น้ำมันพืช (Vegetable oils) หรือน้ำมันพืชที่ผ่านกระบวนการผลิต (Processed Vegetable oils) นอกจากใช้ในครัวเรือนสำหรับประกอบอาหารประเภทผัด ทอด หรือแม้แต่ใส่ในอาหารประเภทสลัด เพื่อเพิ่มอรรถรสของอาหารให้ดีขึ้นแล้ว เพื่อน ๆ รู้หรือไม่ว่าน้ำมันพืชมีดีกว่าทำให้อาหารของเราน่ารับประทาน เพราะในน้ำมันพืชแต่ละตัวมีสารธรรมชาติที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าที่เราคิด น้ำมันพืชแต่ละชนิดมีความแตกต่างและมีอะไรน่าสนใจมาหาคำตอบไปพร้อมกันเลย
น้ำมันพืชคืออะไร มาจากไหนบ้าง
แน่นอนว่าน้ำมันพืชย่อมได้มาจากพืช แต่จะเป็นพืชชนิดไหนนั้นแล้วแต่ชนิดของน้ำมันที่เราเลือกมาบริโภค ปัจจุบันในท้องตลาดมีน้ำมันพืชหลากหลายชนิดให้เราเลือกสรรบริโภคอาทิ น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันดอกคาโนลา น้ำมันมะพร้าว เป็นต้น และน้ำมันพืชแต่ละชนิดตั้งชื่อมาจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำมันชนิดนั้น ๆ และรู้หรือไม่ว่ากว่าจะได้เป็นน้ำมันพืชออกมาให้เราบริโภคผ่านกระบวนการผลิตอย่างไรบ้าง
กระบวนการผลิตน้ำมันพืช สำหรับบริโภค
ในกระบวนการผลิตน้ำมันพืชสำหรับบริโภค ส่วนใหญ่จะใช้ตัวทำละลายเฮกเซน (Hexene) ในการสกัดเอาน้ำมันออกมาจากพืชนั้น ๆ ผลผลิตขั้นแรกจะได้ส่วนของน้ำมันดิบ (crude oils) จากนั้นจะผ่านกระบวนการกรองส่วนที่ไม่ใช้ออกจากน้ำมัน ทำการฆ่าเชื้อโรคด้วยแสง UV (Ultraviolet) จนกระทั่งได้ส่วนของน้ำมันสำหรับบริโภคออกมา นอกจากการใช้ตัวทำละลายในการผลิตน้ำมันแล้ว
ยังมีอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจคือ กระบวนการบีบเย็น (Cold press) วิธีนี้ไม่ต้องใช้สารเคมีในการผลิต แต่ใช้วิธีบีบอัดให้ได้น้ำมันออกมานั่นเอง และการผลิตด้วยวิธีนี้ทำให้ได้สารสำคัญในน้ำมันออกมามากกว่าวิธีใช้ตัวทำละลายในการสกัด
น้ำมันพืช กับเรื่องสุขภาพ
เคยได้ยินหรือไม่ว่าน้ำมันพืชสามารถป้องกันการเกิดโรคต่างๆได้ และยังส่งเสริมให้สุขภาพดีขึ้นด้วย หากเลือกใช้น้ำมันให้ถูกวิธีและเลือกน้ำมันสำหรับบริโภคโดยพิจารณาจากสารสำคัญที่พบในน้ำมันพืช เพราะในน้ำมันพืชแต่ละชนิดมีสารสำคัญและองค์ประกอบสำคัญที่น่าสนใจแตกต่างกันไป และสารเหล่านั้นมีผู้ต่อสุขภาพที่ดีอีกด้วย
องค์ประกอบ ในน้ำมันพืช
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าในน้ำมันพืชแต่ละชนิดมีสารและองค์ประกอบสำคัญที่พบในน้ำมันแตกต่างกันไป มาดูไปพร้อมกันเลยว่าองค์ประกอบที่น่าสนใจในน้ำมันพืชมีอะไรบ้าง
น้ำมันรำข้าว (Rice bran oil)
เป็นน้ำมันที่ได้รับความสนใจไม่น้อยในกลุ่มคนรักสุขภาพ เพราะน้ำมันรำข้าวมีสารสำคัญที่เรียกว่า แกมม่าออริซานอล (gamma oryzanol) ซึ่งเป็นที่พบเฉพาะในน้ำมันชนิดนี้ และยังมีกรดไขมันที่น่าสนใจได้แก่ โอเลอิก และยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอีกมากมายเช่นสารประกอบฟีนอลิค อะมิโนบิวทาริกแอซิด (GABA) สารกลุ่มไฟโตสเตอรอล ไทโคไตรอีนอล แหล่งของวิตามินต่างๆ เป็นต้น
น้ำมันมะกอก (olive oil)
น้ำมันขึ้นชื่อในกลุ่มคนรักสุขภาพ น้ำมันชนิดอุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว ได้แก่กรดไขมันโอเลอิก เป็นกรดไขมันดีมีมากกว่าในน้ำมันพืชชนิดอื่น
น้ำมันปาล์ม (Palm oil)
น้ำมันพืชที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในท้องตลาดเนื่องจากมีราคาถูก ในน้ำมันปาล์มอุดมไปด้วย carotenoids, tocopherols, sterols, phosphatides แอลกอฮอล์ triterphenic และ aliphatic มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระได้ดี
