ผดร้อนทารก VS ผื่นร้อนทารก ต่างกันอย่างไร ป้องกัน และรักษาอย่างไร
เพราะผิวทารกนั้นบอบบางมาก ดังนั้น เมื่อเกิดตุ่มแดง ๆ หรือผื่นแดง ๆ เกิดขึ้นที่ผิว ก็มักจะเรียกเหมากันว่า “ผดผื่น” ซึ่งความจริงแล้ว ผด และผื่นนั้นมีความแตกต่างกัน อาการและสาเหตุก็ยังแตกต่างกันอีกด้วยค่ะ ดังนั้น ผดร้อนทารก และผื่นร้อนทารก ต่างกันอย่างไร รวมถึงวิธีหรือแนวทางการดูแลรักษานั้นจะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ไปดูกันค่ะ
ผดร้อนทารก VS ผื่นร้อนทารก ต่างกันอย่างไร?
ผด-ผื่นในเด็กทารกมีความแตกต่างกันไปในแต่ชนิด ซึ่งผด-ผื่นมีด้วยกันทั้งหมด 7 ชนิด ดังนี้
ผดร้อน
Cr Photo : medicinenet.com
เกิดได้จากการที่ท่อระบายเหงื่ออุดตัน เนื่องจากผิวของเด็กทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่ และมักจะเกิดในช่วงที่มีอากาศร้อน ผดร้อนนี้มี 3 ชนิดที่เกิดขึ้นตามความลึกของท่อระบายเหงื่อที่อุดตันใต้ผิวหนัง
– ผิวหนังชั้นตื้น
มีลักษณะเป็นเม็ดเล็กสีใส ซึ่งสามารถหลุดลอกออกได้ง่าย ๆ เป็นขุยสีขาว
– ผิวหนังชั้นกำพร้า
มีลักษณะเป็นผดสีแดง บางรายอาจมีอาการคันร่วมด้วย และอาจมีสีแดงมากขึ้นหากทารกยังอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนอบอ้าว
– ผิวหนังระดับลึก
มีลักษณะเป็นผดสีขาวคล้าย ๆ ตุ่มหนอง
โดยมากผดร้อนมักจะขึ้นบริเวณผิวหนังที่มีท่อระบายเหงื่อเป็นจำนวนมาก เช่น หน้าผาก หน้าอก คอ หลัง ข้อพับ ขอบเอว รวมไปถึงบริเวณใดก็ตามที่มีการเสียดสีกับเสื้อผ้าบ่อย ๆ ซึ่งบางรายอาจมีอาการคันร่วมด้วย
การรักษา
จัดสถานที่หรือย้ายทารกไปอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก อากาศเย็นสบาย ควรเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสมระบายอากาศได้ดี เลี่ยงการทาครีมในส่วนที่เป็นผด
ผื่นแดง ETN (Erythema Toxicum Neonatorum)
Cr. Photo dermatologyoasis.net
สำหรับผื่นแดงนี้จะมีขนาด 1 – 3 ซม. และมีตุ่มใสหรือตุ่มหนองขนาด 1 – 3 มม. อยู่ตรงกลาง พบได้มากตามใบหน้า ลำตัว แขน ขา แต่จะไม่ค่อยพบตามฝ่ามือหรือฝ่าเท้า ส่วนใหญ่จะเกิดกับทารกแรกเกิด – 14 วัน โดยประมาณ
การรักษา
ภายใน 1 สัปดาห์ ผื่นแดงก็มักจะหายได้เอง ซึ่งผื่นลักษณะนี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ กับลูกน้อย
ผื่น Milia
Cr. Photo sangopan.com
มีลักษณะเป็นจุดหรือตุ่มบริเวณผิวหนังของลูกน้อย โดยมีขนาด 1 – 2 มม. สีขาวออกเหลือง พบได้บ่อยตามใบหน้า หน้าผาก แก้ม คาง จมูก บางรายอาจได้ที่เหงือกหรือกลางเพดานปาก นั่นเกิดจากการตกค้างของสารเคอราตินที่ผิวชั้นบนสุดของหนังกำพร้า เคอราติน ก็คือโปรตีนชนิดหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของหนังกกำพร้า เล็บ และผมนั่นเอง
การรักษา
ผื่น Milia นี้จะสามารถหลุดออกและหายไปได้เองภายใน 1 – 2 เดือน โดยที่ไม่ทิ้งร่องรอยของแผลเป็นใด ๆ กลับกันถ้าอาการตุ่ม ๆ นี้เป็นมานานยังไม่หายซักที แนะนำควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์ได้วินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมต่อไป
Transient Neonatal Pustular Melanosis (ไม่มีชื่อไทย)
Cr. Photo webmd.com
มีลักษณะอาการที่ทำให้ผิวหนังสากแห้ง แดงอักเสบ มีตุ่มน้ำเม็ดเล็ก ๆ ส่วนใหญ่พบมาในบริเวณหน้าผาก แก้ม แขน และขา ผื่นชนิดนี้จะแสดงอาการภายในช่วงอายุ 2 – 5 ปี ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย
การรักษา
ผื่นชนิดนี้สามารถรักษาได้ด้วยการทายาที่มีสเตียรอยด์ ซึ่งต้องให้แพทย์เป็นผู้แนะนำก่อน พร้อมกับคุณแม่ควรดูแลผิวลูกน้อยให้ชุ่มชื้น ด้วยการทาสารให้ความชุ่มชื้นภายใน 2 – 3 นาที หลังการอาบน้ำ
