• HOME
  • BLOG
  • โรค
  • ลูกตัวเหลือง เมื่อแรกคลอด สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

ลูกตัวเหลือง เมื่อแรกคลอด สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

ลูกตัวเหลือง เมื่อแรกคลอด สาเหตุ อาการ วิธีรักษา
โรค

Last Updated on 2021 12 11

ลูกมีอาการตัวเหลือง โดยทั่วไปถือเป็นภาวะที่ปกติ และมักไม่เป็นอันตรายสำหรับทารกแรกเกิดค่ะ จากสถิติจะพบทารกที่มีอาการตัวเหลืองประมาณ 6 ใน 10 คน  หรือกรณีทารกคลอดก่อนกำหนด 37 สัปดาห์ พบว่ามีภาวะนี้ 8 ใน 10 คน แต่จะพบทารกเพียง 1 ใน 20 คนเท่านั้นที่มีระดับบิลิรูบินในเลือดสูงจนต้องรับการรักษา  แต่คุณพ่อคุณแม่คงกังวลไม่น้อยหากหลังจากลูกคลอด 2-3 วัน คุณหมอขอให้ลูกอยู่โรงพยาบาลต่อเพราะมีอาการตัวเหลือง ดังนั้นจึงเป็นการดีหากคุณพ่อคุณแม่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะตัวเหลืองนี้ เพื่อลดความกังวลใจ และจะได้ทราบถึงวิธีปฏิบัติตัว รวมไปถึงการดูแลลูกที่ถูกต้องขณะรักษาอาการตัวเหลืองค่ะ

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด คืออะไร?

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด (Neonatal Jaundice) คือ อาการที่เกิดจากการมีสารสีเหลือง ทางการแพทย์ เรียกว่า “บิลิรูบิน” ไปเกาะตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทำให้สีผิวหรือสีตาขาวของทารกมีสีเหลือง ประกอบกับตับของเด็กแรกเกิดยังเจริญเติบโตไม่มากพอ จึงไม่สามารถที่จะกำจัดสารบิลิรูบินและขับสารดังกล่าวออกทางลำไส้ใหญ่ได้

โดยมากภาวะนี้จะหายไปเองเมื่อตับของทารกพัฒนาขึ้น หรือประมาณ 2-3 สัปดาห์ แต่ทารกบางรายอาจมีภาวะตัวเหลืองมากกว่าปกติ (Pathologic Jaundice) ซึ่งระดับบิลิรูบินที่สูงมากอาจทำให้เกิดความผิดปกติของสมองอย่างถาวร หรือหากมีภาวะตัวเหลืองนานกว่า 3 สัปดาห์ อาจเป็นอาการบ่งบอกถึงโรคบางชนิดได้ค่ะ

สาเหตุ ภาวะตัวเหลืองในทารกเกิด

สาเหตุของภาวะตัวเหลืองในทารก สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี ใหญ่ ๆ ดังนี้ค่ะ

ภาวะตัวเหลือง แบบปกติ

สำหรับภาวะตัวเหลือง แบบปกตินี้ จะมีสาเหตุ ดังนี้

เม็ดเลือดแดงแตกตัวมากเกินไป

วงจรเม็ดเลือดแดงของทารกมีการทำลายและสร้างใหม่ตามธรรมชาติได้รวดเร็วกว่าเม็ดเลือดแดงของผู้ใหญ่ ดังนั้น การแตกตัวของเม็ดเลือดแดงจึงทำให้เกิดบิลิรูบินหรือสารสีเหลืองจำนวนมากในทารกกว่าคนทั่วไป

ตับยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์

ปกติตับจะทำหน้าที่ในการกำจัดสารเหล่านี้ออกจากร่างกาย แต่ตับของทารกยังทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ จึงขับสารสีเหลืองออกจากร่างกายได้ไม่ดี

ทารกได้รับนมไม่เพียงพอ

ทารกได้รับนมไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นทั้งนมแม่หรือนมผง โดยเฉพาะในช่วงแรกคลอด อาจเป็นเพราะท่าให้นมไม่เหมาะสม มีพังผืดใต้ลิ้นทำให้ดูดนมได้ลำบาก หรือเพราะน้ำนมของแม่ยังไหลได้ไม่ดี

ภาวะตัวเหลือง มากกว่าปกติ

สาเหตุมาจาก

  • ทารกที่คลอดก่อนกำหนด 37 สัปดาห์
  • ทารกที่กรุ๊ปเลือดไม่เข้ากับกรุ๊ปเลือดของแม่
  • ภาวะความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับตับ โรคท่อน้ำดีตีบทำให้ทารกตัวเหลืองร่วมกับมีอุจจาระสีซีดเหมือนสีชอร์ค
  • การติดเชื้อ
  • การขาดเอนไซม์ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกตัวง่าย เมื่อแตกตัวก็กลายเป็นบิลิรูบินจำนวนมากจนไม่สามารถกำจัดได้
  • ความผิดปกติในเซลล์เม็ดเลือดแดงของทารกโดยเฉพาะทารกที่คลอดจากมารดาที่เป็นโรคเบาหวาน

วิธีสังเกตอาการตัวเหลือง

สัญญาณแรกของอาการตัวเหลืองในทารก คือทารกจะมีผิวหนัง และตาขาวเป็นสีเหลือง ตัวเหลืองอาจเริ่มภายใน 2 ถึง 4 วันหลังคลอด และอาจเริ่มที่ใบหน้าก่อนจึงค่อย ๆ ลามลงไปทั่วร่างกาย โดยปกติระดับบิลิรูบินมักสูงสุดระหว่าง 3 ถึง 7 วันหลังคลอด หากลองใช้นิ้วกดเบา ๆ บนผิวของทารก โดยปกติจะเป็นสีขาว แต่หากผิวหนังบริเวณที่กดกลายเป็นสีเหลือง อาจเป็นสัญญาณของอาการตัวเหลืองค่ะ

