• HOME
  • BLOG
  • โรค
  • โรคหน้าร้อนในเด็ก ภัยเงียบที่ต้องระวัง

โรคหน้าร้อนในเด็ก ภัยเงียบที่ต้องระวัง

โรคหน้าร้อนในเด็ก ภัยเงียบที่ต้องระวัง
โรค

ฤดูร้อนสำหรับเด็กๆ จัดว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสนุกสนานที่จะได้พักผ่อนอยู่กับบ้าน หรือเที่ยวเล่น และทำกิจกรรมต่าง ๆ กับครอบครัวได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องคำนึงถึงการเรียนแต่อย่างใด ดังนั้นเด็กหลายคนจึงใช้ช่วงเวลาเหล่านี้กันอย่าง ‘สุดเหวี่ยง‘ แต่ความสนุกที่ไร้ขีดจำกัดมักตามมาด้วยความทุกข์ที่แสนสาหัสด้วยเช่นกัน หากไม่รู้จักระมัดระวัง และป้องกัน ฉันใดก็ฉันนั้น หากอากาศที่ร้อนมากเกินไปก็สามารถทำให้เกิดโรคหน้าร้อนในเด็กได้เช่นกัน บางโรคอาจไม่แสดงอาการรุนแรงในขั้นต้น แต่หากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที อาจทำให้สายเกินแก้ได้

โรคหน้าร้อนในเด็กมีอะไรบ้าง

โรคภัยไข้เจ็บที่มากับฤดูร้อน  ภัยเงียบที่ผู้ใหญ่ต้องระมัดระวัง ไม่ให้เกิดขึ้นกับเด็กๆ ได้แก่

1.โรคอุจจาระร่วง และอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)

โรคนี้ก็นับว่าเป็นโรคฮิตอีกโรคหนึ่งที่มักเกิดขึ้นได้ทั้งเด็กเล็กและเด็กโต

สาเหตุโรคอุจจาระร่วง และอาหารเป็นพิษ

เกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส และแบคทีเรียบางชนิด หรือหลายชนิดปะปนกัน ซึ่งในเด็กเล็กมักพบว่ามีอาการของโรคอุจจาระร่วงมากกว่า เด็กโต
ในขณะที่เด็กโตจะมีการติดเชื้อจากการรับประทาน อาหารไม่สะอาด มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ

อาการโรคอุจจาระร่วง และอาหารเป็นพิษ

มีอาการปวดท้อง ปวดเกร็งในช่องท้อง อาเจียน ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ และมีไข้ต่ำ ๆ ร่วมด้วย
ในบางรายอาจถ่ายเป็นมูกเลือด (มีอาการของโรคบบิดร่วมด้วย) ซึ่งถือว่าเป็นอาการที่รุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน แพทย์จะให้ยาฆ่าเชื้อ อาการต่างๆ ก็จะค่อยๆ ทุเลาลงในที่สุด

วิธีป้องกันและดูแลอาการเบื้องต้น

ทั้งนี้ หากมีอาการไม่มาก คุณพ่อคุณแม่อาจให้เด็ก ๆ พักรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้ โดยให้รับประทานน้ำตาลเกลือแร่ เพื่อลดอาการอ่อนเพลียจากการสูญเสียน้ำในระหว่างขับถ่าย
สำหรับเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่ควรงดให้เด็กดื่มนมจนกว่าอาการถ่ายอุจจาระเหลวจะหายขาด โดยระหว่างนี้ให้เด็กๆ ดื่มน้ำตาลเกลือแร่เพื่อบรรเทาความอ่อนเพลียไปก่อน เมื่ออาการดีขึ้นจึงค่อยให้กลับมาดื่มนมได้ตามปกติ
ข้อสำคัญคือ การดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยของเด็ก ๆ ควรล้างมือทุกครั้งทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร และการขับถ่าย เพื่อป้องกันการสัมผัสเชื้อโรค และนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย จากการรับประทานอาหาร นั่นเอง

2.โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heat Stroke)

