Site icon simplymommynote

โฮมสคูล (Home School) ทำอย่างไร และเหมาะกับใครบ้าง

โฮมสคูล (Home School) ทำอย่างไร และเหมาะกับใครบ้าง

โฮมสคูล (Home School) ทำอย่างไร และเหมาะกับใครบ้าง

ในยุคที่พ่อแม่เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับการศึกษา ด้วยที่ลูกต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้านเป็นเวลายาวนานเกือบ 2 ปีแล้ว หลายบ้านจึงหันมาให้ความสนใจการศึกษาแบบ โฮมสคูล (Home School) มากขึ้น กิฟท์เองก็เป็นครอบครัวหนึ่งที่ตัดสินใจทำโฮมสคูลให้กับลูกเพราะโรคระบาดเป็นตัวเร่งให้ตัดสินใจ มีหลายบ้านที่สนใจการศึกษาแนวทางแบบนี้ พร้อมกับคำถามที่ตามมาว่า ต้องเริ่มต้นจากตรงไหน ต้องทำอะไรบ้าง วันนี้กิฟท์จึงได้รวบรวมรายละเอียดเบื้องต้นมาไว้ให้แล้วค่ะ

โฮมสคูล (Home School) คืออะไร?

โฮมสคูล (Home School) หรือการจัดการศึกษาโดยครอบครัว เรียกอีกชื่อว่า “บ้านเรียน” คือการจัดการศึกษาที่มีพ่อแม่ผู้ปกครอง ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการศึกษา หรือเปรียบเสมือน “ผู้อำนวยการโรงเรียน” มีลูกเป็นเด็กนักเรียนของสถาบันซึ่งถือเป็นหนึ่งโรงเรียนในประเทศไทยที่มีนักเรียนหนึ่งคน หรือบางครอบครัวมีลูกมากกว่าหนึ่งคนอยู่ในโรงเรียนแห่งนี้ โดยจะต้องมีการจัดทำแผนการเรียนที่มีจุดเน้นไปตามลักษณะความสนใจ ความถนัด หรือความชื่นชอบของลูกแต่ละคนเป็นหลัก

การจัดการศึกษาโดยครอบครัวนี้ มีกฎหมายรองรับอย่างถูกต้อง โดยประเทศไทยมีกฎหมายรองรับมาตั้งแต่พ.ศ.2542 ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา12 ระบุให้ครอบครัวสามารถจัดการศึกษาให้กับเด็กได้ และผู้เรียนมีศักดิ์และสิทธิ์ไม่ต่างจากเด็กนักเรียนในสถาบันการศึกษาอื่นๆ เช่นกัน

โฮมสคูลให้ลูกได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่?

แม้ว่าการศึกษาภาคบังคับในประเทศไทย จะเริ่มต้นที่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หรืออายุประมาณ 7 ปี แต่หากพ่อแม่อยากจะเริ่มโฮมสคูลให้ลูกตั้งแต่ชั้นอนุบาลก็สามารถทำได้เช่นกัน และนอกจากนี้ยังสามารถทำโฮมสคูลได้จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้เลยด้วย แต่ในระดับอุดมศึกษาพ่อแม่ไม่สามารถจัดการศึกษาโดยครอบครัวได้เองนะคะ

โฮมสคูล (Home School) มีกี่แบบ?

เมื่อคนพูดถึงโฮมสคูล หรือ บ้านเรียน ก็มักจะเข้าใจว่าการศึกษาประเภทนี้จะมีรูปแบบเดียวคือ พ่อแม่ต้องสอนลูกเองที่บ้านเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วการโฮมสคูล นั้นสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ แล้วแต่บริบทของแต่ละครอบครัว อาทิเช่น

การจัดการศึกษาแบบครอบครัวเดี่ยว

คือพ่อแม่จะเป็นผู้ประเมินผลการเรียนของลูก ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา

การจัดการศึกษาแบบกลุ่ม

คือ การรวมกลุ่มของครอบครัวที่จัดการศึกษาแบบโฮมสคูล โดยจะมีการจัดการศึกษาแยกจากกันอย่างอิสระของแต่ละบ้าน แต่จะมีการนัดรวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันในบางโอกาส

การจัดการศึกษาแบบรวมศูนย์

คือ การรวมตัวกันของครอบครัวโฮมสคูล จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนครอบครัวเดี่ยว หรือศูนย์การเรียนกลุ่มครอบครัว โดยจะมีคณะครอบครัวทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการดูแลบริหารจัดการ “ในรูปแบบไม่แสวงหาผลกำไร”

การจัดการศึกษาโดยมีข้อตกลงร่วมกับทางโรงเรียน

โดยผู้ปกครองมีหน้าที่จัดหลักสูตรการสอน ส่วนในเรื่องการประเมินผลนั้น ผู้ปกครองจะร่วมประเมินกับทางโรงเรียน ทางโรงเรียนจะมีการออกใบรับรอง สนับสนุนสื่อการเรียน การใช้สถานที่ในการทำกิจกรรม หรือให้เด็กโฮมสคูลเข้าร่วมกิจกรรมกับนักเรียนในโรงเรียนในบางกิจกรรม เช่น ทัศนศึกษา เป็นต้น

การเรียนออนไลน์

โดยใช้หลักสูตรโฮมสคูลของต่างประเทศ

โฮมสคูล (Home School) เริ่มอย่างไร?