ผื่นผ้าอ้อม
Cr. Photo webmd.com
ผื่นชนิดนี้จะทำให้ผิวลูกน้อยระคายเคือง เนื่องจากการใส่ผ้าอ้อมที่มีความอับชื้นเป็นเวลานาน ส่งผลให้ผิวของลูกน้อยเป็นปื้นแดงเป็นมันหรือเป็นตุ่ม มีอาการคันในบริเวณที่นูนที่สัมผัสกับผ้าอ้อม อาทิ ช่วงต้นขาด้านใน และก้น
การรักษา
หมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการอับชื่น หากคุณแม่สังเกตเห็นว่าผิวลูกน้อยเริ่มเป็นผื่น ควรทาด้วยขี้ผึ้งหรือครีมเพื่อลดการเสียดสีให้ลูกน้อย
ผื่นแพ้ต่อมไขมัน
Cr. Photo healthdirect.gov.au
ลักษณะของมันจะเป็นผื่นแดงมีสะเก็ดสีเหลืองของไขมันปกคลุม เป็นขุยหรือเป็นสะเก็ดเหนียวสีเหลือกที่หนังศีรษะ บางรายอาจมีผื่นแดงบนใบหน้า คอ หลังหู อาการเหล่านี้เกิดได้กับทารกที่มีอายุอยู่ในช่วง 3 – 12 สัปดาห์
การรักษา
โดยมากแล้วมักหายได้เอง แต่ถ้าคุณแม่ไม่สบายใจก็สามารถหาเบบี้ออยล์หรือน้ำมันมะกอกที่สะเก็ด ทาทิ้งไว้ก่อนสระผมให้ลูกน้อยสักประมาณ 15 – 20 นาที สะเก็ดก็จะนุ่มลง แล้วใช้แปรงขนนุ่มหรือฟองน้ำนิ่ม ๆ ปัดออกอย่างเบามือค่ะ
สิวฮอร์โมน (Neonatal acne)
Cr. Photo naturallydaily.com
ลักษณะของสิวฮอร์โมนจะเป็นตุ่มแดงหรือตุ่มหนอง พบเฉพาะที่บริเวณใบหน้าตรงแก้ม บางรายอาจมีบ้างที่พบที่ศีรษะ สิวฮอร์โมนนี้สามารถพบได้ตั้งแต่อายุ 3 สัปดาห์ ซึ่งยังไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการได้รับฮอร์โมนเพศชายที่ค่อนข้างสูงจากคุณแม่หรืออาจจะตัวเด็กเองซึ่งไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมัน
การรักษา
โดยมากจะหายได้เองค่ะ ไม่จำเป็นต้องทาโลชั่นหรือน้ำมันใด ๆ เพราะยิ่งจะทำให้รูขุมขนอุดตัน และยิ่งจะเกิดสิวมากขึ้น
การป้องกันผด-ผื่นทารก
ทั้งนี้ ในผด-ผื่นบางชนิดที่เกิดขึ้น คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถหาทางหรือหาวิธีป้องกันได้ ดังนี้
หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่รู้อยู่แล้ว
ข้อนี้คุณพ่อคุณแม่คงจะพอรู้อยู่แล้วว่าลูกน้อยนั้นแพ้อะไรบ้าง ก็ควรหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น เช่น ฟองสบู่ สบู่ แพ้อาหาร ไรฝุ่น ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ ดอกไม้ที่มีกลิ่นฉุน อากาศร้อน เหงื่อของตัวเอง เป็นต้น
ดูแลผิวลูกน้อยให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ
ในบางครั้งการที่จะระบุหรือหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นนั้นอาจทำได้ยาก ก็ให้คุณพ่อคุณแม่หันมาดูแลใส่ใจเรื่องความชุ่มชื้นของผิวของลูกน้อยแทนได้ค่ะ และน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะผิวแห้งจะทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองและอักเสบได้ง่ายกว่า ซึ่งมีวิธีการ ดังนี้
อาบน้ำอุ่น ใช้สบู่ที่อ่อนโยน
คุณแม่สามารถอาบน้ำอุ่นให้ลูกน้อย วันละ 1 ครั้ง พร้อมกับใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิว และให้ความชุ่มชื้นได้
ทาขี้ผึ้ง
หลังอาบน้ำให้ทาสารให้ความชุ่มชื้นกับผิวของลูกน้อย 2 – 3 ครั้งต่อวัน โดยแนะนำเป็นขี้ผึ้ง (Ointment) ดีที่สุด แต่ถ้าไม่สะดวก สามารถใช้เป็นวาสลีน ครีมทาผิว ครีมยา หรือจะเป็นโลชั่น ชนิดที่ปราศจากสารสเตียรอยด์ก็ได้เช่นกันค่ะ
**ข้อควรรู้ – คุณแม่ควรเริ่มทาครีมให้ลูกเพียงเล็กน้อยก่อนนะคะ เพื่อทดสอบว่าลูกจะแพ้สารให้ความชุ่มชื้นนั้น ๆ หรือไม่
การเกิดผด-ผื่นในทารกนั้นมีได้หลายอย่าง หลายสาเหตุ ส่วนใหญ่ก็จะหายได้เอง แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยังกังวลใจอยู่ สามารถไปปรึกษาแพทย์ได้ค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง