ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว สมุนไพรใช้ต้านโควิด – 19 ได้จริงหรือ?
นับเป็นเรื่องที่ฮือฮากันมาพักใหญ่ ๆ สำหรับสรรพคุณของสมุนไพรรสขม อย่างฟ้าทะลายโจร และกระชายขาว กระชายเหลือง หรือกระชายแกง ที่มักถูกนำมาเป็นส่วนผสมของอาหารประเภทแกงเผ็ด ผัดพริก หรือผสมในเครื่องแกง เช่น แกงส้ม เป็นต้น ว่าสมุนไพรทั้งสองชนิดนี้ มีประสิทธิภาพในการสร้างภูมคุ้มกัน ต้านเชื้อไวรัสโควิด – 19 ได้…จริงหรือ?
สรรพคุณฟ้าทะลายโจร
ฟ้าทะลายโจร หรือชื่ออื่น ๆ ที่เรียกกันในแต่ละท้องถิ่นว่า ฟ้าทะลาย หญ้ากันงู น้ำลายพังพอน ฟ้าสะท้าน เป็นต้น
ฟ้าทะลายโจรเป็นพืชล้มลุก มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบประเทศอินเดีย และศรีลังกา จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับ Acanthaceae มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees นับเป็นสมุนไพรพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่ง ที่หาได้ง่าย ขยายพันธุ์รวดเร็ว ทนร้อน ทนแดดได้ดี มีใบเรียวแหลมเล็ก ในใบมีสารประกอบแลกโตน มีประสิทธิภาพในการลดไข้ แก้อาการเจ็บคอ และยังมีสรรพคุณในการใช้รักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอีกด้วย
- มีสรรพคุณใช้เป็นยาลดไข้ แก้ปวดหัว ตัวร้อน เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
- บรรเทาอาการไอเนื่องจากหวัด ลดอาการอักเสบ เจ็บคอ ต่อมทอลซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ
- ขับเสมหะ ขับน้ำลาย ช่วยให้ชุ่มคอ
- มีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุของโรคระบบทางเดินหายใจ
- รักษาโรคผิวหนัง แผลติดเชื้อ ฝี
- แก้ปวดท้อง ท้องเสีย แก้โรคกระเพาะ ลำไส้อักเสบ
- รสขมของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรช่วยให้เจริญอาหาร
- มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคบางชนิดได้
- บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
อย่างไรก็ตาม แม้ในยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร จะมีสาร แอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด – 19 ในผู้ป่วยซึ่งมีอาการไม่รุนแรง ช่วยในการบรรเทาอาการปอดอักเสบ และสามารถใช้รักษาอาการเบื้องต้นในผู้ติดเชื้อโควิด – 19 ได้ก็จริง แต่การรับประทานยาฟ้าทะลายโจร ไม่สามารถใช้ป้องกันการติดเชื้อโควิด – 19 ได้ นอกจากนี้ การรับประทานยาฟ้าทะลายโจร (ทั้งในรูปยาแคปซูล ยาเม็ด รวมถึงการรับประทานใบ และต้นสดจากธรรมชาติ) ก็ยังมีข้อที่พึงระมัดระวังในการใช้ยาอีกด้วย
ข้อควรระวัง ในการใช้ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร
ฟ้าทะลายโจรแม้ว่าจะเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์มากมายมหาศาล แต่ก็มีข้อควรรู้และควรระวังก่อนการรับประทาน ดังนี้
ชาตามร่างกาย
เนื่องจากสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์เป็นยาเย็น หากใช้ในปริมาณที่มากเกินพอดี อาจส่งผลทำให้เกิดอาการชาตามร่างกาย กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ท้องไส้ปั่นป่วน อาจเกิดอาการท้องเสีย ท้องอืด ท้องเฟ้อ รวมถึงอาจมีผื่นขึ้นตามร่างกายได้
ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในกลุ่มผู้แพ้ยาชนิดนี้
ห้ามใช้ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในกลุ่มสตรีมีครรภ์
รวมไปถึงสตรีให้นมบุตร
ห้ามใช้กับกลุ่มผู้ป่วยโรคตับ และโรคไต
ยกเว้นว่าปรึกษาแพทย์ ก่อนการใช้ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ในกลุ่มผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคตับ และโรคไต
ไม่ควรใช้ฟ้าทะลายโจรกับกลุ่มยาสลายลิ่มเลือด
ระมัดระวังในการใช้ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาสลายลิ่มเลือด หรือยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets) หรือทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ ก่อนการใช้ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรจึงจะเป็นการดีที่สุด
ไม่ควรใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาความดันโลหิตสูง
ควรระวังการใช้ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ร่วมกับยาลดความดันโลหิต หรือผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาลดความดันโลหิตเป็นประจำ เพราะฤทธิ์ยาอาจไปเสริมกัน ทำให้มีอาการหนาวสั่นได้
ไม่ควรรับประทานยาฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาแก้ปวด
ลดไข้ แอสไพริน และ ยาลดความดันโลหิตโคลพิโดเกรล และยาวาร์ฟาริน
หหากมีอาการไม่พึงประสงค์ ควรหยุดยาทันที
