“ประจำเดือน” เป็นเรื่องที่ผู้หญิงทุกคนต้องเจอเพราะมันคือการทำงานที่ปกติของฮอร์โมนในร่างกาย ที่บ่งบอกได้ว่าผู้หญิงเราพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์แล้ว อาการปวดท้องน้อยนั้นพอเข้าใจ แต่อาการ “ปวดหัวก่อนมีประจำเดือน” นี่สิ เกิดจากอะไร? รักษาได้ไหม? และที่สำคัญไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกทุกเดือนๆ จะป้องกันได้ไหม ไปดูกันเลยค่ะ
สาเหตุ ปวดหัวก่อนมีประจำเดือน?
สำหรับอาการปวดหัวในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือนนั้น จะมีอยู่ 2 ช่วง โดยมีสาเหตุดังนี้
อาการปวดหัวก่อนมีประจำเดือน
อาการปวดหัวก่อนมีประจำเดือนนั้นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้น 1-3 วันก่อนประจำเดือนจะมา และพบว่ามีผู้หญิงเป็นจำนวนมากที่มีอาการนี้ สาเหตุมักเกิดการการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย โดยที่ระดับเอสโตรเจนมีการลดลงอย่างรวดเร็ว และจะมีผลมากต่อผู้ที่สมองมีความไวต่อสิ่งที่มากระตุ้นมากกว่าปกติ (มาจากพันธุกรรม) นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคไมเกรนอยู่แล้วก็จะมีอาการปวดหัวได้ง่ายกว่าคนอื่น
อาการปวดหัวก่อนหมดประจำเดือน
ช่วงนี้จะเป็นอีกช่วงที่จะมีอาการปวดหัวหรือปวดไมเกรนเพิ่มขึ้นได้ สาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศที่ขึ้นๆ ลงๆ ไม่คงที่ และจะมีอาการวูบวาบได้ในเวลากลางคืน ส่งผลให้นอนหลับพักผ่อนได้ไม่เต็มที่ กระตุ้นให้เกิดอาการปวดไมเกรนได้
อาการ ปวดหัวก่อนมีประจำเดือน
โดยมากมักจะมีอาการปวดหัวก่อนประจำเดือนจะมา 2 วันโดยประมาณ และในวันที่ 3 อาการปวดหัวจะเพิ่มมากขึ้น และกินระยะเวลานานกว่าการปวดไมเกรนปกติ โดยจะมีอาการที่พบ ดังนี้
- ปวดหัว
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- ไม่ความไวต่อแสง, เสียง และกลิ่นมากขึ้น
- ในบางรายอาจมีการตอบสนองต่อยารักษาไมเกรนได้ไม่ดีเท่าที่ควร หรืออาจมีโอกาสค่อนข้างมากในการกลับมาปวดหัวซ้ำอีก
การรักษาอาการปวดหัวก่อนมีประจำเดือน
สำหรับการรักษาจะแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะ ได้แก่
รักษาในช่วงที่มีอาการปวดหัวแบบเฉียบพลัน
การรักษาจะเหมือนกับการรักษาไมเกรนทั่วไป ด้วยการใช้ยา ได้แก่ ยาทริปแทน หรือ ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เป็นต้น แต่อาจต้องมีการเพิ่มขนาดยาที่มากกว่าปกติ ในบางรายอาจต้องทานยาหลายตัวควบคู่กัน
รักษาเพื่อป้องกัน
ข้อนี้จะเหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวดแบบเฉียบพลัน โดยสามารถให้ยาป้องกันได้ใน 2 ลักษณะ คือ
- ให้ยาระยะสั้นก่อนช่วงที่จะมีประจำเดือน
- ให้ยาในระยะยาว สามารถทานติดต่อกันได้ทุกวัน
การป้องกันอาการปวดหัวก่อนมีประจำเดือน
การป้องกันอาการปวดหัวก่อนมีประจำเดือนในหัวข้อนี้ จะเน้นที่การดูแลตัวเองเป็นสำคัญโดยยังไม่ต้องพึ่งยา สามารถทำได้ ดังนี้
ลดอาหารที่มีไขมันสูง
การควบคุมอาหาร โดยเฉพาะลดหรืองดอาหารที่มีไขมันสูงก็จะสามารถช่วยลดอาการปวดหัวก่อนมีประจำเดือนได้ เนื่องจากไขมันที่มีอยู่ในอาหารจะส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย
ลดของหวาน และคาเฟอีน
เพราะในของหวานประกอบไปด้วยน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่สูงมาก ที่สำคัญ ควรเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
ทานผักและผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ
เพราะในผักและผลไม้บางชนิดมีสรรพคุณที่ลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ และช่วยปรับสมดุลของสารภายในสมอง ช่วยบรรเทาอาการปวดได้
ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายจะส่งผลต่อระดับสารเคมีในร่างกาย ทำให้ร่างกายได้ปล่อยสารเคมีออกมา สารนั้นเรารู้จักกันดีในชื่อ “สารแห่งความสุข” หรือ “Endorphins” ช่วยลดอาการซึมเศร้าอีกด้วย
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนหลับให้เพียงพอหรือจะให้สมบูรณ์ควรนอนให้ได้ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน หรือถ้าในกรณีที่ระหว่างคืนสามารถนอนหลับได้สนิท และหลับได้ยาว บางครั้งอาจไม่ต้องถึง 8 ชั่วโมงก็ได้ค่ะ เพียงแค่ 6 ชั่วโมงก็พอแล้ว
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับช่วงที่มีประจำเดือน
ในช่วงที่มีประเดือนผู้หญิงเรา มีความเสี่ยงต่อการปวดไมเกรนได้มากกว่าช่วงเวลาปกติถึง 2 เท่า ซึ่งสิ่งที่ต้องพึงระวัง คือ การใช้ยาคุมกำเนิดหรือยาที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยเฉพาะกับผู้ที่มีอาการปวดไมเกรนชนิดเตือนมาก่อน
เนื่องจากการใช้ยาคุมกำเนิดจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดในสมองตีบหรืออุดตันได้สำหรับผู้ที่มีอาการปวดหัวประเภทนี้ ซึ่งในบางรายถ้ามีอาการป่วยไมเกรนแบบเตือนหากจะใช้ยาอะไร ควรเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ก่อนนะคะ
การปวดหัวก่อนมีประจำเดือนสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงส่วนใหญ่ แต่สิ่งสำคัญคือ การสังเกตตัวเองหากรู้สึกว่าตัวเองเริ่มมีอาการปวดหัวในลักษณะนี้ทุกเดือน และสังเกตร่วมกับสีประจำเดือน หากรู้สึกว่าผิดปกติไปจากเดิม ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องนะคะ