เมื่อเด็กวัยรุ่น ที่อยู่ในช่วงวัยมัธยมต้น กำลังจะจบการศึกษา ก็ถึงเวลาที่พวกเขาจะต้องเลือกสายการเรียนต่อ ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีรูปแบบสถาบันการศึกษาที่มีความหลากหลายให้เลือกเรียนต่อมากมายหลายสาขาด้วยกัน ทั้งที่เป็นสายสามัญ และสายวิชาชีพ ทั้งที่เป็นโรงเรียนสองภาษา สามภาษา ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ในความสนใจของเด็กวัยรุ่น ที่กำลังจะก้าวไปสู่การเลือกเส้นทางในการประกอบอาชีพในอนาคตทั้งสิ้น
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกสายการเรียนวัยรุ่น
อาชีพในอนาคต
ความคาดหวังในการประกอบอาชีพในอนาคตของตัวเด็กเอง เช่น บางคนอยากเป็นหมอ อยากเป็นครู อยากเป็นวิศวกร สถาปนิก มัคคุเทศน์ พนักงานบัญชี การตลาด ฯลฯ รวมไปถึงการเป็นเจ้าของกิจการของตัวเองด้วยเช่นกัน
ความคาดหวังของพ่อแม่
พ่อแม่มักจะคาดหวังต่ออนาคตของลูก เด็กวัยรุ่นบางคน (โดยเฉพาะเด็กที่เรียนเก่ง เรียนดีมาตลอด) มักอยู่ในความคาดหวังของพ่อแม่ เช่น คุณพ่อคุณแม่อยากให้เป็นหมอ ทนายความ วิศวกร แอร์โฮสเตท ทหาร ตำรวจ ฯลฯ เป็นต้น
ความสนใจของตัวเด็กเอง
เช่น เด็กๆ อาจมีความชอบส่วนตัวมาตั้งแต่ยังเล็กๆ หรือมีความสามารถพิเศษในด้านใดด้านหนึ่งที่โดดเด่น จนมีความใฝ่ฝัน หรือความตั้งใจที่จะประกอบอาชีพในด้านนี้เป็นพิเศษ เช่น เด็กที่ชอบวาดรูป ชอบเรียนศิลปะ ก็อาจจะเลือกเรียนสายศิลป์ ในสถาบันการศึกษาที่เน้นในด้านนี้โดยเฉพาะ เป็นต้น
เพื่อน และแฟน
ความสนใจของกลุ่มเพื่อน และแฟน ก็ถือเป็นอีกบทบาทหนึ่ง ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกสถานที่เรียนต่อของเด็กวัยรุ่น บางคนอาจเลือกเรียนตามเพื่อน บางคนเลือกเรียนตามแฟน ซึ่งในกรณีเหล่านี้ บางครั้งกว่าเด็กวัยรุ่นจะรู้ตัวว่า ตนเองไม่ถนัด หรือไม่ชอบในสายการเรียนที่เลือก ก็อาจต้องเสียเวลาไปเป็นปี เพื่อเปลี่ยนสายการเรียน หรือเปลี่ยนสถานที่เรียนใหม่ก็เป็นได้
ผลการเรียน
รวมถึงแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ในการประกอบอาชีพ บางครั้งเด็กๆ ก็รู้จักตนเองมากพอที่จะเข้าใจ และตัดสินใจเลือกในสิ่งที่ตนเองคิดว่า พวกเขาน่าจะทำได้ดีที่สุด หากเลือกเส้นทางสายนี้ แทนที่จะเลือกในสิ่งที่เคยคาดหวัง หรือเป็นความหวังของครอบครัว เด็กๆ ในกลุ่มนี้มักจะมีผลการเรียนระดับปานกลาง จนถึงในกลุ่มที่มีคะแนนเกรดเฉลี่ยในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งโดยมากมักจะเลือกเส้นทางการเรียนต่อในสายอาชีพ หรือสายอาชีพ นั่นเอง
ทุนทรัพย์
หรือฐานะทางครอบครัว ในบางครั้งเด็กๆ ก็ไม่อาจเลือกเรียนในสายการศึกษาที่ตนเองสนใจได้ เนื่องเพราะฐานะทางการเงินของครอบครัวไม่เอื้ออำนวย ด้วยเหตุนี้ เด็กๆ อาจต้องเลือกเรียนในสายอาชีพ หรืออาชีวะ ซึ่งใช้ระยะเวลาในการเรียนไม่ยาวนานก็สามารถนำวุฒิการศึกษาออกมาประกอบอาชีพ เอช่วยเหลือครอบครัวได้ เป็นต้น
อาชีพ vs สามัญ แบบไหนดี
หากจะแยกพิจารณาตามสายการเรียน ที่เด็กๆ วัยรุ่น ในช่วงมัธยมต้นตัดสินใจเลือกเรียนต่อแล้วละก็ อาจแยกออกได้เป็น 2 สายด้วยกันคือ การเรียนต่อในสายสามัญ หรือมัธยมปลาย กับสายอาชีพ เช่น เทคนิค อาชีพ และพาณิชการ เป็นต้น
สายอาชีพ
สายอาชีพมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนี้
ข้อดีของสายอาชีพ
- มีทางเลือกในการประกอบอาชีพที่กว้างขวาง เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างกลโรงงาน ช่างหนัง ช่างศิลป์ การตลาด การบัญชี การบริหารจัดการ ฯลฯ
- มีสายการเรียน และสถาบันการศึกษาให้เลือกมากมาย ตามความถนัดของนักเรียน