เช่น ท้องเสีย ท้องเดิน เกิดอาการผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ เบื่ออาหาร ทานข้าวไม่ได้ ตลอดจนมีอาการใจสั่น หายใจลำบาก ตัวบวม ใบหน้าบวม และมีลมพิษขึ้นตามผิวหนัง หรือสงสัยว่าแพ้ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ให้หยุดยา และพบแพทย์ทันที
ไม่ควรใช้ยานานเกิน 3 วัน
หากใช้ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน แล้วอาการป่วยยังไม่หาย หรือมีอาการรุนแรงระหว่างใช้ยา ให้หยุดยา และควรไปพบแพทย์ทันที
สรรพคุณกระชาย (กระชายขาว กระชายเหลือง)
กระชาย เป็นพืชล้มลุก มีรากเหง้าสั้นอยู่ใต้ดิน สามารถแตกหน่อได้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Boesenbergia rotunda (L.) Mansf. จัดอยู่ในวงศ์ Zingiberaceae มีถิ่นกำเนิดแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ กระชายมีกลิ่นหอม และรสชาติเฉพาะตัว รสเผ็ดร้อน นิยมนำมาปรุงอาหาร หรือใช้เป็นเครื่องแกง ดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
- กระชายช่วยลดอาการจุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- กระชายใช้แก้อาการริดสีดวงทวาร แก้อาการบิดมูกเลือด
- กระชายเป็นยาบำรุงกำลัง เสริมสมรรถภาพทางเพศ
- กระชายจัดเป็นยาอายุวัฒนะอีกชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับโสม
- กระชายมีสรรพคุณในการบำรุงหัวใจ บำรุงกระดูก เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย
- กระชายช่วยปรับสมดุลของความดันโลหิต
- ในรากกระชายจะมีสาร Pinostrobin, Pinocembrin, Panduratin A และ Alpinetin ซึ่งมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียได้หลายชนิด
- สารสกัดคลอโรฟอร์ม และเมทานอลจากรากกระชาย ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ Giardia intestinalis ซึ่งเป็นพยาธิเซลล์เดียวในลำไส้ ที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสีย ในผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
นอกจากนี้ สาร Pandulatin A และ Pinostrobin ในรากกระชาย มีประสิทธิภาพ ช่วยในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสโควิด – 19 โดยจะทำหน้าที่ลดจำนวนเซลล์ที่ติดเชื้อ และลดจำนวนไวรัสที่ผลิตเชื้อโควิด – 19 ลงได้อีกด้วย แต่ถึงกระนั้น การรับประทานกระชายในรูปของยาสมุนไพร ก็ยังมีข้อควรระวังอีกหลายประการเช่นกัน
ข้อควรระวัง ในการใช้ยาสมุนไพรกระชายขาว กระชายเหลือง
อาจเกิดอาการปวดหัว ท้องเสีย
หากรับประทานในปริมาณมาก และติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเกิดอาการปวดหัว เวียนหัว ท้องเสีย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ อาจเกิดภาวะกรดไหลย้อนได้
ห้ามสตรีมีครรภ์รับประทาน
เนื่องจากกระชายมีฤทธิ์ร้อน ดังนั้นห้ามสตรีมีครรภ์รับประทานกระชาย หรือน้ำกระชาย เนื่องจากอาจส่งผลทำให้เกิดการแท้งบุตรได้
ไม่ควรทานกระชายคู่กับกระเทียม
พึงระมัดระวังในการรับประทานกระชาย ร่วมกับกระเทียม เนื่องจากอาจเกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก
เลี่ยงการทานคู่กับอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน
ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานกระชายร่วมกับสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น ขิง พริกไทย กระเทียม หอมแดง เป็นต้น
ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
ควรระมัดระวังการใช้กระชายในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เนื่องจากอาจส่งผลทำให้หัวใจเต้นผิดปกติด็
ห้ามใช้กระชายในผู้ป่วยที่มีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดหัว
ตัวร้อน เพราะอาจส่งผลทำให้อาการทรุดหนักยิ่งขึ้น เนื่องจากกระชายมีฤทธิ์ร้อน
ผู้ป่วยโรคตับ ตับอักเสบ
รวมถึงโรคไต ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาสมุนไพรกระชาย
ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่ทานยาละลายลิ่มเลือด
ระมัดระวังการใช้สมุนไพรกระชายในผู้ป่วยที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด และในผู้ที่มีเกล็ดเลือดต่ำ ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยง หรือปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาสมุนไพรกระชายจึงจะเป็นการดีที่สุด
นอกจากสมุนไพรฟ้าทะลายโจร และสมุนไพรกระชายขาว กระชายเหลืองแล้ว ยังมีสมุนไพรอีกหลายชนิดด้วยกัน ที่มีประสิทธิภาพในการเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ทั้งยังช่วยลดอาการป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ขิง มะขามป้อม สมอไทย สมอพิเภก หูเสือ ตะไคร้ มะขามป้อม พลูคาว และกระเพรา เป็นต้น
อ้างอิง th.wikipedia.org, med.mahidol.ac.th, rspg.or.th, vejthani.com