โรคลมแดดนับเป็นอีกหนึ่งภัยเงียบที่จะมารู้ตัวหรือมีอาการก็อาจสายเกินแก้แล้ว

สาเหตุโรคลมแดด

สาเหตุเกิดจากการที่ร่างกายได้สัมผัสอุณภูมิภายนอกที่ร้อนจัด ทำให้มีอาการไข้สูงตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่างกายระบายความร้อนไม่ทัน เนื่องจากการสูญเสียน้ำไปกับเหงื่อเป็นจำนวนมาก

อาการโรคลมแดด

ผู้ป่วยจะมีอาการตัวร้อนจัด ผิวหนังแดง เซื่องซึม เวียนหัว หน้ามืด คลื่นไส้ อาจชัก หมดสติ และถึงขั้นเสียชีวิตได้ เนื่องจากเซลล์ต่าง ๆ ของอวัยวะในร่างกายทำงานผิดปกติ

วิธีป้องกันและดูแลอาการเบื้องต้น

วิธีป้องกันคือ ให้เด็กอยู่แต่ในที่ร่ม ขณะที่มีแดดจัด ให้ดื่มน้ำมาก ๆ ป้องกันการอ่อนเพลียเนื่องจากการสูญเสียเหงื่อ และให้สวมเสื้อผ้าบางๆ ระบายเหงื่อได้ดี เป็นต้น

3.โรคผดร้อน (Heat rash)

สาเหตุโรคผดร้อน

เกิดจากการที่รูขุมขนถูกอุดตัน จนไม่สามารถที่จะขับเหงื่อออกมาได้ เนื่องจากการทาครีม หรือโลชั่นที่ผิวหนัง ทำให้เกิดการอุดตันที่รูขุมขน

อาการโรคผดร้อน

ซึ่งลักษณะอาการของโรคผดร้อนนี้ ผิวหนังจะมีตุ่มสีแดงเล็ก ๆ ขึ้นอยู่ตามผิวหนัง ทำให้เกิดอาการคัน ระคายเคืองที่ผิวหนัง และไม่สบายตัว

วิธีป้องกันและดูแลอาการเบื้องต้น

โดยโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการให้เด็ก ๆ สวมใส่เสื้อผ้าที่บางเบา ระบายเหงื่อได้ดี โดยโรคนี้จะสามารถหายเองได้ในเวลา 1-2 วัน แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุด

4.โรคหูชั้นนอกอักเสบ (Otitis Externa, Swimmer’s ear)

สาเหตุโรคหูชั้นนอกอักเสบ

ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัด การว่ายน้ำ และเล่นน้ำ (เช่น เล่นสาดน้ำสงกรานต์ เป็นต้น) จึงเป็นเรื่องสนุกสนานสำหรับเด็ก ๆ เป็นพิเศษ บางคนถึงกับนั่งแช่น้ำในสระน้ำเป่าลม หรือในกะลามังใบโตเป็นวัน ๆ ก็ยังไม่ยอมเลิก แต่รู้หรือไม่ว่า การเล่นน้ำที่สนุกสนานนี้เอง ที่เป็นสาเหตุนำไปสู่อาการหูชั้นนอกอักเสบ หากเด็ก ๆ ไม่ระมัดระวัง ทำให้มีน้ำเข้าไปในหู และค้างอยู่เช่นนั้น

อาการโรคผดร้อน

หากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดอาการบวม อักเสบ คัน เด็ก ๆ จะรู้สึกเจ็บปวดเป็นอย่างมาก และในบางรายอาจมีภาวะหูหนวกชั่วคราวเพิ่มเข้ามาอีกด้วย เนื่องเพราะการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในหู

วิธีป้องกันและดูแลอาการเบื้องต้น

วิธีที่ดีที่สุดคือ เด็ก ๆ ต้องระมัดระวังอย่าให้น้ำเข้าหู ระหว่างที่เล่นน้ำเป็นอันขาด และเมื่อเล่นน้ำเสร็จแล้วให้เช็ดทำความสะอาดใบหู และช่องหูอย่าให้มีน้ำขัง เพราะอาจกลายเป็นที่สะสมของเชื้อแบคทีเรียได้ นั่นเอง