ก่อนอื่น หากลูกของพ่อแม่อยู่ในระบบการศึกษาของโรงเรียนก็ต้องทำการลาออกก่อน ยกเว้นว่าหากไม่ได้เข้าระบบโรงเรียนอยู่แล้วก็สามารถจัดการศึกษาได้ดังนี้เลยค่ะ

เด็กก่อน 7 ขวบ หรือระดับอนุบาล

ระดับอนุบาลไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ ดังนั้นจะเรียนหรือไม่เรียนก็ได้ ผู้ปกครองจึงต้องตัดสินใจว่าจะจดทะเบียนกับเขตพื้นที่การศึกษาหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่ถ้าวางแผนว่าจะเข้าเรียนต่อในระดับชั้นประถมศึกษาของโรงเรียนก็ควรทำการจดทะเบียนกับเขตฯเอาไว้ เพราะโรงเรียนที่มีการแข่งขันกันสูงก็มักจะขอวุฒิการศึกษา ซึ่งสามารถจดทะเบียนกับสำนักงานเขตการประถมศึกษาในพื้นที่ภูมิลำเนาได้ ไม่มีค่าใช้จ่าย และได้เงินอุดหนุนปีละสองครั้งตั้งแต่อายุ 3 ขวบขึ้นไป (อ.1-3)

ระดับประถมศึกษา

เป็นการศึกษาภาคบังคับ ถ้าไม่จดทะเบียนทางใดทางหนึ่งพ่อแม่มีความผิดตามกฎหมาย สามารถจดทะเบียน ได้ที่สำนักงานเขตการประถมศึกษาในพื้นที่ภูมิลำเนา ไม่มีค่าใช้จ่าย และได้เงินอุดหนุนปีละสองครั้ง ตั้งแต่อายุ 6 ขวบขึ้นไป

ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3

ยังเป็นการศึกษาภาคบังคับ หลักการคล้ายกับระดับประถมศึกษา หากเดิมจดทะเบียนกับสำนักงานเขตการประถมศึกษาอยู่แล้วก็ยังสามารถจดทะเบียนที่เดิมต่อได้ แต่ถ้าเริ่มใหม่ในช่วงนี้ พ่อแม่จะต้องจดทะเบียนกับสำนักงานเขตการมัธยมศึกษา ซึ่งจะอยู่กันคนละที่กับสำนักงานเขตการประถมศึกษา

หลังจากระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3

หากพ้นจากการศึกษาภาคบังคับแล้ว จะเรียนหรือไม่เรียนต่อก็ได้ ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองจะจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนก็ได้เช่นกันค่ะ จากตรงนี้ก็จะมีทางไปที่หลากหลาย

ทั้งนี้ หากต้องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาหรือ เข้ามหาวิทยาลัย แนวทางจะคล้ายๆ ของมัธยมศึกษาตอนต้น มีเส้นทางเพิ่มคือ

สายอาชีวะ

มีบางแห่งอาจไม่ต้องไปเรียนทุกวัน หรืออาจลองปรึกษากับทางสถานศึกษาได้

สอบเทียบวุฒิจากต่างประเทศ

ที่นิยมคือ IGCSE+A-Level หรือ GED ซึ่งจะได้วุฒิการศึกษาเทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่อาจจะไม่สามารถเข้ากระบวนการ Admission เข้ามหาวิทยาลัย หรือต้องเช็คคุณสมบัติของแต่ละมหาวิทยาลัย

ใช้ประสบการณ์การทำงาน

บางมหาวิทยาลัยให้ผู้ที่ไม่มีวุฒิการศึกษาม.6 สามารถใช้ประสบการณ์การทำงานเข้าเรียนได้

ใครสามารถทำโฮมสคูล (Home School) ได้บ้าง?

ทุกครอบครัวสามารถทำโฮมสคูลให้ลูกได้ แต่ก็มีสิ่งที่ควรจะพิจารณาและวางแผนอยู่หลายข้อ เช่น

นอกจากนี้พ่อแม่ยังต้องออกแบบ และจัดทำแผนการจัดการศึกษา โดยอิงจากความสนใจของลูกและบริบทของครอบครัวเป็นหลัก แต่ก็ยังต้องสอดแทรกองค์ความรู้พื้นฐานของแต่ละช่วงวัยเข้าไปด้วย และทำการบันทึกผลลัพธ์ รวมไปถึง “การจัดเก็บแฟ้มผลงานของลูกในระหว่างการเรียน” ในแต่ละเทอม เพื่อส่งมอบให้ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทำการประเมินในแต่ละครั้งด้วยค่ะ

พ่อแม่หลายคนกังวลว่าตัวเองไม่มีสามารถให้ความรู้วิชาต่าง ๆ ลูกได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ของมนุษย์เราคือ “ความต้องการอยากเรียนรู้” ไม่ใช่ความรู้ ดังนั้นหากพ่อแม่สามารถสร้างสิ่งแวดล้อมที่ไม่ไปทำลายความต้องการอยากเรียนรู้ของลูกได้ ลูกก็จะแสดงศักยภาพการตามหาความรู้ต่าง ๆ ที่พวกเขาต้องการให้พ่อแม่ได้เห็น เพราะเด็กจะมีความกระหายอยากในการเรียนรู้อยู่แล้วโดยธรรมชาติ และเด็กแต่ละคนก็มีคนสนใจ ความชอบ และความถนัดที่แตกต่างกันออกไป หากพ่อแม่มองเห็นความหลากหลายแบบนี้ โฮมสคูลอาจเป็นแนวทางการศึกษาหนึ่งที่พ่อแม่จะหยิบยื่นให้กับลูกได้ค่ะ

Exit mobile version