ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นภาวะที่มักเกิดขึ้นและพบบ่อยในช่วงคุณแม่ตั้งครรภ์แม้ว่า เบาหวานเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่ในคุณแม่บางรายครอบครัวไม่มีประวัติการเกิดโรคเบาหวานก็สามารถพบโรคนี้ได้ ใครที่กำลังสงสัยว่าภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คืออะไร เกิดได้อย่างไร และทำไมจึงอันตรายต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ วันนี้เรามีคำตอบดี ๆ มาฝากทุกท่าน
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ คืออะไร
ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) คือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ได้เพียงพอในการนำน้ำตาลในเลือดที่ได้จากการรับประทานอาหารส่งต่อไปยังอวัยวะต่าง ๆเพื่อสร้างเป็นพลังงาน ทำให้ตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์สามารถตรวจพบได้ในทุกระยะของการตั้งครรภ์ ส่วนมากจะตรวจพบในช่วง 24-28 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์
สาเหตุ การเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
อย่างที่กล่าวไปว่าภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์เกิดจากที่ร่างกายของคุณแม่มีฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอต่อการนำน้ำตาลที่พบในกระแสเลือดส่งไปยังอวัยวะต่างๆ คุณแม่รู้หรือไม่ว่าทำไมร่างกายของเราจึงเกิดภาวะบกพร่องอินซูลินหรือมีฮอร์โมนชนิดนี้ไม่เพียงพอ สาเหตุมาจากอะไรบ้างไปดูกัน
พันธุกรรม หรือ ปัญหาสุขภาพ
คุณแม่ท่านใดที่เคยมีประวัติการเกิดโรคเบาหวานหรือมีเครือญาติคนใกล้ชนิด รวมถึงประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
มีประวัติคลอดทารกน้ำหนักมาก
คุณแม่ที่เคยคลอดทารกมีน้ำหนักเกิน 4 กิโลกรัมมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้
น้ำหนักเกินมาตรฐาน
โดยทั่วไปผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐานซึ่งมีดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่าหรือเท่ากับ 30 ขึ้นไปมีความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวาน เช่นเดียวกับคุณแม่ที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์หากมีค่าดัชนีมวลกายเกินเกณฑ์ย่อมมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
ชาติพันธุ์
เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์เพราะมีรายงานการศึกษาพบว่าภาวะนี้มักพบในชาวเอเชีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา และอเมริกันอินเดียนมากกว่าชาติพันธุ์อื่น ๆ
อาการ เบาหวานขณะตั้งครรภ์
ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ทุกคนในขณะอุ้มท้อง คุณหลายท่านอาจจะสงสัยว่าแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีความเสี่ยง หรือมีวิธีสังเกตุอาการอย่างไรว่าคุณแม่มีความเสี่ยง ดังนั้นมาเช็คอาการเบื้องต้นกันก่อนว่าคุณแม่มีอาการเหล่านี้หรือไม่
กระหายน้ำ
อาการกระหายน้ำมักเกิดขึ้นแม้ว่าคุณแม่ดื่มน้ำในปริมาณมาก และบ่อยแต่ร่างกายยังรู้สึกหิวหรือกระหายน้ำตลอดเวลา
ปัสสาวะบ่อย
ให้สังเกตตัวเองว่าปกติโดยเฉลี่ยแล้วเราปัสสาวะกี่รอบต่อวัน หากปัสสาวะบ่อยผิดปกติให้สงสัยได้เลยว่าอาจมีความเสี่ยง
ปากแห้ง
แม้ไม่ใช่ฤดูหนาวหรือไม่ใช่อากาศเย็น แต่ก็ยังมีอาการปากแห้งตลอด
เหนื่อย อ่อนเพลีย
คุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มักเกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายกว่าปกติ ขยับตัวนิดหน่อยก็รู้สึกเหนื่อย
อันตรายจากภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์เป็นภาวะที่คุณแม่หรือคนใกล้ตัวคุณแม่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะการเกิดภาวะนี้ขณะตั้งครรภ์ส่งผลอันตรายทั้งต่อตัวแม่และทารกน้อยและอาจนำไปสู่การสูญเสียในอนาคต ดังนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์อันตรายต่อคุณแม่
- มีโอกาสทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด
- เสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ
- มักพบอาการติดเชื้อง่ายโดยเฉพาะบริเวณกระเพาะปัสสาวะ
- มีโอกาสเกิดการฉีกขาดของช่องคลอด หรือคลอดยากเนื่องจากทารกมีขนาดตัวใหญ่เกิน
- เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเสื่อมของตา ไต ปลายประสาท และระบบหลอดเลือด
ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์อันตรายต่อทารก
- เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแท้งหรือคลอดก่อนกำหนด และเป็นอุปสรรคต่อการคลอดเนื่องจากทารกมีขนาดตัวใหญ่กว่าปกติ
- มีปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจ ไม่สามารถหายใจได้เอง และอาจมีพัฒนาการช้ากว่าปกติ
- ทารกอาจเสียชีวิตขณะตั้งครรภ์มักเกิดเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 36 สัปดาห์ขึ้นไป และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหลังคลอด
- ภาวะน้ำเหลืองหลังคลอดมากกว่าปกติ
คำแนะนำสำหรับคุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
คุณแม่ท่านไหนที่สังเกตุอาการข้างต้นและมีความเสี่ยงหรือได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้วว่ามีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรปฏิบัติตน ดังนี้
- ดูแลสุขภาพตัวเองอย่างดีและเข้ารับการักษาติดตามอาการจากแพทย์สม่ำเสมอ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
- ระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหาร ควรเน้นทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลหรือไขมันสูง
- ออกกำลังกายในท่าที่เหมาะสมควบคู่ไปด้วย อาทิ การเล่นโยคะ เป็นต้น
ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ แม้คุณแม่ไม่มีความเสี่ยงหรือประวัตการเกิดภาวะดังกล่าว แต่สามารถดูแลสุขภาพครรภ์ให้ดีเพื่อป้องกันการเกิดภาวะเบาหวานได้ รักษาสมดุลการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายให้ปกติเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด ควรมีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองเป็นประจำ เพื่อตรวจสอบว่าเรามีความเสี่ยงหรือไม่ ทั้งนี้การรับประทานอาหารและการออกกำลังเป็นอีกหนทางในการป้องกันการเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้