น้ำมันถั่วเหลือง (Soybean oil)
อุดมไปด้วย กรดโอเลอิก และกรดไขมันที่มีพันธะคู่มากกว่า 1 ตำแหน่ง (polyunsaturated fatty acid) โดยเฉพาะกรดไขมันโอเมก้า 6 (omega-6 fatty acid) ได้แก่ กรดลิโนเลอิก (linoleic acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย และยังมีวิตามินเคอีกด้วย
น้ำมันมะพร้าว (Coconut oil)
ในน้ำมันมะพร้าวอุดมไปด้วยกรดไขมันอิ่มตัวมากกว่า 90% กรดไขมันที่พบมากได้แก่ กรดไขมันลอริก (lauric acid) และส่วนน้อยที่พบได้แก่ กรดไขมันไมริสติก (myristic acid) และปามิติก (palmitic acid) ตามลำดับ
น้ำมันดอกทานตะวัน (Sunflower oil)
น้ำมันพืชที่กรดไขมันไลโนเลอิกสูง (โอเมก้า 6) และมีสัดส่วนของกรดไขมันโอเลอิก (โอเมก้า 9) สูงอีกด้วย
น้ำมันพืช ป้องกันการเกิดโรคได้อย่างไร
น้ำมันรำข้าว
มีงานวิจัยรองรับว่าแกมม่าออริซานอลมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการเกิดโรคอ้วน โดยลดการสะสมไขมันภายในเซลล์ นอกจากนี้ยังลดระดับคลอเรสเตอรอลชนิดไม่ดี และเพิ่มคลอเรสเตอรอลชนิดที่ดี ป้องกันการเกิดโรคอ้วนได้
น้ำมันมะกอก
มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ควบคุมระดับคลอเรสเตอรอล ช่วยลดภาวะไขมันในเลือดสูง ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ช่วยการเผาผลาญอาหารได้ดีขึ้น นิยมบริโภคในกลุ่มผู้ที่ควบคุมอาหารหรือกลุ่มคนรักสุขภาพ
น้ำมันปาล์ม
มีองค์ประกอบสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด และยังอุดมไปด้วยกรดไขมันอิ่มตัวและไม่อิ่มตัวในสัดส่วนที่สมดุลจึงมีส่วนช่วยลดระดับคลอเรสเตอรอลในเลือดได้ดี และชะลอการเกิดภาวะสมองเสื่อม
น้ำมันถั่วเหลือง
วิตามินเคมีส่วนช่วยบำรุงเซลล์ประสาทและสมอง เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกป้องกันโรคกระดูกพรุน นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสื่อมของการเกิดจอประสาทตาเสื่อม และยังมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูง
น้ำมันมะพร้าว
ช่วยควบคุมระดับคลอเรสเตอรอลในเลือด รักษาระดับน้ำตาลในเลือดป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน ให้ความชุ่มชื่นแก่ผิวหนังปเองการการเกิดโรคภูมิแพ้ผิวหนัง นอกจากนี้ช่วยบำรุงเส้นผมให้เงางามแข็งแรง
น้ำมันดอกทานตะวัน
เสริมสร้างระบบภูมิกันรักษาสมดุลของคอเลสเตอรอลในร่างกาย ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ และภาวะอุดตันไขมัน นอกจากนี้วิตามินเอและอีในน้ำมันดอกทานตะวันยังช่วยฟื้นฟูเซลล์ผิว บำรุงผิวพรรณที่ได้รับความเสียหายจากอนุมูลอิสระ
เป็นอย่างไรกันบ้างกับเกร็ดความรู้เรื่องน้ำมันพืชที่เราบริโภคกันทุกวัน มีประโยชน์มากกว่าการใช้ประกอบอาหาร อย่างไรก็ตามน้ำมันแต่ละชนิดแม้มีข้อดีมากมายแต่ก็ย่อมมีข้อเสียหากรับประทานในปริมาณมากเกินความพอดีอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย ดังนั้นบริโภคแล้วควรออกกำลังกายร่วมด้วย หรือสำหรับใครที่กังวลเรื่องการประกอบอาหารด้วยน้ำมัน สามารถเปลี่ยนมาใช้หม้อทอดไร้น้ำมันแทนได้นะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- น้ำมันมะพร้าว VS น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ต่างกันอย่างไร? พร้อมประโยชน์ที่คุณอาจไม่รู้