5.โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

หลายคนอาจเข้าใจว่า โรคไข้หวัดใหญ่จะเป็นได้ก็เฉพาะฤดูฝนกับฤดูหนาวเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกฤดู ไม่เว้นแม้กระทั่งฤดูร้อนด้วยเช่นกัน

สาเหตุโรคไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส

อาการโรคไข้หวัดใหญ่

โดยอาการเริ่มแรกมักจะครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีอาการปวด แสบร้อนที่ดวงตาและเบ้าตา มีไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส มีอาการไอ เจ็บคอ และมีเสมหะ

วิธีป้องกันและดูแลอาการเบื้องต้น

ถ้าเป็นผู้ใหญ่ หรือเด็กโต การดูแลตนเองอย่างง่าย ๆ ตามลักษณะอาการ เช่น การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ เช็ดตัวเมื่อรู้สึกตัวร้อน หากมีไข้ ให้รับประทานยาลดไข้ พาราเซตามอล อาการต่าง ๆ ก็จะสามารถทุเลาลงได้ จนสามารถหายป่วยได้เองภายใน 3-5 วัน โดยไม่ต้องไปพบแพทย์
แต่ในกรณีของเด็กเล็ก เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการรุนแรงมากกว่าในผู้ใหญ่ และเด็กโต ซึ่งหากดูแลตามอาการที่บ้านแล้วไม่พบว่ามีอาการดีขึ้นแต่อย่างใด คุณพ่อคุณแม่ควรพาเด็ก ๆ ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย เพราะอาจมีอาการอื่นๆ แทรกซ้อนได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากโรคต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ โรคในฤดูร้อนที่มักเกิดกับเด็กๆ ยังมีอีกมากมายหลายโรคด้วยกัน ตัวอย่างเช่น โรคไทฟอยด์ (ไข้รากสาดน้อย), โรคไวรัสตับอักเสบ A, โรคพิษสุนัขบ้า, โรคบิด และโรคไอกรน เป็นต้น

สาเหตุทั่วไปของการเกิดโรคหน้าร้อนในเด็ก

แม้ว่าในช่วงฤดูร้อน แสงแดดที่จัดจ้านจะเป็นตัวทำลายเชื้อโรคได้ดี แต่ก็ยังมีเชื้อโรคอีกหลายชนิดที่ดวงแข็ง ฆ่าไม่ตาย แถมยังสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาวะอากาศที่ร้อนชื้นอีกต่างหาก ยกตัวอย่างเช่น เชื้อไวรัส เชื้อปรสิต เชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ อีกมากมายหลายชนิดด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเชื้อโรคต่างๆ เหล่านี้จะเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายมาก โดยเฉพาะจากการรับประทานอาหาร, การไอ หรือจาม รวมถึงการเล่นสนุกตามประสาเด็กๆ อีกด้วย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องระมัดระวัง และใส่ใจดูแลลูกน้อยเป็นพิเศษในช่วงฤดูร้อน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคต่างๆ เข้าสู่ร่างกายของเด็กๆ ได้ นั่นเอง

วิธีป้องกันโรคหน้าร้อนในเด็ก

วิธีป้องกันโรคที่เกิดในฤดูร้อนสำหรับเด็กๆ อาจจะระมัดระวังได้ยากสักนิดสำหรับคุณพ่อคุณแม่ โดยเฉพาะกับเด็กเล็กๆ อายุต่ำกว่า 4-5 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงวัยที่กำลังสนุกสนานกับการเรียนรู้สิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ชอบที่จะทดลอง จับต้อง และที่ขาดไม่ได้เลยคือ การชิม กัด แทะ และกิน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลัก ที่จะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย แถมเมื่อป่วยแล้วอาการของโรคยังรุนแรงยิ่งกว่าช่วงวัยอื่นๆ อีกด้วย ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุด ที่จะป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายของเด็กๆ ได้ง่ายๆ ก็คือ

ฝึกนิสัยรักความสะอาดตั้งแต่เล็ก

  • ให้เด็กๆ ล้างมือด้วยสบู่เหลวล้างมือให้สะอาด ก่อนการรับประทานอาหาร, หยิบจับอาหาร และขนมใส่ปากทุกครั้ง รวมถึงควรล้างมือทุกครั้งหลังจากถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะอีกด้วย
  • หลังจากที่เด็กๆ ออกกำลังกาย หรือเล่นสนุกสนาน จนเหงื่ออกท่วมตัวแล้ว ต้องอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ทุกครั้ง

ฝึกให้เล่นอย่างระมัดระวัง

  • ไม่เล่นกลางแดดจัด หรือในสภาพอากาศที่ร้อนจัด หรือมีฝนตก
  • หากไปว่ายน้ำ หรือเล่นน้ำ (ทั้งในสระว่ายน้ำ คูคลอง หนองบึงต่างๆ) เด็กๆ จะต้องระมัดระวัง ไม่ให้น้ำเข้าหู ตา จมูก ปากโดยเด็ดขาด

ระวังเรื่องอาหารการกินและเครื่องดื่มเป็นพิเศษ

  • หากคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้จัดเตรียมอาหารให้ลูกด้วยตนเอง ก็สามารถตรวจสอบอาหารได้ว่า อาหารนั้นสามารถรับประทานได้หรือไม่ บูด เสียแล้วหรือยัง แต่หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมตรวจสอบ หรือทำอาหารด้วยตนเอง ก็ควรกำชับกับผู้ที่ดูแลเรื่องการรับประทานอาหารของลูกน้อย ให้ระมัดระวังอย่างถี่ถ้วน
  • สอนให้เด็กๆ รู้ว่า อาหาร ขนม หรือเครื่องดื่มรสชาติ และหน้าตาแบบไหนรับประทานได้ แบบไหนไม่ควรรับประทาน เพราะอาจบูด หรือเสียแล้ว เป็นต้น

หลีกเลี่ยงการไปในที่ชุมชน

รวมถึงสถานที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก งดเว้นจากการพบปะ คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น เพราะอาจติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ และทางที่ดีในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 7 ปี ควรมีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อสร้างระบบภูมิคุ้มกันในเด็กเล็ก เป็นต้น
หรือหากมีธุระจำเป็นที่จะต้องไปปฏิบัติ สามารถสวมใส่หน้ากากอนามัยและพกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือไปด้วย ก็จะช่วยป้องกันได้

เลี่ยงการคลุกคลีกับสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ

อาทิ สุนัข แมว และอื่น ๆ เพราะเสี่ยงอาจถูกกัด หรือโดนข่วน ซึ่งถ้าโชคดีอาจมีแค่บาดแผลจากรอยกัดหรือข่วน แต่ถ้าโชคร้าย อาจเกิดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ด้วยเช่นกัน

บทสรุป

แม้ในฤดูร้อนจะมีโรคภัยไข้เจ็บมากมายหลายชนิดที่เป็นอันตรายกับเด็กๆ แต่ถึงกระนั้นความสนุกสนานในวัยเยาว์กับช่วงซัมเมอร์ที่ยาวนาน ก็ไม่อาจละความตื่นเต้น สนุกสนานของเด็กๆ ได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ และคนใกล้ชิดที่จะต้องคอยระมัดระวังดูแลพวกเขาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในเรื่องของสุขอนามัย และการรับประทานอาหาร เป็นต้น


waayu

329,410 views

(นามปากกา : วายุ, วิสัชนา, อารีรัตน์) ชอบปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ และวาดรูป เคยเป็นครูอนุบาล ครูประถม ครูมัธยมต้น ครูสอนจินตคณิต(สมาร์ทเบรน) มีงานเขียนพ็อกเก็ตบุ๊ค และ E-book ที่ mebmarket.com Facebook

Profile

Pickup posts

Related posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save