแม่ที่จัดการกับความเครียดไม่ได้
พ่อแม่บางคนมักเก็บปัญหาไว้คนเดียว ไม่กล้าที่จะเล่าให้ใครฟัง เมื่อปัญหามีมากขึ้นก็ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร เพราะไม่มีใครคอยให้คำแนะนำ หรือไม่ไว้วางใจที่จะปรึกษาใครเลย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจของครอบครัว ปัญหาความขัดแย้งกับคู่ชีวิต หรือแม้แต่ปัญหาที่ตัวเองเหนื่อยไม่อยากเลี้ยงลูก
พ่อแม่ที่ขาดการช่วยเหลือจากคู่ชีวิต
พ่อแม่ที่คู่ชีวิตอีกฝ่ายไม่ช่วยแบ่งเบาภาระ หรือคอยแต่โยนภาระให้อีกฝ่ายหนึ่ง ขัดแย้งกันในแนวทางการเลี้ยงลูก ไม่เป็นทีมเดียวกัน หรือแม้แต่ขาดการช่วยเหลือจากคนรอบข้าง เช่น ปู่ย่า ตายาย เป็นต้น
พ่อแม่ที่ขาดทักษะการเลี้ยงลูก
พ่อแม่ที่ไม่มั่นใจในทักษะการเลี้ยงลูกของตัวเอง ไม่รู้ว่าควรเลี้ยงลูกอย่างไร หรือต้องจัดการกับปัญหาต่าง ๆอย่างไร
พ่อแม่ที่เลี้ยงเด็กพิเศษ
การที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษพ่อแม่ต้องใช้ความทุ่มเทพลังกายเป็นอย่างมาก ซึ่งมากกว่าเด็กปกติทั่วไป และพลังใจที่จะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ทั้งด้านการเงิน การเลี้ยงดู หรือด้านสังคม
พ่อแม่ full time
พ่อหรือแม่ที่เลี้ยงลูกตลอดทั้งวัน จนไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง
สัญญาณเตือนว่าคุณเลี้ยงลูกจนหมดไฟ
กุญแจสำคัญก่อนที่จะหมดไฟ คือ การตระหนักรู้ตัวเอง และตระหนักรู้ถึง สัญญาณเตือน ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะเลี้ยงลูกจนหมดไฟ สัญญาณดังกล่าวมีดังนี้
มีความอดทนน้อยลง
คุณอาจไม่ทันสังเกตว่าสิ่งเล็กๆน้อย ๆ ก็สามารถทำให้คุณหงุดหงิดได้ คุณกลายเป็นคนมีความอดทนต่ำ หรือแทบไม่มีความอดทนเลยกับงาน ลูก หรือคู่ชีวิต จนอาจเผลอตะคอกด้วยอารมณ์ชั่ววูบ
มีอาการเบลอ
มีปัญหาด้านความจำ ทักษะการตัดสินใจลดลง และไม่สามารถโฟกัสกับสิ่งที่ต้องการได้
อารมณ์อ่อนไหว และความรู้สึกไวกับสิ่งรอบตัวมากขึ้น
มีอารมณ์อ่อนไหว อยู่ ๆ ก็อยากร้องไห้ หรือร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ และมีความรู้สึกไวต่อสิ่งรอบตัว อาจรวมถึงการไวต่อแสงจ้า เสียงดัง สถานที่แออัด และแม้แต่การสบตาในสถานการณ์ทางสังคม
นอนไม่ค่อยหลับ
เป็นผลมาจากความเครียดที่สะสม ส่งผลต่อรูปแบบการนอนที่ผิดปกติ คือ ตื่นเช้า นอนดึก ตื่นกลางดึก พลิกตัวไปมา จึงทำให้ไม่ได้พักผ่อนจริง ๆ
ปวดหัว
มีอาการปวดหัวเพิ่มขึ้น หรือตื่นขึ้นมาพร้อมกับอาการปวดหัวที่ไม่หายไปตลอดทั้งวัน
สับสน หรือหลงลืมง่าย
สิ่งเหล่านี้อาจเกิดจากภาวะซึมเศร้า การอดนอน และโภชนาการที่ไม่ดี