- เป็นที่ยอมรับของตลาดแรงงาน หรือนายจ้าง เนื่องจากในการเรียนของสายอาชีพ จะมีการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อเป็นการฝึกฝนความชำนาญ ในการปฏิบัติการอยู่อย่างสม่ำเสมอ
- ได้รับความรู้เฉพาะทางแน่น ตรงตามความถนัด ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- มีทักษะทางวิชาชีพที่ตรงต่อการใช้งาน และสามารถเก็บประสบการณ์การเรียนรู้ในสายอาชีพได้รวดเร็ว สามารถนำไปศึกษาต่อ ทำงานในบริษัท หรือประกอบอาชีพของตัวเองได้
- สามารถเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วยได้ เพราะในการเรียนสายวิชาชีพ อาจมีการแบ่งระยะเวลาในการเรียนเป็นภาคเช้า ภาคบ่าย ภาคค่ำ ซึ่งเด็กๆ อาจใช้ช่วงเวลาที่ว่างไปทำงานหารายได้ได้อีกทางหึ่ง นั่นเอง
- เมื่อจบการศึกษาแล้ว สามารถเรียนต่อระดับ ปวส. อนุปริญญา ปริญญาตรีในมหาวิทยาลัย หรือจะประกอบอาชีพเลยก็ทำได้เช่นกัน
- เมื่อเรียนจบหลักสูตร สามารถเป็นที่ยอมรับของระบบราชการ และมีหลายหน่วยงานรองรับทั้งไทยและต่างประเทศ เรียกว่า จบแล้วไม่ตกงานแน่นอน
ข้อเสียของสายอาชีพ
- มีข้อจำกัดบางประการในการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย เนื่องจากมหาวิทยาลัยในหลายๆ แห่งไม่ค่อยมีคณะหรือภาคการศึกษา ที่รองรับต่อการเรียนในสายอาชีพ
- ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครอง หรือสังคม เพราะปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักศึกษาในสายอาชีพมีให้เห็นอยู่เนืองๆ จนผู้ปกครองส่วนใหญ่ เป็นห่วงบุตรหลานของตนเอง หากเข้าเรียนในสายอาชีพ
- ความรู้ด้านวิชาการอาจไม่แน่นเท่าสาบสามัญ เนื่องจากสายอาชีพจะมุ่งเน้นทักษะในการปฏิบัติงานจริงมากกว่าความรู้ทางทฤษฎี
สายสามัญ
ทั้งนี้ สายสามัญก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียเช่นกัน ได้แก่
ข้อดีของสายสามัญ
- มีความรู้พื้นฐานทางทฤษฎีแน่นกว่าสายอาชีพ
- มีสถาบันการศึกษารองรับในระดับมหาวิทยาลัย มากกว่าสายอาชีพ
- มีโอกาสในการศึกษา และเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ มากกว่าสายอาชีพ
- เป็นที่ยอมรับของพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่มักคาดหวังให้ลูกเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ในสถาบันที่มีชื่อเสียง ในคณะที่เป็นที่นิยม มากกว่าการเรียนในสายอาชีพ
ข้อเสียของสายสามัญ
- ความรู้ ความสามารถเฉพาะทางอาจไม่แน่น โดดเด่น หรือมีศักยภาพเท่าการเรียนสายอาชีพ เพราะสายสามัญจะมุ่งเน้นด้านวิชาการเป็นหลัก
- ถ้าเรียนจบในระดับมัธยมปลาย แล้วไม่ได้ศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย โอกาสในการหางานทำจะค่อนข้างยาก เพราะไม่มีความชำนาญในด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ
- ไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน หรือประสบการณ์ในการใช้ทักษะชีวิตเท่าสายอาชีพ ที่บางคนอาจเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ขณะที่สายสามัญจะมีการเรียนเต็มเวลา
สรุป
เด็กวัยรุ่น โดยเฉพาะช่วงวัยมัธยมต้น ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในการเลือกเส้นทางการดำเนินชีวิตของตนเอง โดยเฉพาะทักษะในการเรียนรู้ชีวิต การเรียนในสถาบันการศึกษา หรือแม้กระทั่งการประกอบอาชีพ ดังนั้น พ่อแม่ และผู้ปกครองจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเป็นผู้ให้ความรู้ ช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ รวมถึงการเป็นผู้ให้กำลังใจอยู่ข้างๆ คอยดูการเจริญเติบโตของลูกๆ ในแต่ละขั้นตอนของชีวิต นั่นเอง