ภาวะตัวเหลืองแบบไหนที่น่ากังวล

หากทารกมีอาการตัวเหลืองผิดปกติ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยทั่วไปจะพบน้อย กว่า 1% คือ มีระดับสารสีเหลืองสูงกว่าปกติ หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นลูกมีอาการ ดังต่อไปนี้ต้องเฝ้าระวัง

  • เหลืองจัด คือเหลืองเข้ม ฝ่ามือฝ่าเท้าเหลืองชัดเจน
  • เหลืองเร็ว คือเหลืองให้เห็นภายในอายุ 1-2 วันแรก
  • เหลืองนาน แม้อายุจะเกิน 7 วันแล้ว แต่ยังมีอาการเหลืองอยู่
  • อุจจาระมีสีซีด ปัสสาวะมีสีเข้มกว่าปกติ
  • เหลืองร่วมกับอาการเจ็บป่วยอย่างอื่น เช่น มีใช้ ซึม อาเจียน ถ่ายเหลว

หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีอาการดังกล่าว ควรรีบพาลูกไปพบกุมารแพทย์ เพราะสารสีเหลือง ที่มีมากเกินไป อาจทำให้เกิดความผิดปกติทางสมอง และอาจถึงขั้นปัญญาอ่อน หูหนวก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีค่ะ

ภาวะตัวเหลือง ป้องกันได้ไหม

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดไม่มีวิธีป้องกันได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สามารถช่วยไม่ให้มีอาการที่รุนแรงขึ้นะได้ค่

เด็กนมแม่

ตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกได้รับสารอาหารที่เพียงพอผ่านเต้านม การให้ลูกเข้าเต้า 8 ถึง 12 ครั้งต่อวันในช่วง 2-3 วันแรกจะช่วยให้มั่นใจว่าลูกของคุณแม่จะไม่ขาดน้ำ เพราะสามารถช่วยขับบิลิรูบินออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น

เด็กนมผง

หากทารกทานนมผง ควรให้นม 1 ถึง 2 ออนซ์ทุก 2 ถึง 3 ชั่วโมงในสัปดาห์แรก ทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือน้ำหนักตัวน้อยอาจให้ในปริมาณที่น้อยกว่านี้ได้ค่ะ

ควรแจ้งแพทย์หรือพยาบาลให้ทราบ หากคุณแม่กังวลว่าลูกทานนมแม่ หรือนมผงได้น้อยเกินไปหรือมากเกินไป หรือหากลูกไม่ยอมตื่นเมื่อถึงเวลามื้อนมที่ต้องให้อย่างน้อย 8 ครั้งใน 24 ชั่วโมง

วิธีการรักษาภาวะตัวเหลือง

หากพบว่าทารกที่มีอาการตัวเหลือง แพทย์จะขอให้อยู่โรงพยาบาลต่อเพื่อรับการรักษาทุกราย และจะต้องได้รับการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับของสารบิลิรูบินเป็นระยะ ๆ แนวทางการรักษา มีดังนี้ค่ะ

กรณีสารสีเหลืองไม่สูงมาก

ทารกสามารถขับสารสีเหลืองออกมาได้เอง โดยไม่ต้องรักษา

การส่องไฟ

เป็นวิธีเปลี่ยนบิลิรูบินที่ผิวหนังของทารกให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถขับออกทางน้ำดีหรือปัสสาวะได้ง่ายขึ้น เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด และมีประสิทธิภาพในการรักษาซึ่งสามารถลดอัตราการเปลี่ยนถ่ายเลือดที่มีผลข้างเคียงและอัตราความเสี่ยงที่สูงกว่า

การเปลี่ยนถ่ายเลือด

หากมีการส่องไฟแล้วสารสีเหลืองยังไม่ลด กุมารแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจว่า ควรใช้วิธีต่อไป คือการเปลี่ยนถ่ายเลือด เป็นการนําเอาเลือดที่มีสารเหลืองออกจากตัวทารก แล้วให้เลือดใหม่แทน เพราะหากทารกไม่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายเลือด อาจมีความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้

เมื่อทารกคลอดออกมา หากสุขภาพของคุณแม่และลูกแข็งแรงดี คุณหมอก็จะให้กลับบ้านได้ภายใน 3-4 วัน ซึ่งก่อนกลับบ้านคุณหมอก็จะทำการตรวจสุขภาพทารกอย่างละเอียด แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อกลับบ้านแล้วคุณพ่อคุณแม่ก็อย่าลืมที่จะสังเกตสีผิวของลูกน้อยด้วยนะคะ โดยใช้นิ้วมือกดลงบนผิวของลูก อาจจะนั่งในห้องที่มีแสงส่องสว่างจะสามารถมองได้ชัด หากผิวบริเวณที่กดเป็นสีเหลืองมากกว่าสีขาว ควรรีบนำลูกกลับมาพบคุณหมอในทันทีค่ะ


Mommy Gift

158,210 views

แม่น้องสปิน คุณแม่ฟูลไทม์ ที่เชื่อเรื่องการเลี้ยงลูกแบบธรรมชาติอย่างสมดุลทั้งภายใน-ภายนอก และเชื่อว่าลูกคือครู จึงทําให้สนใจความเป็นไปของผู้คน จิตวิทยาความสัมพันธ์ในครอบครัว และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรม(ะ)ชาติ ชื่นชอบการทำอาหาร งาน Handmade อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ Facebook : Gift Bfive IG : spin_ramil

Profile

Pickup posts

Related posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save