ปวดท้อง
ในบางคน ความเครียดทำให้การย่อยอาหารช้าลง ทำให้ท้องอืด ปวดท้อง และท้องผูก หรือมีอาการท้องร่วง รู้สึกอยากเดินไปเข้าห้องน้ำบ่อยๆ บางคนสูญเสียความกระหายอยาก ไม่รู้สึกอยากทานอะไร ซึ่งความเครียดที่สะสมนั้นอาจทำให้ระบบย่อยอาหารแย่ลง จนเกิดแผลในกระเพาะอาหารและมีอาการลำไส้แปรปรวน
ความวิตกังวล
ความวิตกกังวลเรื้อรังอาจทำให้ร่างกายทรุดโทรม นำไปสู่ความคิดที่ไม่มีเหตุผล และความกลัวที่รบกวนชีวิตประจำวันของคุณ
ความรู้สึกโดดเดี่ยว
รู้สึกว่าตัวเองอยู่คนเดียว แม้จะมีผู้คนอยู่รายล้อมก็ตาม การถูกแยกจากผู้อื่นไม่ว่าจะทางสังคมหรือทางอารมณ์ก็อาจทำให้คุณรู้สึกกังวล
ความรู้สึกท่วมท้น
รู้สึกว่าตัวเองเต็มไปด้วยการถูกคาดหวัง ความรับผิดชอบ และไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง ความรู้สึกเหล่านี้หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของคุณได้
ทักษะการสื่อสารกับผู้อื่นลดลง
ขาดการฟังอย่างกระตือรือร้น หรือการตอบสนองที่รวดเร็วเกินไป อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง ความเข้าใจผิดเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกับคู่ชีวิตของคุณ
พฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ
ตรวจสอบตัวคุณเองหรือคนใกล้ชิดว่ายังปลอดภัยหรือไม่ อาจลองสังเกตว่าสร้างความเครียดให้กับตัวเองมากขึ้นด้วยการซักผ้า หรือทำความสะอาดสิ่งต่างๆมากเกินไปหรือเปล่า เพียงเพราะรู้สึกว่าตัวเองทำงานได้ไม่ดีพอ
การใช้สารเสพติด หรือแอลกอฮอล์
บางคนเมื่อลูกหลับ มีเวลาว่างก็จะดื่มไวน์เป็นประจำเพื่อเป็นการผ่อนคลายซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหา แต่มักนำไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรงขึ้นไปอีกเสียมากกว่า
เลี้ยงลูกจนหมดไฟ จัดการอย่างไรดี
ภาวะดังกล่าวนี้สามารถส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจของคุณ และอาจส่งผลโดยตรงต่อความสัมพันธ์กับคู่รัก เพื่อน ครอบครัว และที่สำคัญคือลูก การหมดไฟจะแสดงออกทางอารมณ์ (รู้สึกเหมือนคุณรับมือไม่ได้) การรับรู้ (ไม่สามารถคิดอย่างถูกต้อง) และทางร่างกาย (ความเหนื่อยล้า) นอกจากนั้น ยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาความรุนแรง ละเลยลูก หรือแม้กระทั่งปัญหาการล่วงละเมิดเด็กขึ้นในครอบครัว เพื่อไม่ให้ปัญหาบานปลายใหญ่โตไป ควรจัดการภาวะดังกล่าว ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ค่ะ
ยอมรับข้อผิดพลาด
โลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ เราทุกคนสามารถผิดพลาดได้ และต้องรู้จักให้อภัยตัวเอง และลูกด้วย เพราะทุกคนล้วนเคยผิดพลาดกันทั้งนั้น อาจตั้งเป้าหมายแค่เป็นพ่อแม่ที่ดีพอ (Good Enough Parents) ไม่ใช่พ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ (Perfect Parents)
ขอความช่วยเหลือ
อย่าอายที่จะขอความช่วยเหลือ ถ้าไม่ไหวให้ขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัวหรือคู่ชีวิต เพราะการเลี้ยงลูกไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการดูแลร่วมกัน
แบ่งเวลาให้ตัวเอง
อย่างน้อยควรมีวันของตัวเองสักวัน ให้ตัวเองได้พักผ่อน เช่น เดินห้าง ทำผม ทำเล็บ ทำกิจกรรมกับเพื่อน เข้าร่วมกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ
ดูแลสุขภาพร่างกาย
พยายามพักผ่อนนอนหลับให้เยอะ แม้ว่าฟังดูเหมือนจะทำได้ยากแต่ก็ต้องจัดสรรเวลา การมีตารางเวลาที่แน่ชัดช่วยทำให้ทุกอย่างจัดการได้ง่ายขึ้น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ร่างกายสามารถอดทนต่อความเหนื่อยได้เพิ่มขึ้น และพยายามค่อยๆลดของหวานเพราะน้ำตาลทำให้ระดับความเครียดเพิ่มสูงขึ้นได้
ดูแลสุขภาพจิต
การดูแลสุขภาพจิตเป็นสิ่งสำคัญ ควรหาเวลา หรือกิจกรรมที่ทำให้สามารถอยู่กับตัวเองได้อย่างแท้จริง เช่น การเล่นโยคะที่ต้องใช้สมาธิอยู่กับลมหายใจของตัวเอง การนั่งสมาธิ การทำงานฝีมือ การทำงานศิลปะเพื่อภายใน หรือ Meditation อื่นๆ เป็นต้น
ปรึกษานักจิตวิทยา
หากสุดหนทางแล้วจริง ๆ สามารถขอความช่วยเหลือ หรือเข้าไปพูดคุยกับนักจิตวิทยา เพราะจะเป็นคนที่พร้อมจะรับฟังคุณอย่างตั้งใจเพื่อช่วยหาวิธีแก้ไขปัญหา หากพบจิตแพทย์ทันทีนั้น การพูดคุยอาจจะทำได้น้อยกว่าด้วยข้อจำกัดของเวลา
พ่อแม่ในยุคปัจจุบันที่ข้อมูลการเลี้ยงลูกหาได้ง่ายมากและหลากหลายช่องทาง จนบางครั้งอาจทำให้เผลอนำสิ่งเหล่านั้นมาเป็นตัวชี้วัดคุณภาพการเลี้ยงลูกของตัวเอง จนเกิดความกดดัน และความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว ภาวะเลี้ยงลูกจนหมดไฟจะไม่ส่งผลกระทบที่รุนแรง หากพ่อแม่ตระหนักรู้ตัวเอง โดยอาจสังเกตอาการจากสัญญาณเตือนข้างต้น แล้วให้เวลาตัวเองได้หยุดพักจากภาระหน้าที่ตรงหน้าบ้าง เช่น ในหนึ่งเดือนอาจจะลาพักสัก 1-2 วัน ทำกิจกรรมที่ทำให้ได้อยู่กับตัวเอง กิจกรรมที่สร้างการรับรู้จิตใจภายในของตัวเอง หรือไปพักผ่อนกับกลุ่มเพื่อนที่สามารถพูดคุยและเขาพร้อมจะรับฟัง จึงค่อยกลับมาเลี้ยงลูกต่อก็เป็นเรื่องที่ทำได้ เมื่อกลับมาพ่อแม่จะมีความรู้สึกสดใหม่อีกครั้งเมื่อเจอหน้าลูก ต่างฝ่ายต่างคิดถึงและห่วงหากัน การดึงความรู้สึกนี้กลับมาใหม่จะทำให้พ่อแม่มีพลังในการเลี้ยงลูกต่อไปค่ะ